สกสว. เตรียมประสานพลัง สวก. ผลักดันการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ “ราชบุรีโมเดล”

ผอ.สกสว. พบ ผอ.สวก. หารือแนวทางพัฒนาการทำงาน และ การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ ชู จ.ราชบุรี เป็นโมเดลการบริหารจัดการ การผลิตทางการเกษตรและส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ ภายใต้แนวคิด BCG  สร้างความมั่นคงทางอาชีพแก่เกษตรกร ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค

เมื่อเร็ว ๆ นี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. พร้อมด้วย ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ สกสว. และ รศ.ดร. สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หารือร่วมกับคณะผู้บริหารของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. โดยมี ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร และ คณะ ให้การตอบรับ เพื่อรับทราบทิศทางการบริหารจัดการแผนงานและโครงการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของหน่วยงาน รวมถึงแนวทางการพัฒนาการทำงานระหว่าง สกสว. และ สวก. รวมถึงการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์

โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. นำการหารือเรื่องการดำเนินงาน ว่า ตามที่ สกสว.ได้จัดทำแผนด้าน ววน.ปี 2566-70 และจะมีการจัดสรรงบประมาณ ด้าน ววน. ปี 66 ให้แก่ สวก. และ หน่วยบริหารจัดการทุน (PMU) อื่น ๆ ได้ดำเนินการ ดังนั้นจึงขอทำความเข้าใจในภาพรวมที่ต้องมีความชัดเจน เรื่องของการจัดทำคำขอ และ การนำส่งข้อมูลในระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NRIIS  ทั้งในส่วนของแผนงาน ที่ สวก. รับผิดชอบหลัก เช่น แผนงานสำคัญตามจุดมุ่งเน้นของนโยบาย (Flagship : F) โปรแกรมที่ 2 ภายใต้ยุทธศาสตร์ (S) ที่ 1 (P2) เร่งพัฒนาการผลิตและการส่งออกอาหารและผลไม้ไทยคุณค่าสูงและมูลค่าสูง เกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง ให้ไทยเป็นประเทศชั้นนำของโลก โดยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและประเทศที่สั่งซื้อ แผนงานย่อย (N) ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 1 (N3) พัฒนากระบวนการผลิต กระบวนการตลาด และผลิตภัณฑ์จากพืชและสัตว์เศรษฐกิจหลักของประเทศตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อเพิ่มมูลค่าและรายได้ของประเทศ และ แผนงานที่ต้องร่วมดำเนินการกับหน่วยบริหารจัดการทุนอื่น เช่น แผนงานย่อยที่ N12 ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนานวัตกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมของวัยแรงงานในภาคชนบทและเมือง เข้าสู่การเป็นผู้สูงวัย (N17) ยกระดับการเกษตรแบบ Smart farming ที่ครบห่วงโซ่คุณค่าในชุมชน โดยใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม และ (F13) ผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ และนวัตกร ที่มีทักษะสูง ให้มีจำนวนมากขึ้นและตรงตามความต้องการของประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม

จากนั้นผู้อำนวยการ สกสว. มอบหมายให้ รองผู้อำนวยการ สกสว. นำเสนอแนวทางการทำงาน PMU Delivery Plan ก่อนหารือเรื่องการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ ว่า เป็นรูปแบบการทำงานที่จะช่วยให้ PMU มีการทำงานที่เป็นระบบ และ สามารถนำส่งผลผลิต ผลลัพธ์ ตามที่ได้ตกลง (commit) ได้ชัดเจนมากขึ้น โดยการนำส่งข้อมูล ในระดับแผนงานย่อย มีองค์ประกอบที่ต้องระบุ Impact Pathway หรือ การเขียนแผนผังลูกโซ่เชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการมีโครงการหรือโปรแกรมการวิจัย ตั้งแต่เริ่มต้นการดำเนินงานโครงการ จนถึงจุดมุ่งหมายหลักของโครงการ และพื้นที่เป้าหมาย ตลอดจนแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ที่เชื่อมโยงกับ Impact Pathway และแนวทางการขับเคลื่อนแผนที่เชื่อมโยงกับ Impact Pathway ขณะเดียวกันก็ต้องสอดคล้องกับงบประมาณ ผลผลิต และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholders Engagement) ให้แนวทางการบริหารจัดการทุนนั้นมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น   

ด้าน ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการ สวก. กล่าวว่า สวก.มีผลการวิจัยเด่น ที่พร้อมต่อยอดและขยายผลหลายโครงการ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเกษตรแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area based) จ.ราชบุรี ที่ สวก.ให้การสนับสนุน และ สอดคล้องกับแนวคิดของคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายภาคเกษตรแบบบีซีจี ได้แก่ 1.โครงการ Sandbox ในการวางระบบการควบคุมโรคและฟื้นฟูฟาร์มสุกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคปากและเท้าเปื่อยและโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในพื้นที่นำร่อง จ.ราชบุรี 2.โครงการพัฒนาระบบการเพิ่มผลผลิตกุ้งก้ามกรามขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มมูลค่าและเสริมสร้างศักยภาพการส่งออก พัฒนาระบบการจัดการ การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามให้สามารถเพิ่มสัดส่วนผลผลิตกุ้งก้ามกรามขนาดใหญ่

3.โครงการสร้างแปลงต้นแบบแม่พันธุ์และการพัฒนาระบบตรวจรับรองพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม GI จ.ราชบุรี และจัดทำฐานข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งยีนความหอม และสาระสำคัญของมะพร้าวน้ำหอมในแปลงปลูก และ 4.โครงการออกแบบและพัฒนาเครื่องพ่นสารชีวภาพกำจัดศัตรูพืชแบบเดินตาม เพื่อการผลิตผักปลอดภัย พัฒนาอุปกรณ์ชนิดใหม่ทดแทนวิธีการพ่นแบบเดิม เพื่อให้เป็นโมเดลการบริหารจัดการ การผลิตทางการเกษตร และส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับ BCG ในพื้นที่นำร่อง จ.ราชบุรี สร้างความมั่นคงทางอาชีพให้แก่เกษตรกร สร้างรายได้และเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป 

#สกสว. #TSRI

#สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม

#เคลื่อนไทยด้วยวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม