เผยแพร่ |
---|
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกับ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ระหว่างกรมป่าไม้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก. และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เพื่อผลักดันกลไกนำป่าชุมชนและพื้นที่ป่าอื่น ๆ ของ ทส. ขึ้นทะเบียนภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) สู่การปฏิบัติจริง พร้อมเชื่อมพลังไตรภาคี รัฐ เอกชน และชุมชนช่วยกันดูแลผืนป่าไทยให้อุดมสมบูรณ์ สร้างรายได้กลับคืนให้ชุมชนจากการขายคาร์บอนเครดิต โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นสักขีพยาน และได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงจาก บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท PwC ประเทศไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และชาวบ้านเครือข่ายป่าชุมชน ต.แม่โป่ง
อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เข้าร่วม ณ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยภายในงานยังมีกิจกรรมทั้งปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ต่อยุทธศาสตร์ชาติด้านการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสืบสานพระราชดำริ” โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา และเวทีเสวนาป่าแห่งชีวิต สืบสานงานพระพันปี ในหัวข้อ ปลูกคน ปลูกป่า 50 ปี บทบาทของป่าในการช่วยชาติ เศรษฐกิจ สังคม และบทบาทของภาคเอกชนในการสนับสนุนการปลูกป่าและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวว่า ทส.เล็งเห็นว่าบทบาทของภาคป่าไม้สำคัญต่อการรับมือต่อเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในปัจจุบัน เนื่องจากป่าไม้เป็นแหล่งสะสมคาร์บอนขนาดใหญ่ของโลก คาร์บอนที่สะสมอยู่นั้นมีปริมาณมากกว่าในบรรยากาศถึง 3.5 เท่า การอนุรักษ์และปลูกป่าจึงเป็นกลไกสำคัญในการช่วยกักเก็บคาร์บอน บรรเทาความรุนแรงของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ออกระเบียบเกี่ยวกับการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนสนับสนุนการปลูกป่าในพื้นที่ของรัฐโดยผ่านกลไกคาร์บอนเครดิต เพิ่มแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกของประเทศ การร่วมมือผ่าน MOU ในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องดีที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงในพื้นที่ โดยมีมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยเชื่อมประสาน นอกจากนี้ ทส.ยังได้จัดตั้งเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย หรือ Thailand Carbon Neutral Network : TCNN เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในประเทศในการไปถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน Carbon Neutrality ซึ่งทางเครือข่าย TCNN จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการปลูกต้นไม้หรือปลูกป่าในขอบเขตขององค์กรเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร และยังเป็นการเพิ่มความต้องการคาร์บอนเครดิตในประเภทโครงการภาคป่าไม้มากขึ้น สำหรับนำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรภาคธุรกิจ”
หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการร่วมเซ็น MOUในครั้งนี้ว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในฐานะที่ปรึกษาและดำเนินงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 กรม ของ ทส. จะเข้าไปช่วยสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนดูแลรักษาป่าของตนเองเพื่อให้เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีคุณภาพ สนับสนุนการจัดทำระบบการประเมินการกักเก็บคาร์บอน (คาร์บอนเครดิต) ภาคป่าไม้ พัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืนในลักษณะเปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ผ่านการให้คำปรึกษาและบริหารจัดการงบประมาณสำหรับดำเนินงาน โดยมีภาคเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุน ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับความต้องการคาร์บอนเครดิตของภาคเอกชนเองในอนาคต เมื่อมีการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเมื่อคาร์บอนเครดิตจากภาคป่าไม้ที่ให้ผลประโยชน์ร่วมต่อระบบนิเวศ (Co-benefits for natural ecosystems) และมีปริมาณจำกัด
“ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งในและต่างประเทศ การสร้างรายได้อย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการดูแลป่าเป็นจุดที่เรามีความชำนาญเป็นอย่างมาก เมื่อโลกเข้าสู่วิกฤตเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง มูลนิธิฯ จึงต้องการนำความรู้ความเชี่ยวชาญที่มีมาร่วมมือกับภาครัฐผ่าน ทส. ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ผ่านการส่งเสริมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและป่าอย่างยั่งยืน โดยหวังกระตุ้นให้ทุกฝ่ายเล็งเห็นความสำคัญของการทำธุรกิจที่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมน้อยลง สร้างกระบวนการดูแลรักษาธรรมชาติเพื่อสร้างประโยชน์กลับคืนสู่ชุมชนและภาครัฐ การสร้างรายได้จากการดูแลป่าเพื่อขายคาร์บอนเครดิตจะเป็นอาชีพใหม่ที่ปรับโมเดลจากการทำลายธรรมชาติ การทำลายป่าไม้เพื่อความอยู่รอด มาสู่การรักษาและพื้นฟูธรรมชาติและมีรายได้อย่างเพียงพอแทน ภายใต้กรอบการทำงานใหม่นี้ทุกคนจะมีส่วนในการช่วยส่งต่อโลกนี้ที่ดีขึ้นและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับลูกกับหลานเราต่อไปด้วย”
ทั้งนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นผู้เชี่ยวชาญและได้ดำเนินงานเรื่องการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้กับป่าชุมชนทั่วประเทศไทยมาแล้วกว่า 33,557 ไร่ โดยเป็นการทำงานร่วมสำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ และป่ากับชุนชน 32 แห่ง
ใน จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.พะเยา มีประชาชนได้รับประโยชน์จำนวน 18,700 คน มีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการที่ขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER กับทางองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกแล้ว 15 แห่ง พื้นที่ตามพรบ 19,367 ไร่ แต่พื้นที่ที่ขึ้นทะเบียน T-VER ได้ 18,479 ไร่ คิดเป็นปริมาณคาร์บอนเครดิต 7,798 ตัน รวม 7,798 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
ความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ คาดว่าจะเกิดความร่วมกับทุกภาคส่วนในการส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกกว่า 1,000,000 ไร่ จากพื้นที่ป่าที่อยู่ในการดูแลของทั้ง 3 กรม ส่งผลให้มีประชาชนได้รับประโยชน์อีกกว่า 1,100 ชุมชน และมีปริมาณคาร์บอนเครดิตรวม 300,000-500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี บรรลุเป้าหมายของโครงการฯ ที่จะเข้าไปพัฒนาทั้งการเพิ่มพื้นที่ป่าและสร้างสังคมให้คนในพื้นที่สามารถอยู่ร่วมกับป่าและมีอาชีพได้อย่างยั่งยืน
หน่วยงานและบุคคลที่สนใจสนับสนุนโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขติดต่อ 092-495-6965 Email: [email protected]