เปิดวิสัยทัศน์ ‘อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์’ อธิบดี พช. คนใหม่ เน้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างชุมชนเข้มแข็งยั่งยืน

หากจะให้บอกว่าหน่วยงานไหนที่ทำงานใกล้ชิดและคลุกคลีกับชุมชนมากที่สุด อันดับหนึ่งต้องยกให้ กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย ไปแบบไม่ลังเล เพราะเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาชุมชนตั้งแต่ระดับฐานราก ด้วยการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยมีพัฒนากรเป็นข้าราชการหลัก ที่ลงไปทำงานร่วมกับประชาชนในหมู่บ้าน เพื่อพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน

หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติ/เห็นชอบแต่งตั้ง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คนที่ 31 จึงเป็นโอกาสอันดีที่ได้สนทนากับอธิบดี พช. คนใหม่หมาด ในประเด็นการขับเคลื่อนภารกิจของ พช. ในอีก 5 ปีต่อจากนี้

ในฐานะผู้กุมบังเหียนคนใหม่ของ พช. นายอรรษิษฐ์กล่าวถึงทิศทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกรมในปี 2566 ว่า นอกจากสานต่อการทำงานเดิมแล้ว ในปี 2566-2570 พช. ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการดำเนินงานไว้ว่า ‘เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง’ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ของรัฐบาล หรือแม้แต่เแผนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ มีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนบริหารจัดการตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขเพิ่มขึ้น “แม้วันนี้ไทยจะเจริญและพัฒนาขึ้นมาก แต่ความเหลื่อมล้ำในสังคมก็ยังมีให้เห็น มีหลายคนที่ยังเข้าไม่ถึงการศึกษา รายได้ต่ำ ไม่มีที่อยู่อาศัย รวมถึงไม่สามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐได้ ฉะนั้นหน้าที่ของเราซึ่งถือว่าเป็นกรมสำคัญที่มีคนทำงานในระดับภูมิภาค ตั้งแต่ ข้าราชการจังหวัด ข้าราชการอำเภอ รวมถึง ‘พัฒนากร’ ที่เป็นข้าราชการที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ จึงต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้หมดไปโดยเร็ว

การขับเคลื่อนการดำเนินงานตำบลเข้มแข็งตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของ พช. ภายใต้การนำของอธิบดีคนใหม่ จะมุ่งเน้นไปที่ 4 ภารกิจหลัก ดังนี้

  1. เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ด้วยการพัฒนาผู้นำกลุ่มองค์กรและเครือข่ายเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด พัฒนาต่อยอดโครงการโคก หนอง นา โมเดล ยกระดับศูนย์เรียนรู้ชุมชน ตลอดจนสร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการส่งเสริมการปลูกผัก 10 ชนิด ใน 12.9 ล้านครัวเรือน และในอนาคตก็จะส่งเสริมให้ชุมชนเลี้ยงไก่ไข่ในทุกๆ บ้านด้วยเช่นกัน
  2. ส่งเสริมและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง โดยการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพผ่านโครงการการดำเนินงานประชารัฐรักสามัคคี (SE) พช. ยังส่งเสริมงาน OTOP ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเชิงสร้างสรรค์ ตลอดจนจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ให้ชุมชนรู้จักบริหารจัดการทางการเงินของครอบครัวและชุมชน

“นอกจากนี้ พช. และสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ยังร่วมสนองพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ไปพัฒนาและส่งเสริม ‘ดอนกอยโมเดล’ ชุมชนในอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ให้เป็นต้นแบบการพัฒนาผ้าย้อมครามของประเทศ” นายอรรษิษฐ์ เผย

และภายในงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่กำลังจะเกิดขึ้น พช. ได้ยกบรรยากาศการส่งเสริมพัฒนาที่ยั่งยืนของดอนกอยโมเดล มาจัดแสดงเป็นนิทรรศการให้ทุกคนได้ชมกันอย่างใกล้ชิด รวมทั้งขนเอาเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับที่ผลิตจากผ้าในโครงการมาจำหน่ายในงานด้วย

  1. สร้างความร่วมมือและส่งเสริมบทบาทเครือข่าย ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมเครือข่ายพื้นที่ต้นแบบโคก หนอง นา โมเดล รวมไปถึงการบูรณาการการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ได้แก่ ภาครัฐ ภาคประชาชน ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน
  2. พัฒนาองค์กรให้ทันสมัย มีสมรรถนะและมีธรรมาภิบาล บุคลากรต้องมีอุดมการณ์และเชี่ยวชาญในงานพัฒนาชุมชน ด้วยการนำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาพัฒนากระบวนการทำงาน พัฒนาศักยภาพบุคลากรและสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมทั้งปรับโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสมมีประสิทธิภาพขึ้น

“เราต้องพัฒนาคนในองค์กรให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่ตลอดเวลา รู้หน้าที่ของตนเอง ตลอดจนรู้จักบริบทของชุมชนที่อาศัยอยู่ว่าเป็นอย่างไร มีจุดเด่นตรงไหน ในอนาคตอันใกล้ พช. จะแต่งตั้งพัฒนากรใหม่อีก 360 คน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนต่อไป”

นอกจากมิติการพัฒนาและส่งเสริมชุมชนให้เข้มแข็งแล้ว พช. ยังให้ความสำคัญกับมิติด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการขับเคลื่อนกิจกรรมถังขยะเปียกลดภาวะโลกร้อน ตลอดจนกิจกรรมปราศจากโฟม No Foam โครงการรณรงค์ ลด ละ เลิก การใช้โฟมบรรจุอาหาร เป็นต้น

งานจะบรรลุได้ หัวใจสำคัญคือความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพราะไม่มีใครทำงานตัวคนเดียวได้หากอยากประสบความสำเร็จและยั่งยืน” อธิบดี พช. ย้ำปิดท้าย