รมว.สุชาติ ส่ง คณะที่ปรึกษาฯ พบปะให้กำลังใจอาสาสมัครแรงงานเมืองนนท์ผู้นำภารกิจแรงงานสู่ชุมชน

รมว.สุชาติ ส่ง คณะที่ปรึกษาฯ พบปะให้กำลังใจอาสาสมัครแรงงานเมืองนนท์ผู้นำภารกิจแรงงานสู่ชุมชน

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ ดร.จำลอง ช่วยรอด คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายแก่อาสาสมัครแรงงานระดับตำบลจังหวัดนนทบุรี ครั้งที่ 1/2565 โดยมี หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดนนทบุรี พร้อมด้วยอาสาสมัครแรงงานระดับตำบลและเครือข่ายอาสาสมัครแรงงาน จังหวัดนนทบุรี ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมมหาเจษฎาบดินทร์ ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี

ดร.จำลอง กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับการการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่มีอยู่กว่า 22 ล้านคน เพราะแรงงานทุกคนถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เจริญก้าวหน้า และท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ขานรับนโยบายดังกล่าว ในวันนี้จึงได้มอบหมายให้ผมลงพื้นที่มาพบปะพูดคุยให้กำลังใจกับอาสาสมัครแรงงานระดับตำบลและเครือข่ายอาสาสมัครแรงงานจังหวัดนนทบุรี ซึ่งอาสาสมัครแรงงานเหล่านี้เป็นผู้เชื่อมประสานภารกิจของกระทรวงแรงงานไปสู่พื้นที่ เป็นผู้ที่มีความเสียสละอุทิศตนเพื่อส่วนรวม ทำงานใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนในชุมชน ในการนำภารกิจประสานการให้บริการด้านแรงงาน เพื่อให้ประชาชนมีงานทำ มีทักษะฝีมือ มีอาชีพ มีรายได้ ได้รับการคุ้มครองและมีหลักประกันทางสังคมที่ยั่งยืนอีกด้วย

ดร.จำลอง กล่าวต่อว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามผลักดันโครงการเยียวยาต่าง ๆ ให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่มทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งในส่วนของแรงงานนอกระบบได้มีโครงการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 40 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง แท็กซี่ หาบเร่แผงลอย นักร้อง นักดนตรี ผู้ที่ทำงานในกิจการสถานบันเทิงฯ ใน 29 จังหวัด คนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 2 เดือน เป็นเงินเกือบ 60,000 ล้านบาท นอกจากนี้ รัฐบาลยังผลักดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. … ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 9) มีกองทุนเพื่อแรงงานนอกระบบใช้เพื่อเป็นแหล่งเงินกู้มีทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ ซึ่งจะทำให้พี่น้องแรงงานนอกระบบได้รับสวัสดิการและความคุ้มครอง รวมทั้งมีหลักประกันความมั่นคงในชีวิต
มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความเข้มแข็ง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง