แนะใช้ สถานีวิจัยลำตะคอง เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้กับพื้นที่ภาคอีสาน

สกสว. เยี่ยมชมผลดำเนินงาน สถานีวิจัยลำตะคอง พร้อมหารือแนวทางการส่งเสริมและขับเคลื่อนการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ เพื่อยกระดับการพัฒนาและคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่ชุมชน พื้นที่ภาคอีสานมีความต้องการ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (O-Science) เข้าเยี่ยมชมผลดำเนินการวิจัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. (สถานีวิจัยลำตะคอง) เพื่อรับทราบทิศทางการบริหารจัดการแผนงานและโครงการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของหน่วยงาน รวมถึงการจัดทำคำของบประมาณและการบริหารจัดการงบประมาณด้าน ววน. และการสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานให้มีศักยภาพในการนำส่งผลผลิต ผลลัพธ์ ผลกระทบ ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ อันจะนำไปสู่การพัฒนาระบบ ววน. ภายในสถาบันวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับการพัฒนาระบบ ววน. ของประเทศ โดยมี ดร.อาภากร สุปัญญา รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และนวัตกรรม วว. พร้อมด้วย นายมนตรี แก้วดวง ผู้อำนวยการสถานีวิจัยลำตะคอง, นายเฉลิมชัย จีระพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม และ ดร.ศิริพร ลาภเกียรติถาวร ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ ให้การต้อนรับ

โอกาสนี้ รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ปัจจุบัน สกสว. ได้จัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานทั้งในและนอกระบบ ววน. กว่า 170 หน่วยงาน เพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund : FF) และ งานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) ซึ่ง วว. เป็นหนึ่งในจำนวนดังกล่าว และ มีความโดดเด่นทางด้านการวิจัยมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี 2506 เป็นต้นมา ทั้งในส่วนของห้องปฏิบัติการการขยายพันธุ์พืชและการอนุรักษ์พันธุ์พืช ศูนย์วิจัยพลังงานสะอาด ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ อีกทั้ง ศูนย์ทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพ (Bio D) ศูนย์บริการนวัตกรรมเครื่องสำอางครบวงจร (ICOS) ศูนย์ไบโอเมทานอล โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (FISP) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย (ALEC) และศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (RTTC)

วว. ถือเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพที่สามารถสนับสนุนการพัฒนาในทุกระดับ โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ เช่น สถานีวิจัยลำตะคอง ซึ่งมีความพร้อมทางด้านการวิจัยระดับหนึ่งที่สามารถออกแบบการทำงานร่วมกับหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และเกษตรกรในพื้นที่ โดยการสำรวจความต้องการเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม ยกระดับการพัฒนาและคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนที่สอดคล้องกับแผน ววน. ทั้งในมิติของการเสริมความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก โดยการเพิ่มความสามารถในการผลิตและการตลาด รวมถึงแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากร การผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประโยชน์จากเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ บนพื้นฐานทุนทางวัฒนธรรม ความเป็นท้องถิ่น การให้ความรู้และเสริมศักยภาพของประชาชนในการประกอบการทางเศรษฐกิจของพื้นที่ โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีใหม่ในการทำการเกษตร ความรู้เรื่องสินค้าท้องถิ่นและการพัฒนา แปรรูป และจัดจำหน่ายสินค้าท้องถิ่น การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลาง (SMEs) ทั่วประเทศตามความเหมาะสม สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของพื้นที่

ด้าน ดร.อาภากร สุปัญญา รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และนวัตกรรม วว.  กล่าวว่า วว. ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนงานด้าน ววน. เพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน (FF) และงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) 3 ยุทธศาสตร์ คือ 1) มุ่งเน้นการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้านการเกษตร อาหารและสมุนไพรเพื่อสุขภาพ จากฐานความหลากหลายชีวภาพของประเทศ ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG 2) มุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ SME และการพัฒนาความสามารถในการให้บริการภาคอุตสาหกรรม และ 3) มุ่งเน้นการวิจัยด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด และการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น การบริหารจัดการขยะ zero waste และของเสียภาคอุตสาหกรรม

โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมา สามารถสร้างผลงานเด่นหลายโครงการ เช่น การผลิตสารสกัดมูลค่าสูงและสารสำคัญสมุนไพร, การทดสอบตามมาตรฐานภาคอุตสาหกรรมในอุตสาหกรรม s-curve ต่าง ๆ , การทดสอบสมบัติการสลายตัวทางชีวภาพในน้ำทะเลและระดับความเป็นพิษตกค้าง, การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น และได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. เช่น การส่งเสริมศักยภาพด้านการเกษตร ไม้ดอก ไม้ประดับ และ ด้านพลังงาน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ผลการดำเนินงานดังกล่าว สามารถนำไปส่งเสริมและขยายผลการทำงานด้านวิจัย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับทุกภูมิภาค และต้อบโจทย์การพัฒนาและความต้องการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีของประเทศ ให้ก้าวข้ามกับดับการพัฒนาของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางต่อไป

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมเป็นประธานในการประชุมหารือเพื่อติดตามผลการดำเนินงานการวิจัยและนวัตกรรมของ วว. ภายใต้กองทุนส่งเสริม ววน. เพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund : FF) ซึ่งดำเนินการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ของ วว. ที่เกี่ยวข้องใน 3 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1) มุ่งเน้นการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการเกษตร อาหารและสมุนไพรเพื่อสุขภาพ จากฐานความหลากหลายชีวภาพของประเทศ ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG 2) มุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ SME และการพัฒนาความสามารถในการให้บริการภาคอุตสาหกรรม และ 3) มุ่งเน้นการวิจัยด้านการพัฒนาพลังงานทดแทน พลังงานสะอาด และการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น การบริหารจัดการขยะ zero waste และของเสียภาคอุตสาหกรรม โอกาสนี้คณะผู้บริหาร นักวิจัย และบุคลากรของทั้งสองหน่วยงาน เข้าร่วมประชุมด้วย

สิ่งที่ สกสว.มีความพยายามจัดทำฐานข้อมูลสำคัญเพื่อใช้ในการทำงาน ทั้งในส่วนของการจัดทำแผนด้าน ววน. และ การชี้แจงช่วงการพิจารณางบประมาณให้เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ ว่า ผลการวิจัยนั้นสามารถสร้างผลผลิต ผลลัพธ์ ผลกระทบ ที่คุ้มค่ากับการลงทุน ที่จะช่วยให้ประเทศได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดตามการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ Stockholder ทั้ง 170 หน่วยงาน รวมถึง วว. ที่ สกสว. จัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยให้มีการทำงานและขับเคลื่อน ววน. ไปในทิศทางเดียวกัน ตามเจตนารมณ์ของแผนพัฒนา และ ยุทธศาสตร์ชาติ

การทำงานนอกกระทรวง ทำอย่างไร ให้งบทางด้านการวิจัย ถูกกระจาย

ส่วนที่ 2 วว. มีความน่าสนใจในการทำงานที่ครบวงจร ตั้งแต่การวิจัยพื้นฐานไปจนถึงการพัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมนั้นแสดงให้เห็นการวางระบบการทำงานอย่างครบวงจร ซึ่งสามารถเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานในระบบ ววน. และ นอก ววน. บางหน่วยงาน อย่างไรก็ดี หาก วว. นั้นสามารถยกระดับ หรือกำหนดเป้าหมายในการวิจัย เทคโนโลยี ให้มีความโดดเด่นเฉพาะด้าน ก็จะช่วยลดความทับซ้อนของการทำงานตามพันธกิจลง การจัดสรรงบประมาณก็จะมีประสิทธิภาพที่มากขึ้น