เปิดใจ ปลัด มท. มุ่งมั่นแก้ไขปัญหายาบ้า-อาวุธปืนเถื่อนจริงจัง เร่งด่วน ตั้งเป้าประชาชนมีความสุข ประเทศชาติมั่นคง เมืองไทยน่าอยู่

“กระทรวงมหาดไทยจะรวมพลังกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ รวมถึงภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ร่วมกันตัดวงจรยาเสพติดอย่างครบวงจร ทั้งในแง่ของการป้องกัน ปราบปราม และการบำบัดรักษาฟื้นฟู เพื่อคืนคนดีกลับสู่สังคมให้มีผลสำเร็จปรากฏขึ้นเป็นรูปธรรม อย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงความตั้งใจในการผนึกกำลังร่วมกันแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดและปัญหาอาวุธปืนเถื่อนหลังจากเหตุการณ์เศร้าสลดที่ จ.หนองบัวลำภู

ปลัด มท. ระบุว่า ท่านนายกรัฐมนตรีได้ลงมาเป็นประธานติดตามกำกับในเรื่องนี้ ที่ผ่านมามีการพูดคุยกันว่าจุดอ่อนของการแก้ไขปัญหายาเสพติด คือเรื่องของการกำหนดจำนวนเม็ดยาที่ครอบครองและถือว่าจะเป็น “ผู้เสพ” ได้นั้น เดิมกำหนดเอาไว้สูงถึง 15 เม็ด ปัจจุบันได้มีการแก้ไขเมื่อไม่นานมานี้ ที่ประชุมมีมติเห็นว่าไม่ควรเกิน 5 เม็ด ซึ่งจากการหารือกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในเดือนที่ผ่านมา เราได้สั่งการว่าจะต้องมีข้อมูลผู้เสพผู้ค้าครบในทุกจังหวัด คู่ขนานกับการสั่งการเรื่องกระบวรการสมัครใจบำบัด เจุดอ่อนที่ผ่านมาคือสถานที่บำบัดไม่ค่อยมี เราจึงจะจำลองรูปแบบช่วงที่เราทำ CI (ศูนย์พักคอย ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ) คือให้มีสถานที่บำบัดอยู่ประจำตำบล-หมู่บ้าน-อำเภอ เพื่อที่จะให้คนที่หลงผิดติดยาเสพติด ได้มีโอกาสเข้าไปบำบัดรักษาตัว โดยอยู่ในสายตาของญาติมิตรของคนในชุมชน เพื่อที่จะช่วยกันดูแลให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ให้ผ่านการฟื้นฟูบำบัดไปได้

สำหรับประเด็นที่คุยกันในที่ประชุมระดับผู้ว่าราชการจังหวัด ได้กำหนดกันว่าต้องมีระยะเวลา 15 วันอย่างน้อยที่สุด เป็นอย่างต่ำ ที่จะให้ผู้บำบัดที่อยู่ในระดับสีเขียว-สีเหลือง ที่ติดไม่มาก ไม่ถึงขั้นสติฟั่นเฟือน อยู่ในสถานที่บำบัดประจำถิ่น อาจจะมีจำนวนไม่มาก เพียง 5 – 10 คน เพราะบทเรียนที่ผ่านมาการที่ส่งคนไปบำบัดข้ามจังหวัด-อำเภอ เช่นในอดีตไปใช้ค่ายทหารอยู่กันเป็นร้อย ๆ คน ปรากฏว่าทำให้เกิดเครือข่ายเพิ่มเติม จึงเป็นจุดอ่อน ที่ทำให้เรานำมาพิจารณาปรับแก้ไข ว่าจะให้มีการบำบัดอยู่ในประจำท้องถิ่น เหมือนตอนทำ ci ช่วงที่คนเป็นโควิดมากๆ โดยเลือกวัด เลือกหอประชุม สถานที่ในท้องที่ หรือโรงเรียนร้าง ให้เป็นเหมือนที่ ci ของการบำบัดยาเสพติด มีคุณหมอมาตรวจในช่วงแรกเข้า เช็กความดันอุณหภูมิลักษณะอาการทางกายและจิตใจ มีการจัดยาให้ ส่วนอาสาสมัครของฝ่ายปกครองร่วมกับกำนันผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน อพปร.หมู่บ้าน ร่วมกับนายกอบต. ร่วมกับอสม. และคุณหมอประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ. สต.) ผนึกกำลังตำรวจทหารในการช่วยกันดูแล มีการฝึกฝนออกกำลังกายมีการกินอยู่หลับนอนที่ถูกต้องและตรงเวลา

จุดเริ่มต้นการแก้ไขปัญหาในแนวทางนี้ เนื่องจากเราถอดบทเรียนจากอดีตที่ผ่านมา ที่พบช่องโหว่ที่อาจจะเกิดจากการที่คุณหมอจ่ายยาแล้วก็ให้ผู้บำบัดกลับบ้านไป ช่วงแรกๆ อาจจะกินยาตามที่สั่งได้ แต่วันหลังๆ ไม่ได้ทำตามนั้น จนทำให้กลับไปสู่วงจร จนติดใหม่ เราจึงเสนอรัฐบาลว่าควรดำเนินการตามแผนนี้ ไม่เช่นนั้นปัญหายาเสพติดจะยิ่งลุกลามบานปลาย จนนำไปสู่การแก้ไขได้ยากขึ้น แล้วทำให้ผู้เสพมีอาการทางจิต มีความคุ้มคลั่ง เป็นภัยอันตรายต่อสังคมโดยรวม อย่างไม่เลือกหน้า แทนที่เขาจะสามารถถูกพัฒนา สามารถคืนคนดีกลับมาได้ แต่กลับเป็นคนคุ้มคลั่งเราต้องรีบดึงเขากลับมา กลับมาเป็นคนดีของครอบครัวของสังคม

นายสุทธิพงษ์ ระบุว่า สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปในหน้าที่ของเราตามที่กฎหมายใหม่ได้กำหนด โดยทาง ปปส. และกระทรวงยุติธรรม ได้กำหนดไว้ว่าการฟื้นฟู เนื่องจากประเด็นการแก้ไขปัญหายาเสพติด เราต้องแยก 2 ส่วน คือการบำบัด กับ การฟื้นฟู การบำบัดก็คือการรักษา การฟื้นฟูคือการสร้างกำลังใจ สร้างอาชีพ ทำให้เขามีกิจกรรม มีความเข้มแข็งทางจิตใจ ทางอารมณ์ได้ ในส่วนนี้เราสามารถทำได้ พร้อมกับการปลูกฝังเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ต้องฝากครูและสถานศึกษา ผมจะขอตั้งปณิธานว่าเราจะมุ่งมั่นทำอย่างเต็มที่อย่างจริงจังและเร่งด่วน ไม่ให้คนเขามาปรามาสเราได้

ส่วนประเด็นการครอบครองอาวุธปืน ทางกระทรวงมหาดไทยโดย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านได้เสนอกฎหมายเสมือนกับการนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ครอบครองอาวุธปืนเถื่อนอยู่ให้สามารถส่งคืนได้ และปืนไหนที่ไม่มีประวัติอาชญากรรมและเป็นปืนที่สามารถอนุญาตได้ก็ดำเนินการออกใบได้ แต่ปืนกระบอกไหนอนุญาตไม่ได้ก็จะนำไปทำลาย เราได้มีการเสนอร่างไปแล้วรอทาง ครม. และเสนอสู่สภาต่อไป ส่วนตัวผมเชื่อว่าว่าทุกคนจะยกมือให้ผ่าน ใน 3 วาระรวด เพราะว่าประเด็นนี้จะเป็นการช่วยตัดวงจรของการก่ออาชญากรรม ขณะเดียวกันจะเป็นการสร้างความมั่นใจว่าในสังคมเราจะมีปืนเถื่อนน้อยลง

สำหรับกระบวนการทางกฎหมายเราจะขอแก้โดยมีการเพิ่มมาตราเดียวในร่างดังกล่าว โดยเราจะขอเวลาให้ชาวบ้านนำอาวุธปืนมาส่งคืน ในช่วงระยะเวลา 6 เดือน ส่วนปืนถูกกฎหมาย ทางกระทรวงมหาดไทยโดยผมได้หารือกับทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่าเราจะมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกัน เพราะว่าฐานข้อมูลปืนเดิมอยู่ที่กรมการปกครองอยู่แล้ว เราจะมีการเชื่อมโยงกัน เมื่อเวลาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมคนคุ้มคลั่งเมาอาละวาดหรือทำผิดกฎหมายทะเลาะวิวาท เราจะได้ตรวจสอบใบอนุญาต รวมถึงการเพิกถอนใบอนุญาต ไปจนถึงเรียกคืนอาวุธปืนได้ทันที

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีแนวคิดในการจะเรียกเจ้าของอาวุธปืนมารายงานตัว เพื่อตรวจสุขภาพจิต สม่ำเสมอ เช่น อาจจะเป็นระยะเวลา 2 ปี 1 ครั้ง หรือ 5 ปี 1 ครั้ง โดยทางกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงสาธารณสุขได้นำการบ้านนี้ไปหารือกันอีกครั้งหนึ่งว่าจะกำหนดขอบเขตเช่นไร

นอกจากนี้ภาพรวมที่กระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำ คือการทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานท้องถิ่น ตั้งแต่ผู้บริหารไปจนถึงพนักงานทั้งหลายมีโอกาสที่จะเสนอความคิดเห็นได้ ผมเองก็ได้คุยกับนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย, นายกสมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมนายกอบต.แห่งประเทศไทย 3 องค์กรใหญ่ ที่เป็นเสาหลักในรับฟังประชาชน ทำ public hearing ส่งต่อข้อมูลมาให้กระทรวงมหาดไทย นำมาประมวลและพิจารณาดำเนินการต่อ เพื่อเป้าหมายทำให้การทำงานของท้องถิ่นทั้ง 7, 8 5 0 แห่งทั่วประเทศ มีความคล่องตัว เกิดขึ้นได้

นายสุทธิพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่าที่ต้องเน้นย้ำความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะจากกรณีที่หนองบัวลำภู เป็นตัวอย่างชัดว่าระเบียบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่าด้วยการช่วยเหลือผู้เดือดร้อน-ผู้ที่ถูกกระทำ ไม่สามารถช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขข้อบังคับต่างๆ ทำให้เราต้องดำเนินการแก้ไขในส่วนนี้อย่างทันที ผมจึงคิดว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่หน่วยงานท้องถิ่นอาจจะดำเนินการได้ไม่คล่องตัวจึงจำเป็นต้องหารือกันแล้วเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ควบคู่กันไป โดยทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชน ในโอกาสที่กระทรวงมหาดไทยก้าวเข้าสู่ปีที่ 131 จะเป็นปีที่เราจะพยายามให้ทุกส่วนขับเคลื่อนงานตามภารกิจหน้าที่ให้หนักหน่วงแข่งขันยิ่งขึ้น Change for Good เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความสุขให้ประเทศชาติเรามีความมั่นคงและเมืองไทยเราเป็นเมืองที่น่าอยู่