เผยแพร่ |
---|
หลังจากที่ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ อาร์เอส กรุ๊ป ได้ประกาศ นโยบาย “RS Diversity” ให้สวัสดิการเท่าเทียมแก่พนักงาน อาทิ วันลาและเงินสนับสนุนการสมรสเท่าเทียม ทั้งการสมรสแบบชาย–หญิง หรือสมรสเพศเดียวกัน รวมทั้งให้วันลาผ่าตัดแปลงเพศเป็นจำนวน 45 วัน เท่ากับสวัสดิการการลาคลอด ไปแล้วนั้น ในการนี้ เพื่อเป็นการสานต่อโครงการ “RS Diversity” และเดินหน้าสนับสนุนความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม อาร์เอส กรุ๊ป และพนักงานอาร์เอส อาสา จึงขอส่งมอบแรงบันดาลใจและแบ่งปันองค์ความรู้ให้แก่เยาวชน โดยร่วมมือกับสำนักงานเขตจตุจักร และสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ จัดกิจกรรม “Zero Tolerance of Bullying: ยุติการบูลลี่ให้เป็นศูนย์” เปิดโอกาสให้เยาวชนจากโรงเรียน เสนานิคมและโรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์ กว่า 200 คน ได้เรียนรู้ เข้าใจ และยอมรับความหลากหลาย พร้อมรับมือการถูกกลั่นแกล้ง โดยมี คุณฐณณ ธนกรประภา, แพทย์หญิงศุทรา เอื้ออภิสิทธิ์วงศ์ และคุณเขื่อน-ภัทรดนัย เสตสุวรรณ ร่วมเป็นวิทยากร
คุณนิธิกานต์ จิตเจริญ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารสายงานภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เผยว่า “กิจกรรมยุติการบูลลี่ให้เป็นศูนย์ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘RS Diversity’ ที่นอกจากจะเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนได้แสดงความสามารถในการทำงานอย่างเต็มที่และมีการพัฒนาเรื่องสวัสดิการเท่าเทียมของพนักงานภายในองค์กรแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับชุมชนรอบๆ บริษัทฯ โดยครั้งนี้ มุ่งเน้นให้ความรู้และรณรงค์ให้เยาวชนในระดับมัธยมต้นได้เข้าใจตนเอง เข้าใจความหลากหลาย และยอมรับความแตกต่าง ไม่ว่าจะในด้านความหลากหลายทางเพศ รูปร่างหน้าตา ไลฟ์สไตล์ และรสนิยมส่วนตัว อาร์เอส กรุ๊ป จึงใช้กิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นเครื่องมือในการสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างจิตสำนึกให้แก่เยาวชนให้เคารพสิทธิเสรีภาพของกันและกัน ทุกคนมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออก แต่ต้องดูกาลเทศะและมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนปรับเปลี่ยนหรือหลีกเลี่ยงพฤติกรรมการกลั่นแกล้งรังแกกันทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งต่อหน้าและบนโลกออนไลน์”
คุณฐณณ ธนกรประภา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ โฟร์ท แอปเปิ้ล บริษัทในเครืออาร์เอส กรุ๊ป ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการสร้างคอนเทนต์และการตลาดดิจิทัล มองถึงสถานการณ์บูลลี่ทางออนไลน์ในสังคมไทย ว่า “จากสถิติโลกพบว่า ประเทศไทยติดอันดับ 2 ของโลก เรื่องนักเรียนไทยโดนบูลลี่ในโรงเรียน แสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีแต่จำนวนผู้ถูกกระทำเท่านั้น แต่คนที่เป็นฝ่ายกระทำก็สูงเช่นกัน เพราะการบูลลี่ต้องมีทั้ง 2 ฝั่ง ปัจจุบันโลกเราอยู่ในจุดที่ต้องการมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน การคิดถึงหัวอกคนอื่นเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมี บางทีเรากลายเป็นผู้กระทำโดยไม่ตั้งใจ ต้องพยายามระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะโลกโซเชียล การที่จะโพสต์หรือทำอะไรลงไป เราไม่เห็นหน้าอีกฝั่งหนึ่ง เลยทำให้เราตัดสินใจง่ายในการพิมพ์ อยากให้ทุกคนฉุกคิดก่อนจะโพสต์ ถ้าไม่นึกถึงคนอื่น นึกถึงตัวเองก็ดี การที่เราโพสต์อะไรลงไปในโซเชียล มันจะเป็น Digital footprint ที่ติดตัวเราไป วันนี้คุณอาจเป็นผู้กระทำ แต่วันหนึ่งคุณอาจจะกลายเป็นเหยื่อจากผลการกระทำในอดีตของคุณก็ได้”
ด้าน แพทย์หญิงศุทรา เอื้ออภิสิทธิ์วงศ์ แพทย์ชำนาญการพิเศษ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวถึงทักษะเมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์การถูกกลั่นแกล้งว่า “อย่างแรกเลยคือ เพิกเฉย ไม่ต้องสนใจคนที่มาแหย่เรา หรือข้อความที่โพสต์ทางออนไลน์ ถ้าเราไม่อ่านหรือมองข้ามไปก็เป็นวิธีแรกที่เราสามารถทำได้ หากเริ่มรุนแรงและรบกวนเรา ก็ต้องปกป้องตัวเอง ในที่นี้ไม่ได้สนับสนุนให้แรงมาแรงกลับ หรือทำร้ายคืน หากทำแบบนั้นจะเป็นการสร้างวงจรของการรังแกกันไปเรื่อยๆ การปกป้องตัวเองนี้ เป็นการบ่งบอกว่าเราไม่ชอบการกะทำแบบนี้ ถ้าปกป้องตัวเองได้ ปฏิเสธและหนักแน่นได้ เพื่อนหรือคนที่กลั้นแกล้งเราอาจจะหยุดทำแบบนั้น แต่ถ้าเพิกเฉยและปกป้องตัวเองแล้ว ก็ยังไม่สำเร็จ ก็ต้องขอความช่วยเหลือ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก อย่ามองว่าการขอความช่วยเหลือเป็นเรื่องของคนที่อ่อนแอ ให้มองว่าเป็นเรื่องที่กล้าหาญ การขอความช่วยเหลือจากใครก็ตามที่เรารู้สึกไว้ใจจะช่วยให้เราพ้นจากความรู้สึกนี้ได้”
อาจารย์ชุมศรี ไพบูลย์กุลกร ผู้อำนวยการโรงเรียนเสนานิคม หนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ กล่าวว่า “ต้องยอมรับว่าเด็กมัธยมต้นเป็นวัยที่เริ่มต้นเข้าสู่วัยรุ่น มีสังคม มีการเรียนรู้ ชอบใช้สื่อโซเชียล บางครั้งเด็กไม่รู้ตัวเองหรอกว่านี่พูดแบบนี้ ทำแบบนี้คือการบูลลี่ บางทีพูดเพื่ออยากจะสนิทสนมกับเพื่อน เป็นการพูดออกไปโดยไม่ได้คิดถึงผลที่จะตามมา กิจกรรมวันนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้คิด ได้กลับมาดูตัวเองและรู้จักตัวเองมากขึ้น ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก แต่ต้องอยู่ในมารยาทของการแสดงออก และไม่ทำร้ายจิตใจคนอื่น การแสดงความคิดเห็น ต้องคิดให้รอบครอบมากขึ้น คิดก่อนว่าจะทำร้ายจิตใจใครหรือเปล่า”
เด็กหญิงรัชณี เมฆศรี ตัวแทนเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ บอกว่า “หนูเองก็เจอประสบการณ์จริงๆ ทั้งโดนกระทำและเป็นคนกระทำเอง มันวนลูปอยู่แบบนี้ แต่หนูถูกกระทำมากกว่า เป็นเรื่องคำพูด หนูเป็นเด็กกิจกรรม มีคาแรคเตอร์เป็นของตัวเอง กล้าแสดงออก กล้าพูดว่าอันนี้ใช่หรือไม่ใช่ แต่บางครั้งอาจจะลืมคิดไปว่า คำพูดของเราบางครั้งอาจจะกระทบจิตใจคนฟังโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจก็ได้ กิจกรรมวันนี้ดีมากๆ เลยค่ะ ต้องขอบคุณทางผู้ใหญ่ใจดีที่จัดกิจกรรมแบบนี้ขึ้นมา มันตรงกับชีวิตพวกหนูตอนนี้มากๆ ทำให้หนูได้เปิดใจ ได้คุยปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ ได้เรียนรู้และนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ค่ะ”
ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสาร และความเคลื่อนไหวต่างๆ ของ อาร์เอส กรุ๊ป ได้ที่ www.rs.co.th และ https://www.facebook.com/RSGROUPOFFICIAL