สกสว. สานพลัง ทปอ. ดันไทยเป็น ‘ศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง’ ยกระดับโครงข่ายการเดินทางและขนส่งทางรางแบบไร้รอยต่อ

สกสว. จับมือ ทปอ. และภาคีเครือข่าย เร่งพัฒนากำลังคนและสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยี เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง ยกระดับระบบขนส่งทางรางให้เป็นโครงข่ายการเดินทางและขนส่งหลักของประเทศแบบไร้รอยต่อ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนและแข่งขันได้ในเวทีโลกอย่างเป็นรูปธรรม

วันที่ 25 สิงหาคม 2565 ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการประชุมศูนย์กลางเครือข่ายวิจัยระบบขนส่งทางรางไทย 2565 ณ โรงแรมพูลแมน คิง พาวเวอร์ กรุงเทพฯ ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และคณะกรรมการวิจัยและนวัตกรรม ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เพื่อเร่งสร้างและพัฒนากำลังคนให้มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและการดูแลบำรุงรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับระบบการขนส่งทางราง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างองค์ความรู้และสามารถต่อยอดเพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ยกระดับระบบขนส่งทางรางให้เป็นโครงข่ายการเดินทางและขนส่งหลักของประเทศแบบไร้รอยต่อ พร้อมสอดรับกับความต้องการเดินทางและขนส่งสินค้า การพัฒนาเมืองและพื้นที่พิเศษ พื้นที่เกษตรกรรม ท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเป็นจำนวนมาก ทำให้ไทยมีความพร้อมในด้านนี้สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค ประกอบกับจุดแข็งด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ทำให้มีโอกาสที่จะถูกใช้เป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าผ่านแดนและจุดกระจายสินค้าเพิ่มมากขึ้น จึงมีแผนการยกระดับระบบการคมนาคมทางรางทั่วประเทศภายใน 10 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ดี ดัชนีชี้วัดขีดความสามารถโลจิสติกส์ในปี 2561 ไทยอยู่ในอันดับที่ 32 จาก 160 ประเทศทั่วโลก ซึ่งปรับตัวอย่างก้าวกระโดดจากอันดับที่ 45 ในปี 2559 นับเป็นอันดับที่ดีที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา และได้เลื่อนขั้นมาอยู่ในกลุ่มแรกหรือ Logistics Friendly แต่ยังมีคะแนนอยู่ในอันดับท้ายของกลุ่ม

“แผนการพัฒนาประเทศด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและระบบโลจิสติก์จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบขนส่งรางให้เป็นโครงข่ายหลักในการขนส่งของประเทศ และรองรับการเชื่อมโยงกับการขนส่งรูปแบบอื่น ๆ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและศูนย์บริการโลจิสติกส์ในรูปแบบต่าง ๆ พร้อมทั้งพัฒนากระบวนการและการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มขึ้น ควบคู่กับการพัฒนายกระดับศักยภาพของบุคลากรด้านโลจิสติกส์ให้มีทักษะขั้นสูง เพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบ เกิดการใช้พลังงานในภาคขนส่งที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งเมืองหลักในภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการกระจายความเจริญและการสร้างศูนย์เศรษฐกิจใหม่ พร้อมทั้งพัฒนาการเชื่อมโยงระบบการคมนาคมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงการพัฒนาและบูรณาการระบบฐานข้อมูลการเดินทางและขนส่งทุกรูปแบบ เพื่อนำไปสู่การควบคุมสั่งการและบริหารจัดการจราจรอัจฉริยะทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ”

ขณะที่ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. เปิดเผยว่า กลุ่มภารกิจพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านกำลังคน และสถาบันความรู้ เห็นความสำคัญของการพัฒนากำลังคนเพื่อสนับสนุนประเด็นสำคัญเร่งด่วนของประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการขนส่งทางราง ประกอบกับการสนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่งภายในประเทศของรัฐบาล สกสว.จึงร่วมมือกับ ทปอ.และสถาบันอุดมศึกษาในเครือข่าย สร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือ กำหนดโจทย์วิจัยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เครื่องมือการดำเนินการ ตลอดจนนักวิจัยหรือบุคลากรที่มีศักยภาพ เพื่อเชื่อมโยงและพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยด้านระบบขนส่งทางราง โดยใช้กลไกสนับสนุนงบประมาณผ่านกองทุนส่งเสริม ววน. รวมถึงผลักดันแผนงานวิจัยที่มีความพร้อมพัฒนา สู่นวัตกรรมและการใช้ประโยชน์ภายใต้ทุนสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund)

“เวทีในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนางานวิจัยและการพัฒนากำลังคนทักษะสูงด้านระบบขนส่งทางราง โดยมีสถาบันอุดมศึกษาในเครือข่ายที่มีความพร้อมในการพัฒนางานวิจัยด้านระบบขนส่งทางรางทั้ง 18 แห่ง กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และสถาบันวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคส่วนอื่น ๆ เข้าร่วมระดมสมอง พร้อมรับฟังการบรรยายพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนการผลักดันการนำผลงานวิจัยในประเด็นระบบขนส่งทางรางสู่การใช้ประโยชน์ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม”