เผยแพร่ |
---|
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมเปิดสาขาใหม่ หลักสูตร วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และ เทคโนโลยีดิจิทัล ที่แตกต่างไปจากการเรียนตามหลักสูตรทั่วไป ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรของวงการศึกษาไทย ที่ต้องปรับตัวให้เกิดความแตกต่าง และตอบโจทย์ของโลกยุคใหม่ ที่ต้องการบุคลากรที่มีทักษะตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมนั้น ๆ
โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มองเห็นโอกาสของความต้องการบุคลากรด้านอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ที่ปัจจุบันถือว่าขาดแคลนอย่างมากในตลาดแรงงาน จึงได้เตรียมเปิดตัวหลักสูตรวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Computer Engineering & Digital Technology ซึ่งเป็นหลักสูตรปริญาตรี 4 ปี โดยเบื้องต้นจะเปิดรับนิสิต 300 ที่นั่งต่อปี
หลักสูตรวิชา วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีดิจิทัลนี้ ยังตอบโจทย์นโยบายการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher education sandbox) ตามข้อกำหนดสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ. 2564 ที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการผลิตกำลังคนให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้เตรียมทำข้อตกลงร่วมกับภาคเอกชน เพื่อให้การจัดการศึกษาหลักสูตร Sandbox ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น และทำให้นิสิตมีทักษะในทุกช่วงชั้นปี ตั้งแต่ปีที่ 1 สามารถเข้าสู่กระบวนการทำงานกับองค์กรภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นคู่สัญญากับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในรูปแบบการฝึกงานและสหกิจศึกษา ซึ่งเป็นการเสริมความเข้มแข็งให้แก่องค์กรคู่สัญญา และเสริมสร้างสมรรถนะให้แก่นิสิตจากประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน ณ สถานที่จริงและสถานการณ์จริง
ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นรากฐานที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเป็นยุคก้าวกระโดดที่ต้องการกำลังคนที่มีความรู้ในหลากหลายด้าน และสามารถผสมผสานกันเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและรองรับกับเทคโนโลยีใหม่ให้กับสถานประกอบการ จึงได้เปิดหลักสูตรนี้ขึ้นมาตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเชื่อมั่นว่าจะสามารถผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงตามความต้องการของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับเนื้อหาการสอนในหลักสูตร เป็นการให้ความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ ตลอดจนหลักการทางวิศวกรรม แบ่งได้เป็น 3 หมวด คือ หมวดวิศวกรรมระบบเชิงเลข (Digital System Engineering) ครอบคลุมการออกแบบและวิเคราะห์ระบบเชิงเลข (ระบบดิจิทัล) อันเป็นพื้นฐานของการออกแบบระบบคอมพิวเตอร์ วิชาที่ศึกษาได้แก่ การออกแบบเชิงตรรกะ ไมโครโพรเซสเซอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ สถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ การสื่อสารข้อมูล และ ระบบเครือข่าย / หมวดวิศวกรรมซอฟต์แวร์ระบบ (System Software Engineering) ครอบคลุมหลักการออกแบบและวิเคราะห์ทฤษฎีคำนวณทางคอมพิวเตอร์ อัลกอริทึม ซอฟต์แวร์ระบบ และ ระบบปฎิบัติการ / หมวดการประมวลผลสารสนเทศ (Information Processing) ครอบคลุมการออกแบบและวิเคราะห์ระบบประมวลผลสารสนเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศ วิศวกรรมซอฟต์แวร์ วิทยาการข้อมูล วิศวกรรมข้อมูล ปัญญาประดิษฐ์ ระบบจัดการฐานข้อมูล คอมพิวเตอร์กราฟฟิก วิทยาการหุ่นยนต์ และระบบประยุกต์ ที่เกี่ยวข้อง
ผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้ จะมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบ วิเคราะห์ และสร้างโปรแกรมประยุกต์ของระบบซอฟต์แวร์ ระบบเชิงเลข และ การประมวลผลสารสนเทศ และสามารถประยุกต์หลักการทางวิศวกรรมเพื่อการแก้ปัญหาในสาขาอาชีพอื่นด้วยคอมพิวเตอร์ได้เป็นอย่างดี
สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.cp.eng.chula.ac.th/cedt หรือที่ facebook.com/cedtengchula