ฟรีสแลนด์คัมพิน่า ประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันโภชนาการ มหิดล เผยผลสำรวจสุขภาพเด็กไทยในยุคโควิด – 19 แบบเจาะลึก SEANUTS II ชี้เด็กอายุ 6 เดือน – 12 ปี ยังประสบภาวะทุพโภชนาการ น้ำหนักเกิน ขณะที่กิจกรรมกลางแจ้งลดลง พร้อมผนึกกำลังส่งต่อข้อมูลสู่แผนโภชนาการระดับชาติ

กรุงเทพฯ 29 กันยายน 2565บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยผลสำรวจภาวะโภชนาการในเด็กแบบเจาะลึก จากโครงการ SEANUTS II ชี้เด็กไทยมีประเด็นทางสุขภาพที่ยังน่าเป็นห่วง ได้แก่ น้ำหนักเกินเกณฑ์และอ้วน ซึ่งพบในเด็กอายุ 7 – 12 ปี มากกว่า 30% ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีเผชิญกับภาวะโลหิตจางที่สูงถึง 50% การบริโภคอาหารและปริมาณพลังงานสารอาหารที่ได้รับในแต่ละวันที่ไม่สมดุล พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงจากการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เช่น กิจกรรมกลางแจ้งที่ลดลงถึง 32%  เนื่องจากเด็กใช้ชีวิตกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น โดยทั้งสองหน่วยงานตั้งเป้าที่จะเผยแพร่ให้เป็นความรู้แก่ผู้ปกครอง บุคคลทั่วไป พร้อมส่งต่อข้อมูลสำคัญไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดเป็นแผนส่งเสริมสุขภาพและโภชนาการที่จำเป็น รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านสุขภาพของเด็กในอนาคต เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการเด็กไทยแบบบูรณาการ  

รศ.ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการที่ดี ส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากรในประเทศ ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาด้านอื่นๆ ในฐานะหน่วยงานวิชาการที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งทางด้านอาหารและโภชนาการของชาติ จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำสำรวจภายใต้โครงการ SEANUTS (South East Asian Nutrition Surveys) เพื่อให้เข้าใจถึงข้อมูลเชิงลึก ที่เป็นปัจจัยอันส่งผลต่อภาวะโภชนาการของเด็กในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคอาหาร หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเด็กที่เกี่ยวข้องต่อสุขภาพ โดยทางสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินร่วมกับทางสถาบันวิจัยฟรีสแลนด์คัมพิน่าทำสำรวจเป็นครั้งที่สองแล้ว หลังจากที่ได้ดำเนินการครั้งแรกไปเมื่อปี พ.ศ. 25532554 โดยการสำรวจครั้งล่าสุดในปีพ.ศ. 2562 – 2564 ที่ผ่านมา มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 มาเป็นปัจจัยเพิ่มเติมที่น่าสนใจ 

รศ.ดร.นิภา โรจน์รุ่งวศินกุล ที่ปรึกษาสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการ SEANUTS II ของประเทศไทย เปิดเผยว่า  ภาวะทุพโภชนาการในเด็กยังคงเป็นปัญหาหลักในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก  รวมถึงประเทศไทย ซึ่งสะท้อนถึงคุณภาพของอาหารและโภชนาการเด็กที่ยังต้องปรับปรุง โดยปัจจุบันเด็กไทยช่วงอายุ 6 เดือน -12 ปี ทั้งในเขตเมืองและพื้นที่ห่างไกล ยังคงเผชิญกับภาวะทุพโภชนาการหลากหลายรูปแบบ และหลายครั้งพบว่า ในหนึ่งครอบครัวมีสมาชิกที่มีภาวะทุพโภชนาการหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นการขาดสารอาหาร หรือมีอัตราน้ำหนักเกินและโรคอ้วน โดยเฉพาะในเด็กอายุ 7-12 ปี ที่มีมากกว่า 30% ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน ฯลฯ และยังพบว่า มีเด็กที่อายุ 6 เดือน – 12 ปี มากกว่า 70% ได้รับแคลเซียมไม่ถึงเกณฑ์ที่แนะนำสำหรับการบริโภคต่อวัน นอกจากนี้ จากการสำรวจพบภาวะโลหิตจางในเด็กกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 4 ปี ของไทยที่สูงถึง 40% ซึ่งมากกว่าประเทศอื่นในกลุ่มดำเนินการสำรวจ  โดยภาวะดังกล่าวอาจส่งผลต่อพัฒนาการด้านสติปัญญา การเจริญเติบโตของร่างกายและประสิทธิภาพในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ ขณะที่สัญญาณเบื้องต้นของปัญหาทุพโภชนาการอย่างภาวะเตี้ยแคระแกร็นในเด็กอายุ 0 – 5 ปี พบว่าลดลงจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาซึ่งในอดีตอยู่ที่ 10.6% แต่ปัจจุบันพบราว 4.6% และน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศที่ร่วมกันจัดทำการสำรวจ SEANUTS II”

 

รศ.ดร.นิภา ขยายความต่อถึงพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาวะโภชนาการและสุขภาพของเด็กว่า ทางทีมวิจัยได้มีการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารเช้า เป็นสัญญาณที่ดีว่าเด็กไทยส่วนใหญ่บริโภคมื้อเช้า และมากกว่า 55% รับประทานไข่ไก่เป็นประจำ โดยมากกว่าหรือเท่ากับ 4 ฟอง / สัปดาห์ ขณะที่ 88.1% ดื่มนมมากกว่า 4 แก้ว / สัปดาห์  และเมื่อทำการสำรวจลงลึกถึงคุณภาพของสารอาหาร พบว่าเด็กที่ได้รับแคลอรี่ที่เพียงพอในมื้อเช้า มีสัดส่วนของการขาดสารอาหาร ทั้งในกลุ่มสารอาหารหลักและกลุ่มสารรองที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น โปรตีน ธาตุเหล็ก สังกะสี วิตามิน A, C, D, B1, B2, B3 และ B12 ที่ลดลง (ขาดน้อยลง) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับแคลอรี่จากมื้อเช้าต่ำ ดังนั้นการบริโภคอาหารเช้าที่พอเพียงจะส่งผลต่อการได้รับสารอาหารที่พอเพียงตลอดทั้งวัน

 

เมื่อเทียบกับในอดีตยังพบว่าการบริโภคอาหารแปรรูป เครื่องดื่มรสหวาน และของว่างไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ คือ การเคลื่อนไหวร่างกายกลางแจ้งที่ลดลงอยู่ที่ 32% ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยภาพรวมอยู่ที่ 39% ในเด็กอายุ 10-12 ปี จะมีการเคลื่อนไหวร่างกายต่ำกว่าเกณฑ์ สวนทางกับการเพิ่มขึ้นของการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาวะโดยรวมของเด็ก หรือนำไปสู่ภาวะการขาดวิตามินดีได้

ดร. โอฬาร โชว์วิวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการนำผลสำรวจมาต่อยอด ว่า จากผลสำรวจ SEANUTS II มีหลายส่วนที่น่าสนใจ แม้สถานการณ์โดยรวม ทั้งในเรื่องการบริโภคอาหารเช้า หรือ ทุพโภชนาการลักษณะขาด (ภาวะแคระแกร็น) ประเทศไทยจะอยู่ในระดับที่ดีกว่าประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียน แต่ยังมีอีกหลายส่วนที่เราสามารถปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นได้ อาทิ การได้รับปริมาณแคลเซียมที่ไม่เพียงพอ ทั้งๆ ที่เด็กไทยดื่มนมเป็นประจำ อย่างที่เราทราบกันดีว่า ปริมาณการดื่มนมที่แนะนำสำหรับเด็ก คือ 2-3 แก้ว / วัน  แม้เด็กจะดื่มมากกว่า 4 แก้ว / สัปดาห์จึงยังอาจไม่เพียงพอ และสิ่งนี้ยังทำให้ผู้ผลิตต้องหันกลับมาดูคุณภาพและสารอาหารในนมพร้อมดื่ม เมื่อนมเป็นอาหารหลักที่เด็กรับประทาน ขณะที่ภาพรวมของอาเซียนทุพโภชนาการ (ทุกลักษณะ) ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่มีร่วมกันในทุกประเทศ

 

การสำรวจภาวะโภชนาการครั้งล่าสุดของโครงการ SEANUTS มุ่งเน้นการศึกษาประเด็นต่างๆ อย่างครอบคลุม รวมถึงพฤติกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นประโยชน์แก่สังคมโดยรวมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการมีข้อมูลสำคัญสำหรับใช้เป็นแนวทางเพื่อกำหนดนโยบาย ไปจนถึงการออกแบบกิจกรรมที่สนับสนุนการเจริญเติบโต การพัฒนาด้านโภชนาการและสุขภาพของเด็ก นอกจากนี้ ฟรีสแลนด์คัมพิน่า ประเทศไทย ในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมนมของประเทศ ยังเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการนำข้อมูลทางวิชาการนี้ มาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นมที่ตอบโจทย์ความต้องการของด้านโภชนาการของเด็กไทย อย่างเช่น การเพิ่มเติมโฟเลตและธาตุเหล็กลงไปในนมพร้อมดื่ม เพื่อช่วยลดปัญหาภาวะโลหิตจางในเด็ก เป็นต้น พร้อมมุ่งหวังถึงการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาภาวะโภชนาการและส่งมอบสุขภาพที่ดีให้แก่คนไทยได้  โดยล่าสุดบริษัทฯ ได้เดินหน้าต่อในโครงการเพื่อสังคม “โฟร์โมสต์ส่งต่อรอยยิ้มให้เด็กไทยปีที่ 2” ที่เป็นการบริจาคนมยูเอชทีโฟร์โมสต์ 1,000,000 กล่อง ให้แก่เด็กและครอบครัวกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจทั่วประเทศ ผ่านมูลนิธิและหน่วยงานเครือข่ายของพาร์ทเนอร์หลักอย่างมูลนิธิกระจกเงา เป็นการอุดช่องว่างให้กับเด็กไทยผู้ยากไร้ ลดผลกระทบในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นจากการขาดโอกาสทางโภชนาการในวัยเด็ก สอดคล้องกับพันธกิจขององค์กรในการส่งมอบโภชนาการที่ดียิ่งขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นของทุกคนในสังคม

เกี่ยวกับ โครงการสำรวจด้านโภชนาการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: South East Asian Nutrition Surveys (SEANUTS)

โครงการสำรวจภาวะโภชนาการในเด็กไทยครั้งที่ 2 (South East Asian Nutrition Surveys: SEANUTS II) เป็นการศึกษาและเก็บข้อมูล จาก 4 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กจำนวน 13,933 คน มีอายุระหว่าง 6 เดือน – 12 ปี โดยคัดเลือกจากโรงเรียนในเมืองและชนบท สาธารณสุขชุมชน และหมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่เมืองและต่างจังหวัด ดำเนินการศึกษาออกแบบการวิจัยโดยนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญและทีมงานจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยชั้นนำ รวมทั้งมีทีมภาคสนามในพื้นที่ ต่าง ๆ ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 – 2564

โครงการ SEANUTS II ได้รับการสนับสนุนจากฟรีสแลนด์คัมพิน่า โดยทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย ประเทศอินโดนีเซีย มหาวิทยาลัยเคบังซาน มาเลเซีย ประเทศมาเลเซีย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ประเทศไทย และ สถาบันโภชนาการแห่งชาติ ประเทศเวียดนาม ทั้งนี้ โครงการฯ ได้เริ่มการศึกษาวิจัยครั้งแรกเมื่อปี  2553- 2554 (SEANUTS I)

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมของผลวิจัย SEANUTS II สามารถดูรายละเอียดได้ที่: SEANUTS II conference – watch the first recordings – FrieslandCampina InstituteFrieslandCampina Institute

 

เกี่ยวกับ ฟรีสแลนด์คัมพิน่า และ ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

ฟรีสแลนด์คัมพิน่า เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากน้ำนมโคที่ใหญ่ที่สุดของโลก และดำเนินงานมากว่า 150 ปี มีการแปรรูปนมจากฟาร์มโคนมเป็นผลิตภัณฑ์นมและส่วนผสมต่าง ๆ และกระจายผลิตภัณฑ์ซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีคุณค่าไปยังผู้บริโภคหลายร้อยล้านคนทั่วโลก  โดยตลอดระยะเวลาได้ให้บริการผลิตภัณฑ์นมแก่ผู้บริโภคหลากหลายประเภท เช่น นม โยเกิร์ต นมข้น ชีส เนย และครีม พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้กับผู้บริโภคทุกกลุ่ม อาทิ เด็ก ผู้สูงอายุ นักกีฬา และกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย และยังเป็นผู้ให้บริการส่วนประกอบคุณภาพสูงสำหรับผู้ผลิตอาหารและบริษัทด้านเวชภัณฑ์ในระดับนานาชาติ

ในปี 2564 สมาชิกฟาร์มโคนม 10,564 แห่ง ทั้งในเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และเบลเยียมได้จัดหานมเกือบ 1 หมื่นล้านกิโลกรัมสำหรับการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นม และปัจจุบันฟรีสแลนด์คัมพิน่ามีการประกอบธุรกิจใน 32 ประเทศและส่งออกผลิตภัฑ์ไปยังกว่า 100 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานโดยเฉลี่ย 22,961 คน

ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมเป็นสมาชิกและเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจากเกษตรกรโคนมชาวเนเธอร์แลนด์สู่เกษตรกรโคนมชาวไทยมาอย่างยาวนานกว่า 65 ปี  เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากนม ภายใต้ตราสินค้าโฟร์โมสต์ ฟอลคอน เรือใบ มายบอย และ เดบิค ในประเทศไทย โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ และมีโรงงาน ที่ดูแลการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในประเทศไทย รวมถึงการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มอินโดจีน

เกี่ยวกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

สถาบันโภชนาการ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2520 เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งด้านอาหารและโภชนาการของชาติ ภายใต้กำกับของมหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีความชำนาญ ในด้านสาธารณสุขและการแพทย์ นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเป็นแหล่งรวมของผู้ทรงคุณวุฒิ ในด้านอาหารและโภชนาการ
นับตั้งแต่ก่อตั้งจนกระทั่งปัจจุบัน สถาบันโภชนาการ ได้ดำเนินการในด้านงานวิจัย ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการ และระดับชุมชน  รวมถึงได้จัดให้มีการเรียนการสอน การฝึกอบรมทั้งในระดับประเทศ และนานาชาติ อีกทั้งยังให้บริการทางด้านเทคนิค โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ สถาบันจะดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อส่งเสริมงานอาหารและโภชนาการของประเทศ ด้วยความมุ่งมั่นให้ประชาชนมีสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อสามารถพัฒนาประเทศให้เจริญรุดหน้า และเผื่อแผ่ความรู้ไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย
โดยมีการดำเนินงานภายใต้ วิสัยทัศน์ (Vision) เป็นสถาบันวิจัยด้านอาหารและโภชนาการชั้นนำในระดับสากล ภายในปี พ.ศ.2573 และ พันธกิจ (Missions) สร้างผลงานวิจัยสหวิทยาการและนวัตกรรมด้านอาหารและโภชนาการ ที่ส่งเสริมความมั่นคงของระบบอาหาร และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อสุขภาวะของมนุษยชาติ สร้างและพัฒนาหลักสูตรที่มีคุณภาพระดับสากลและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อสร้างทรัพยากรบุคคลด้านอาหารและโภชนการที่มีจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพและศักยภาพด้านการวิจัย เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม และ ให้บริการวิชาการด้านอาหารและโภชนาการที่เป็นเอกลักษณ์ โดยมีพื้นฐานจากประสบการณ์การวิจัย เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการที่มุ่งตอบสนองความต้องการของประเทศและนานาชาติ