ปปง. จัดโครงการเผยแพร่ผลการประเมินความเสี่ยงระดับชาติ และยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงิน แก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง

สำนักงาน ปปง. จัดโครงการเผยแพร่ผลการประเมินความเสี่ยงระดับชาติ และยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงิน แก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง

วันที่ 8 สิงหาคม 2565 พลตำรวจตรี ดร. ปิยะพันธ์ ปิงเมือง เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เลขาธิการ ปปง.) เป็นประธานเปิด “โครงการเผยแพร่ผลการประเมินความเสี่ยงระดับชาติและยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง” ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โฮเท็ล แอนด์ ทาวเวอร์ส กรุงเทพมหานคร โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงผู้แทนจากสถานทูตต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ กว่า 350 คน เข้าร่วมงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ถึงความเสี่ยงด้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Money Laundering, Terrorism Financing and Proliferation of Weapons of Mass Destruction Financing: ML/TF/PF) ของประเทศไทย รับทราบยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงิน แก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Anti-Money Laundering and Combating Financing of Terrorism: AML/CFT) และแสดงพลังความร่วมมือและการบูรณาการการทำงานในการนำนโยบายและมาตรการตามยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับความเสี่ยงและมาตรฐานสากล เพื่อสร้างระบบ AML/CFT ของประเทศไทยให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

ในการนี้ เลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า การประเมินความเสี่ยงระดับชาติด้าน ML/TF/PF เป็นข้อแนะนำตามมาตรฐานสากลที่ แต่ละประเทศจะต้องปฏิบัติโดยต้องมีการประเมินความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยที่ผ่านมาประเทศไทยได้ประเมินความเสี่ยงระดับชาติมาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2555 และ พ.ศ. 2559 และในปี 2565 นี้ เป็นการดำเนินการครั้งที่ 3 และเป็นครั้งแรกที่มีการประเมินความเสี่ยงด้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงตามที่มาตรฐานสากลกำหนด โดยเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างสำนักงาน ปปง. และสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับผลการประเมินความเสี่ยงฯ แบ่งได้เป็น

1. ความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน โดยพบความผิดมูลฐานที่มีความเสี่ยงสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) การทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ (2) ยาเสพติด (3) การพนัน (4) การทำลายทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม และ (5) การฉ้อโกงประชาชน โดย 5 อาชญากรรมนี้มีมูลค่าโดยรวมคิดเป็น 2% ของ GDP ของประเทศไทย หรือประมาณ 351,360 ล้านบาท สำหรับช่องทางที่อาจถูกใช้กระทำความผิดที่มี ความเสี่ยงสูงสุด ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากเป็นช่องทางที่สามารถทำธุรกรรมได้สะดวก นอกจากนี้ ช่องทางที่มีความเสี่ยงสูงยังรวมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจ การใช้สินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ผ่านผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัล นิติบุคคลบังหน้า การขนเงินสดข้ามแดน และการฟอกเงินผ่านการซื้อขายและขนส่งสินค้า

2. ความเสี่ยงด้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย เมื่อพิจารณาจากการระดมทุนการเคลื่อนย้ายเงินทุน และ การนำเงินทุนไปใช้ พบพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงสูง ดังนี้ (1) พฤติกรรมการระดมทุน ได้แก่ การระดมทุนด้วยความเชื่อถือศรัทธา การก่ออาชญากรรมเพื่อนำรายได้มาเป็นแหล่งเงินทุน การระดมทุนผ่านองค์กร ไม่แสวงหากำไร และการจัดตั้งธุรกิจสนับสนุนจากต่างประเทศ (2) พฤติกรรมการเคลื่อนย้ายเงินทุน ได้แก่ การเคลื่อนย้ายเงินทุนโดยผ่านบุคคล และ (3) พฤติกรรมการนำเงินทุนไปใช้ ได้แก่ การนำไปใช้ก่อเหตุ และการนำไปใช้เพื่อรักษาสถานะขององค์กร ขณะที่ช่องทางที่อาจถูกใช้ในการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ การลักลอบขนเงิน ธนาคาร การใช้สินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ผ่านผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัล และองค์กรไม่แสวงหากำไร

3. ความเสี่ยงด้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง โดยพบพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงสูงสุด ได้แก่ การหลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ การหลีกเลี่ยงมาตรการทางการเงินของบุคคลที่ถูกกำหนด และการซื้อขายสินค้า ที่ใช้ได้สองทาง ซึ่งประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำหรือระดับเฝ้าระวัง

นอกจากนี้ เลขาธิการ ปปง. ยังได้กล่าวถึงการจัดทำยุทธศาสตร์ด้าน ML/TF/PF พ.ศ. 2565 – 2570 ร่วมกันระหว่างสำนักงาน ปปง. สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 40 หน่วยงานว่า ได้นำผลการประเมินความเสี่ยงระดับชาติมาใช้จัดทำยุทธศาสตร์ดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินงานด้าน AML/CFT ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงและ ความท้าทายใหม่ๆ ในปัจจุบัน พร้อมรับมือกับความเสี่ยงและภัยคุกคามจากอาชญากรรมด้าน ML/TF/PF รวมถึงเป็นแนวทางให้น่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับความเสี่ยง โดยประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ผลักดันมาตรการเชิงรุกด้าน AML/CFT ของประเทศไทยให้มีประสิทธิผลตามมาตรฐานสากล

ยุทธศาสตร์ที่ 2 บูรณาการการดำเนินงานด้าน AML/CFT ทั้งในและต่างประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมมาตรการและระบบการกำกับดูแลของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้มีหน้าที่รายงานปฏิบัติตามมาตรการด้าน AML/CFT

ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ใหม่และแนวทางการประกอบธุรกิจแบบใหม่ เพื่อมุ่งสู่การดำเนินงาน ด้าน AML/CFT ในรูปแบบดิจิทัล

ยุทธศาสตร์ที่ 5 สร้างความร่วมมือและเผยแพร่ข้อมูลด้าน AML/CFT สู่ภาคประชาสังคม

ยุทธศาสตร์ที่ 6 พัฒนาองค์กรสู่องค์กรที่มีสมรรถนะสูง (High Performance Organization) ด้าน AML/CFT ของประเทศไทยให้มีประสิทธิผล

โดยยุทธศาสตร์ฉบับนี้ได้มุ่งเน้นการดำเนินงานในประเด็นสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) การดำเนินงานเชิงรุกด้าน AML/CFT ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล 2) ส่งเสริมมาตรการและระบบการกำกับดูแลของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้าน AML/CFT และ 3) ส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ใหม่ และแนวทางการประกอบธุรกิจแบบใหม่ เพื่อมุ่งสู่การดำเนินงานด้าน AML/CFT

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้าน AML/CFT อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุทธศาสตร์ฉบับแรกในปี 2553 จนถึงปัจจุบัน พบว่า มีการพัฒนากฎหมายด้าน AML/CFT มีทิศทางและเป็นระบบ มีการพัฒนาขีดความสามารถและการประสานความร่วมมือกับ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทั้งหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย หน่วยงานด้านความมั่นคง หน่วยข่าวกรองทางการเงิน สถาบันการเงิน หน่วยธุรกิจหรือผู้ประกอบวิชาชีพที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หน่วยงานกำกับดูแล รวมทั้งองค์กรไม่แสวงหากำไรและนิติบุคคลเพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นช่องทางในการกระทำความผิดของอาชญากรและผู้ก่อการร้าย นอกจากนี้ ยังส่งผลให้มีการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ และมีกลยุทธ์การดำเนินการด้าน AML/CFT ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความเสี่ยงที่ท้าทายมากขึ้น และด้วยความร่วมมือของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องส่งผลให้ประเทศไทยมีผลการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยล่าสุดในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยมีผลการประเมินด้านกรอบกฎหมายที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล จำนวน 31 ข้อ จาก 40 ข้อ และมีผลการประเมินด้านประสิทธิผลที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล จำนวน 4 ด้าน จาก 11 ด้าน

เลขาธิการ ปปง. ได้สรุปในตอนท้ายว่า การดำเนินงานด้าน AML/CFT ไม่สามารถดำเนินการได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือและการบูรณาการการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วนในการสร้างระบบ AML/CFT ของประเทศไทยให้เข้มแข็ง เพื่อเป้าหมายร่วมกัน คือ “Beyond Standards: Synergy for Stronger AML/CFT” หรือ “เป็นเลิศเหนือมาตรฐาน บูรณาการต้านฟอกเงิน”