“เอ็นไอเอ” เดินหน้าเพิ่มความเชื่อมั่นแบรนด์นวัตกรรมแพทย์เมดอินไทยแลนด์ ชูโมเดล “ดีพเทคย่านนวัตกรรม” ตอกย้ำเมืองนวัตกรรมการแพทย์ระดับโลก 

·   เอ็นไอเอตั้งเป้าลดนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ พร้อมรุกปั้นย่านโยธี – สวนดอกสู่หมุดหมายสุขภาพสำคัญของเอเชีย

กรุงเทพฯ 19 กันยายน 2565 – สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เผยประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ (Medical Hub) ที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาใช้บริการ เนื่องด้วยมีความพร้อมทั้งด้านของบุคลากรและการบริการโดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ จนได้รับการจัดอันดับดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพ (Global Health Security Index: GHS) ติดท้อป 5 ของโลกจาก 195 ประเทศ แต่ปัจจุบันยังคงต้องนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์และเทคโนโลยีจากต่างประเทศสูงถึงปีละ 6 หมื่นล้านบาท ดังนั้น NIA จึงตั้งเป้ายกระดับ MedTech หรือนวัตกรรมการแพทย์ผ่านกลุ่มเทคโนโลยีเชิงลึก เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมการแพทย์ฝีมือคนไทย ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสการดูแลคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของประชาชนแล้ว ยังช่วยลดการนำเข้านวัตกรรมการแพทย์จากต่างประเทศ โดยปักหมุด 2 ย่านนวัตกรรมสู่พื้นที่สำคัญของเอเชีย ได้แก่ ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่ชาวต่างชาติจากทั่วโลกอยากเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ เพราะมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรที่เชี่ยวชาญระดับโลก การบริการที่น่าประทับใจ และการมีโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำหลายแห่ง ทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการแพทย์ ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก จนได้รับการจัดอันดับดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพให้เป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางสุขภาพสูงที่สุดติดอันดับที่ 5 ของโลกจาก 195 ประเทศ แต่ประเทศไทยยังต้องนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์และเทคโนโลยีจากต่างประเทศมูลค่าสูงถึง 6 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ที่อุปกรณ์ทางการแพทย์ทั่วโลกเริ่มขาดแคลน และความซับซ้อนของโรคที่เพิ่มมากขึ้น โจทย์นี้จึงกลายเป็นอีกความท้าทายที่ประเทศไทยต้องเผชิญ

“NIA มองว่า นวัตกรรมการแพทย์ หรือ MedTech จะช่วยลดช่องว่างการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ ซึ่งคนทั่วไปอาจจะเข้าใจว่าหมายถึงเครื่องมือแพทย์อย่างเดียว แต่แท้จริงแล้วมีความหลากหลายและกว้างมากกว่านั้น MedTech เป็นการประยุกต์นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์ ตั้งแต่กระบวนการตรวจวินิจฉัยโรค รักษา ติดตามอาการ ฟื้นฟู ประเมินสุขภาวะทางร่างกายและป้องกันไม่ให้เกิดโรค อย่างไรก็ตามในการพัฒนาอุตสาหกรรม MedTech ในระยะแรกจะเน้นเรื่องทดแทนการนำเข้าเป็นหลัก อุปกรณ์ตัวไหนที่มีการนำเข้าจำนวนมาก เช่น เพลทสกรูสำหรับใช้ดามกระดูก วัสดุปิดแผล ซึ่งมีเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน”

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเทรนด์นวัตกรรมการแพทย์เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด NIA จึงเร่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพไทยนำเทคโนโลยีเชิงลึกเข้ามาประยุกต์ใช้กับนวัตกรรมการแพทย์มากขึ้น เช่น เทคโนโลยี AI สำหรับคัดกรองโรค การถ่ายเอ็กซเรย์ เทคโนโลยีบล็อคเชนสำหรับแก้ปัญหาเวชระเบียนผู้ป่วยและป้องกันความลับไม่ให้รั่วไหล เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติสำหรับสร้างอวัยวะเทียม เช่น หูเทียม ผิวหนังเทียม วัสดุดามกระดูก ไปจนถึงหุ่นยนต์ที่ช่วยในการผ่าตัด และนวัตกรรมกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพที่เกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีน ฯลฯ นวัตกรรมการแพทย์ในยุคนี้จึงเป็นมากกว่าการรักษา เพราะมันคือเครื่องมือที่เข้ามาอยู่ในทุกกระบวนการของการดูแลสุขภาพ เทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนจะทำให้เกิดการลอกเลียนแบบได้ยากขึ้น ส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาด มีผู้เล่นหน้าใหม่อยู่ตลอดเวลา และเกิดนวัตกรรมในแนวทางใหม่ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการดูแลสุขภาพของผู้คน

นอกจากเรื่องเทคโนโลยีที่ต้องแข่งขันและพัฒนา ความเข้าใจในกฎระเบียบ การทดสอบ มาตรฐาน และการหาตลาดรองรับก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เรียกได้ว่าเป็นความท้าทายที่ NIA ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนวัตกรรมการแพทย์ฝีมือคนไทย ทั้งนี้ ตลาดสำคัญของเครื่องมือแพทย์คือ ตลาดภาครัฐ ถ้าสามารถทำให้สินค้า MedTech เข้าไปอยู่ในบัญชีจัดซื้อจัดจ้าง สิทธิการเบิกจ่ายบัตรทอง 30 บาท และสิทธิข้าราชการได้ กลไกทางการตลาดจะเติบโตได้เร็วขึ้น เมื่อมีตลาดรองรับ ผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพหน้าใหม่ ก็กล้าที่จะก้าวเข้ามาในวงการอุตสาหกรรมการแพทย์มากขึ้น ช่วยให้คนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัยได้มากขึ้นในราคาที่ถูกลง แถมยังช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกด้วย

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมการแพทย์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาครัฐคาดหวังว่าจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเพื่ออนาคต หรือ Thailand 4.0 ดังนั้น NIA จึงนำร่องพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่โดยอาศัยอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของบริบทพื้นที่ผ่านความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และชุมชน เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการดึงดูดเงินลงทุนให้สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพจนเป็นที่น่าจับตาในภูมิภาค ที่แรก ได้แก่ ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (ถนนโยธี กรุงเทพมหานคร) ซึ่งมีอัตลักษณ์สำคัญของสภาพพื้นที่ที่มีหนาแน่นของโรงเรียนแพทย์และสถานพยาบาลกระจุกตัวมากที่สุดย่านหนึ่งของโลก จึงเหมาะกับการพัฒนาระบบนิเวศให้เอื้อต่อการศึกษาวิจัยและทดลองนวัตกรรมการแพทย์ในประเทศ รวมถึงเชื่อมโยงทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการนวัตกรรมและนักลงทุนให้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของเอเชีย ซึ่งเกิดการพัฒนานวัตกรรมมากกว่า 150 โครงการ และมีเม็ดเงินการลงทุนที่หมุนเวียนภายในย่านกว่า 300 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้ขยายเครือข่ายไปยัง ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่) ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น Sandbox หรือ Playground ให้กับผู้ประกอบการนวัตกรรมได้มาเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งในมิติของงานวิจัยและพัฒนา การวิจัยทางคลินิก การพัฒนานวัตกรรมให้สอดคล้องกับมาตรฐานการผลิต จนสามารถนำมาใช้จริงกับสถานพยาบาลได้” ดร.พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้าย