ก.อุตสาหกรรม ย้ำ “ดีพร้อม” ตัวช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน

กระทรวงอุตสาหกรรม  ย้ำ “ดีพร้อม” ตัวช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจฐานราก ดึงความโดดเด่นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นมาพัฒนาต่อยอด สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน

“สุริยะ” เปิดเผย การจัดอบรมอาชีพหลายพื้นที่ได้รับความสนใจอย่างมาก อาทิ ศูนย์เรียนรู้บ้านโหนด อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง มีการจัดอบรมตามโครงการพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) โดยมีวิทยากรจากอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร พร้อมทีมงานให้ความรู้การทำน้ำพริกสมุนไพร ผงหมักนุ่มสูตรหม่าล่าแก่ประชาชนในชุมชน รวมถึงการพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ (สาขาอาหาร) การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมที่สามารถนำไปทำเป็นอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้กับชุมชนเศรษฐกิจฐานราก โดยได้รับความสนใจจากประชาชนเข้าร่วมอบรมเป็นจำนวนมาก

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งประชาชนหลายครัวเรือนขาดรายได้ ขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้น เกิดสภาวะแรงงานย้ายกลับถิ่นฐานเป็นจำนวนมาก เกิดการว่างงาน ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ตนจึงได้สั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำโครงการพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นระบบโดยเฉพาะในระดับชุมชน และสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดจากอาชีพดั้งเดิมของครอบครัว ให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นได้อย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการ 7 วิธีปั้นชุมชนดีพร้อม ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ช่วยเหลือชุมชนทั่วไทย

“​สำหรับในพื้นที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 ในช่วงแรกมีประชาชนเข้ารับการอบรมกว่า 350,000 คน ซึ่งทางโครงการเน้นการลดรายจ่าย สร้างรายได้เสริมให้ครัวเรือน เช่น การทำแชมพู สบู่ ใช้เอง ในเฟสที่ 2 จึงมีการเพิ่มเติมอาชีพเสริมใหม่ เช่น การทำน้ำพริกสมุนไพรและผงหมักนุ่มสูตรหม่าล่า โดยมีสถาบันอาหาร ภายใต้การดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ให้ความรู้ เน้นการนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้เป็นหลัก นำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาสูตรใหม่ๆ ให้กับสินค้าที่มีอยู่เดิม ซึ่งจะเป็นการกระจายรายได้ต่อไปยังทุกภาคส่วน ไม่ใช่แค่การพัฒนาสินค้าในรูปแบบอุตสาหกรรมอย่างเดียว แต่ยังต้องทำให้ชุมชนที่มีพื้นฐานเป็นภาคเกษตรกรรมได้รับประโยชน์ไปด้วย นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มองค์ความรู้ด้านการตลาดทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ ให้ทันต่อการค้าขายยุคดิจิทัล เพื่อให้สามารถจำหน่ายสินค้าชุมชนได้ทุกช่องทาง สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน” นายสุริยะกล่าว