สทนช. ติดตามมาตรการรับมืออุทกภัย จ.สุโขทัยและเร่งจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำยม หวังเป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ

สทนช. ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ ตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 พร้อมเร่งจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำยม หวังใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ป้องกันอุทกภัย-ภัยแล้งอย่างยั่งยืน

นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยในโอกาสลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน พื้นที่ลุ่มน้ำยม และการบริหารจัดการน้ำตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม จ.สุโขทัย ว่า พื้นที่ลุ่มน้ำยมประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศตอนบนบริเวณ จ.พะเยา และ จ.แพร่ มีความสูงชันมาก และค่อยๆ ลดลงเป็นพื้นที่ราบในลุ่มน้ำยมตอนล่างบริเวณ จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก และ จ.พิจิตร โดยเฉพาะบริเวณตัวเมือง จ.สุโขทัย ความกว้างของแม่น้ำยมค่อนข้างแคบ ทำให้รองรับปริมาณน้ำได้น้อย เป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งและเอ่อท่วมพื้นที่ 2 ข้างลำน้ำเป็นประจำ

สำหรับการจัดทำผังน้ำ เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสนับสนุนแผนป้องกันแก้ไขสภาวะภัยแล้งและอุทกภัย เนื่องจากสามารถใช้ระบุพื้นที่เก็บกักน้ำได้อย่างชัดเจน ขณะที่ในช่วงน้ำหลากยังกำหนดทิศทางการระบายน้ำที่เหมาะสม ลดระยะเวลาท่วม ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ รักษาคุณภาพน้ำ และไม่ทำให้เกิดการรุกล้ำทางน้ำ นอกจากนี้ ผังน้ำยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยตัดสินใจในการสร้างที่อยู่อาศัย โรงงาน นิคมอุตสาหกรรม ไม่ให้อยู่ในพื้นที่น้ำหลากหรือกีดขวางทางระบายน้ำรวมถึงควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินในขอบเขตพื้นที่ตามระบบทางน้ำที่ได้กำหนดแนวเขตไว้ โดยผังน้ำจะกำหนดขอบเขตชัดเจนว่า บริเวณใดเป็นพื้นที่สงวนไว้ให้ทางน้ำโดยเฉพาะ โดยไม่มีสิ่งกีดขวางตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

ดังนั้น สทนช.จึงต้องเร่งดำเนินโครงการศึกษาจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำยม ซึ่งปัจจุบันได้วิเคราะห์สภาพน้ำท่วมในเงื่อนไขต่างๆ แล้วเสร็จ และจัดทำร่างผังน้ำ ครั้งที่ 1 เพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ประมาณเดือนกรกฎาคม 2565

รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากการติดตามความก้าวหน้าการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำยมแล้ว ยังได้ติดตามการบริหารจัดการน้ำ ประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ และประตูระบายน้ำบางแก้ว ตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 ได้แก่ มาตรการที่ 2 : การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก ซึ่งกรมชลประทาน ได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำยม

โดยเมื่อน้ำจากตอนบนไหลลงมาถึงบริเวณหน้าประตูระบายน้ำ (ปตร.) หาดสะพานจันทร์ จะหน่วงน้ำไว้บริเวณหน้า ปตร. และผันน้ำ

ส่วนหนึ่งเข้าคลองยม-น่าน ผ่านทางประตูระบายน้ำหกบาท ก่อนจะผันน้ำลงแม่น้ำน่าน และแม่น้ำยมสายเก่า พร้อมกับควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่าน ปตร.หาดสะพานจันทร์ ในอัตราสูงสุดไม่เกิน 680 ลบ.ม./วินาที จากนั้นจะผันน้ำเข้าคลองเล็กทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำยม ปริมาณน้ำส่วนหนึ่งจะถูกส่งเข้าคลองไปเก็บกักไว้ในทุ่งทะเลหลวง รวมไปถึงแก้มลิงต่างๆ ที่ยังสามารถรับน้ำได้

ทั้งนี้ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัย (สถานี Y.4) ในอัตราสูงสุดไม่เกิน 510 ลบ.ม./วินาที โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัย รวมทั้งการผันน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำโมเดล นอกจากช่วยบรรเทาน้ำท่วมพื้นที่อื่นแล้ว ประชาชนในพื้นที่บางระกำโมเดลยังได้ประโยชน์จากน้ำท่วมในด้านการประมงและมีน้ำต้นทุนไว้ใช้ในการเพาะปลูกในฤดูถัดไปซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการน้ำได้ตามแผนที่วางไว้ ตามนโยบายของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี