เผยแพร่ |
---|
สกสว. หารือ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางนิวเคลียร์และรังสีของประเทศ ตั้งเป้ายกระดับ SME 300 ราย/ปี สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ ทั้งในมิติเกษตร อาหาร การแพทย์ และงานบริการด้านการทดสอบ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วย ววน. ปีละ 400 ล้านบาท
เมื่อเร็ว ๆ นี้ รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (O-Science) เข้าเยี่ยมชมผลดำเนินงานด้านการวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เพื่อรับทราบทิศทางการบริหารจัดการแผนงานและโครงการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของหน่วยงาน รวมถึงการจัดทำคำของบประมาณและการบริหารจัดการงบประมาณด้าน ววน และการสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานให้มีศักยภาพในการนำส่งผลผลิต ผลลัพธ์ ผลกระทบ ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ โดยมี รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ และนำเสนอผลการดำเนินงานด้านการวิจัย พัฒนา และการบริการ รวมถึงการเผยแพร่เทคโนโลยีนิวเคลียร์ทางด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การแพทย์ และสิ่งแวดล้อม ก่อนนำเยี่ยมชมผลการวิจัยเด่นของสถาบัน
โอกาสนี้ รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผอ. สกสว. กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ และ พันธกิจ ของ สกสว. ว่า นอกจากการจัดทำแผนและการจัดสรรงบประมาณ ด้าน ววน. และ การจัดทำของบประมาณของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอคณะกรรมการพิจารณางบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ อื่น ๆ แล้ว สกสว. ยังมีพันธกิจในการจัดกระบวนการหนุนเสริมแก่หน่วยรับงบประมาณ และการจัดทำกลไกและมาตรการเพื่อพัฒนาระบบ ววน. กลไกและมาตรการสำคัญด้านการพัฒนาระบบ ววน. เพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามความต้องการของภาครัฐหรือตามอุปสงค์ของตลาด เข้าสู่ปีที่ 4 ดังนั้นเพื่อให้การทำงานของ สกสว. หน่วยบริหารจัดการทุน และหน่วยรับงบประมาณ ทั้ง 170 กว่าแห่ง รวมถึงสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลที่ดีขึ้น สกสว.จัดการหารือแนวทางการพัฒนาการทำงาน การขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ อย่างสหวิทยาการ เพื่อสร้างองค์ความรู้ พัฒนานโยบาย สาธารณะ และสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ อันจะนำไปสู่การพัฒนาระบบ ววน. ที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ
ด้าน รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. กล่าวว่า สทน.เป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ที่ สกสว.จัดสรรงบประมาณด้านการวิจัย เพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund : FF) ให้ดำเนินการวิจัยตามพันธกิจสำคัญ ทางด้านการวิจัยเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์และการประยุกต์ใช้ การให้บริการเทคโนโลยีนิวเคลียร์ผลิตและให้บริการผลิตภัณฑ์ไอโซโทปรังสีและการจัดการกากกัมมันตรังสี การให้บริการทางวิชาการส่งเสริมสนับสนุนและถ่ายทอดเทคโนโลยีทางด้านวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ ตลอดจนการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ รวมถึงวิจัยการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์และสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีการตรวจวัดปริมาณรังสีในสิ่งแวดล้อมและการป้องกันอันตรายจากรังสี ตั้งเป้าเป็นสถาบันชั้นนำด้านการวิจัยสร้างนวัตกรรมและบริการเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศมากกว่า 3.5 เท่าของค่าใช้จ่ายทั้งหมด (ไม่รวมงบลงทุน) ภายในปี 2567 และเป็นผู้นำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในอาเซียนภายในปี 2570
โดยในแต่ละปี สทน. ให้บริการฉายรังสีผลิตภัณฑ์การแพทย์และเกษตร แก่หน่วยงานภาครัฐ และ เอกชน ทั้งในส่วนที่เป็นผู้ประกอบการ และ SME กว่า 300 ราย ตลอดห่วงโซ่คุณค่าของการผลิตตั้งแต่การพัฒนาดิน น้ำ การกำจัดศัตรูพืช การเพิ่มผลผลิต การจัดการหลังเก็บเกี่ยว การแปรรูปเพิ่มมูลค่า พิสูจน์อัตลักษณ์ตรวจสอบย้อนกลับ การนำเข้าและส่งออกจากการฉายรังสีผลไม้และสมุนไพร สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าปีละ 400 ล้านบาท อย่างไรตาม นอกจากพันธกิจและการดำเนินงานที่สำคัญตามที่กล่าวมา สทน. ยังมีผลการวิจัยอื่น ๆ ที่น่าใจ ที่สามารถนำไปใช้ในการต่อยอด และส่งเสริมการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สกสว. และ หน่วยรับงบประมาณทั้งในและนอกระบบ ววน ต่อไป