เกลอเขา+เกลอเล กรมวิชาการเกษตร จัดเชื่อมโยงชุมชนความมั่นคงทางอาหารภาคใต้ตอนล่าง

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ความมั่นคงด้านอาหาร กลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากเกิดปัญหาวิกฤตอาหารแพง ต้นทุนการผลิตอาหารสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ ราคาปุ๋ยเคมี และราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นการผลิตอาหารยังได้รับผลกระทบเกิดความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate Change)

กรมวิชาการเกษตรจึงมีแผนงานที่จะดำเนินการวิจัยและพัฒนาเพื่อรับมือสถานการณ์ดังกล่าวในหลายด้านด้วยกัน เช่น การวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ได้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลิตพืชเพื่อทดแทนการนำเข้า การวิจัยเพื่อเพิ่มศักยภาพพืชที่มีโอกาสในการส่งออก  การวิจัยเพื่อลดต้นทุน การผลิต เป็นต้น

ส่วนในระดับพื้นที่ ได้มีการวิจัยเทคโนโลยีการจัดการผลิตพืชเพื่อสร้างเสถียรภาพรายได้และความมั่นคงด้านอาหารของชุมชนเกษตรในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง จังหวัดสงขลา พัทลุงสตูล ปัตตานี และ ยะลา โดยมีการวิจัย การจัดการผลิตพืชเศรษฐกิจเพื่อสร้างเสถียรภาพด้านรายได้เกษตรกรให้เพิ่มขึ้นเพื่อนำไปสู่การเพิ่มการเข้าถึงอาหาร  การวิจัยการผลิตพืช 9 พืช ผสมผสานพอเพียงเพื่อเพิ่มความเพียงพอและความหลากหลายของอาหารที่จะทำให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้ในพืชอาหารและพืชที่จะใช้ประโยชน์ในการดำรงชีพ  การวิจัยการผลิตพืชอินทรีย์เพื่อนำไปสู่ความปลอดภัยด้านอาหาร การผลิตพืชที่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อจะทำให้เกิดเสถียรภาพของการผลิตอาหารที่จะมีอาหารเพียงพอตลอดปี และการพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนภาคีเครือข่ายเพื่อที่จะมาบริหารจัดการความมั่นคงด้านอาหารของชุมชน

ในวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมาสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 ได้มีการจัดประชุมเชื่อมโยงเครือข่ายชุมชนความมั่นคงด้านอาหาร 5 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างที่จังหวัดสงขลา โดยแต่ละชุมชนได้มีการนำเสนอความก้าวหน้าของการพัฒนาพืชในแต่ละชุมชน พร้อมทั้งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ภูมิปัญญาการผลิตพืชระหว่างกัน นอกจากนั้นได้มีการจัดเวทีวิจัยสัญจรไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาความมั่นคงด้านอาหารที่ชุมชนตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

โดยผู้นำชุมชน ได้นำเสนอ รูปแบบของการพัฒนาเฉพาะพื้นที่ 7 รูปแบบด้วยกันได้แก่

  1. ชุมชนชะแล้ อ.สิงหนคร จ. สง ชุมชนความมั่นคงทางอาหารพื้นที่ลุ่ม ที่มีการจัดการผลิตพืชโดยมีการปลูกข้าว ตาลโตนด พืชผสมผสานบนร่องสวน ปาล์มน้ำมันรวมทั้งมีการเลี้ยงชันโรง และการจัดการท่องเที่ยวชุมชน
  2. ชุมชนในกอย อ.ป่าบอน จ.พัทลุง ชุมชนความมั่นทางอาหารในพื้นที่ดอน มีการปลูกสละเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก พร้อมกับปลูกพืชผสมผสานในพื้นที่ดอน การปลูกผักยกแคร่เพื่อให้มีพืชผักบริโภคในฤดูฝน
  3. ชุมชนควนกาหลง อ.ควนกาหลง จ.สตูล

มีการปลูกจำปาดะเป็นพืชเศรษฐกิจ พร้อมกับมีการปลูกพืชผสมผสานในพื้นที่ดอน ปลูกพืชในกระสอบบริเวณบ้าน และปลูกในพื้นที่สวนยาง

  1. ชุมชนเขาพระ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา มีการปลูกทุเรียนสองฝนเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของชุมชน การปลูกพืชผสมผสานในที่ดอนชุมชน และจัดการท่องเที่ยวชุมชน
  2. ชุมชนพ่อมิ่ง อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี มีการปลูกมะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ปลูกยาสูบ พืชผัก และพืชผสมผสานเพื่อเพิ่มความเพียงพอในการดำรงชีพ
  3. ชุมชนตาชี อ.ยะหา จ.ยะลา มีการปลูกทุเรียนเป็นเศรษฐกิจหลัก พร้อมกับมีการปลูกพืชผสมผสานในพื้นที่ดอน
  4. ชุมชนรำแดง ชุมชนบ้านแคและ ชุมชนสทิงพระ จ.สงขลา มีการปลูกพืชผสมผสานในพื้นที่ลุ่ม ผักยกแคร่ ผักสลัด เป็นต้น

การจัดเวทีชุมชนสัญจร ได้ทำให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายการพัฒนาในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างทำให้ผู้นำเกษตรกรได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการบริหารจัดการกลุ่มเกษตรกรซึ่งพบว่าบทบาทผู้นำมีความสำคัญมากต่อการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน นอกจากนั้นได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องเทคนิคและวิชาการในการปลูกพืชในแต่ละสภาพพื้นที่ มีการนำเสนอสินค้าเด่นของชุมชนเพื่อนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ดอน แนวเทือกเขา กับเกษตรกรที่อยู่ในที่ลุ่มแนวทะเล ในภาคใต้จะเรียกว่า เป็นเกลอเขา-เกลอเล ถือว่าเป็นการรื้อฟื้นวัฒนธรรมที่ดีที่จะทำให้เกิดการช่วยเหลือพึ่งพากันในอนาคต

ท่านที่สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง