เพราะอีกไม่นานก็ Final Call…ชวนคุย 10โจทย์ ตั้งหลักเปิดประเทศ สู่ท่องเที่ยวยั่งยืน หลังโควิด

โดย วรวิทย์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ

 

ตอนนี้เราผ่านความไม่รู้(จักโควิด) ผ่านความไม่มี(วัคซีน) และกำลังผ่านความไม่กลัว(การเปิดประเทศ)แล้ว ช่วยแบ่งปันและเป็นกำลังใจให้กันและกันต่อไป วันนี้ลองมาคุย 10 โจทย์นี้กันนะครับ

  1. เปลี่ยนการท่องเที่ยวเป็น “เครื่องมือสู่ความยั่งยืน” รับและคัดนักท่องเที่ยวคุณภาพ ที่รักสิ่งแวดล้อม ชอบเรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์ กิจกรรมใหม่ๆ” ไม่ใช้ท่องเที่ยวเป็นแค่ เป้าหมาย” ของการเพิ่มตัวเลขนักท่องเที่ยวและตัวเลขรายได้รวมเท่านั้น เพราะความจริง คือ ช่วง1-2 ปีนี้ ไม่น่าจะมีตัวเลขเท่าก่อนโควิด และถ้ายังใช้ตัวเลข เป็นตัววัดความสำเร็จ ปัญหาจะวนกลับไปที่เดิม ไม่ยั่งยืน
  2. ใช้การท่องเที่ยว เป็นอีกเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ กระจายหมุนเวียนรายได้ และโอกาส ให้ลึกลงไปถึงชุมชน ผ่านนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองหลักเมืองรอง ทั้งนี้ชาวเมืองรองต้องไม่ไปกู้หนี้ยืมสิน มาทำสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรมากนัก เพราะนักท่องเที่ยวต้องการสัมผัสความเป็นธรรมชาติ วิถีชีวิตปกติของชาวบ้านมากกว่า และขอเน้นว่า ท่องเที่ยวชุมชนเป็นรายได้เสริม ไม่หวังเป็นรายได้หลัก
  3. สร้าง “ความสะดวกและปลอดภัย” เป็นหลักใหญ่ ทั้งทางกายภาพและสุขภาพ เช่น การนำเทคโนโลยีมาช่วยการจอง การจ่ายให้ง่าย การจัด Carrying Capacity ของแหล่งท่องเที่ยว ไม่ให้แน่นล้น รักษามาตรฐานความสะอาด สุขอนามัยของสถานที่และบริการต่างๆ

  1. ลองทำ Sandbox เก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยว จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีกฎหมายตั้งแต่ปี 62 แล้ว ( ซึ่งไม่ใช่ค่าเหยียบแผ่นดิน ฟรีๆ ) เริ่มในบางจังหวัดที่สนใจหรือสมัครใจ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เสนอไว้ที่ประมาณ 300 บ.ต่อคนหรือประมาณ 10 เหรียญดอลล่าห์สหรัฐ ซื่งไม่มากไม่น่าจะเป็นภาระของนักท่องเที่ยวคุณภาพ เพื่อกระทรวงจะนำไปใช้ประโยชน์ 2 เรื่อง คือ ซื้อประกันภัยให้นักท่องเที่ยวนั้น ใช้รักษาพยาบาล เมื่อเกิดเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ โดยไม่ต้องรบกวนงบประมาณของรัฐ มาดูแลเหมือนที่ผ่านมาหลายๆปีแล้ว และนำภาษีนี้ ไปปรับปรุงและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ที่ทรุดโทรมไปมากแล้ว เพราะหน่วยงานท้องถิ่น ไม่มีงบประมาณ เหลือพอไปทำเรื่องนี้ ยังเป็นการช่วยจ้างงานในพื้นที่ สร้างการมีส่วนร่วม และหวงแหนรักษาแหล่งท่องเที่ยวได้ด้วย ลองดู 6 เดือนแล้วมาประเมิน ถ้าดีก็ขยายเป็นโมเดลไปพื้นที่อื่นต่อไป

 

  1. รวมพลังของ Sport Tourism ทั้งระดับ World Event ลงจนถึงระดับจังหวัด และส่งเสริมสนับสนุนจริงๆ ให้คนไทยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การแข่งขันกีฬาระดับโลกเพิ่มอีก เหมือนเช่นเจ็ตสกี ให้ออกไปเก็บเงินต่างชาติถึงเมืองนอกได้ ทำกีฬาให้เป็นอาชีพ ต่อยอดอุตสาหกรรมกีฬาครบวงจร

 

  1. อัพเกรดบุคลากรด้านท่องเที่ยว เพราะรอยยิ้มและน้ำใจคนไทย ไม่ต้องสอนก็มีมาแต่เกิดแล้ว เรามาเติมทักษะในความเป็นมืออาชีพอีกหน่อย เช่น ภาษาที่3 ได้แก่ จีน รัสเซีย

อาหรับ ทักษะการโรงแรม รวมถึงการแก้กฎหมายให้ไกด์หรือมัคคุเทศน์ รับงานเองได้อย่างอิสระ ไม่ต้องถูกบังคับรับงานผ่านบริษัททัวร์ ส่วนบริษัททัวร์ก็ต้องเพิ่มความชำนาญ ที่ไม่ใช่แค่จองโน่นนี่ พาไปไหนมาไหน แต่ต้องสามารถให้ข้อมูลและคำแนะนำ ที่มากกว่าในอินเทอร์เน็ต เพราะเราอยู่ในพื้นที่จริง มองเห็นหน้างานมาตลอด เช่น กิจกรรม Adventure ต้องไปที่ไหนจึงจะปลอดภัย อุปกรณ์ได้มาตรฐาน ประมาณว่ามาแต่ตัว ถึงไทยแล้วมีของครบพร้อมรออยู่ จ่ายแค่เงินแล้ว ไม่ต้องยุ่งยากเสียเวลา หรือหงุดหงิดกวนใจ

  1. จัดแหล่งเงินทุนให้เอกชนภาคท่องเที่ยว ที่ยังสู้ ยังไหวอยู่ หรือที่รอดวิกฤตโควิดมาได้ ด้วยเงื่อนไขผ่อนปรน ที่กู้ได้จริง เพื่อใช้ปรับปรุงพื้นที่ โรงแรม ร้านค้า ยื่นจดทะเบียนต่างๆให้ถูกกฎหมาย รวมไปถึงผู้ประกอบการรายใหม่ที่เป็น Start-up มี Idea ธุรกิจท่องเที่ยวในยุคดิจิทัล เคยเสนอตั้ง “ธนาคารท่องเที่ยว” ไว้ เพราะท่องเที่ยวเรา เคยสร้างรายได้เป็น 20% ของ GDPไทยมาแล้วด้วย

 

  1. เพิ่มแรงไทยเที่ยวไทย ที่ยังไปได้ดี และเสนอให้ใครที่เที่ยวไทย เอามาหักลดภาษีได้ตลอดไป ซึ่งเคยทำแล้วเมื่อปี 61หักได้แค่คนละ15,000 บ.ยังได้ผลพอสมควร ลองขยับเป็น 30,000 หรือ 50,000 บ. เร่งช่วงครื่งปีหลัง 65นี้เลย ให้ทันช่วงไฮซีซั่นพอดี เพราะไทยเที่ยวไทย เงินทองไม่หายไปไหนแน่

 

  1. ลดการพี่งพาตลาดต่างประเทศใด ตลาดหนื่งเป็นหลักมากเกินไป เพราะหลังโควิด หลายประเทศ จำเป็นต้องเลือกใช้นโยบาย Domestic Consumtion กระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ

  1. เลือกใช้หลัก ESG เพื่อส่งต่อสิ่งดีๆให้ลูกหลาน ด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่สากลรณรงค์กันในปัจจุบัน E มาจาก Environment หมายถึง สิ่งแวดล้อม S มาจาก Social คือ การปฏิบัติที่ดึงภาคสังคม มามีบทบาท ร่วมดูแลกันและกันอย่างเต็มที่

และ G มาจาก Governance เน้นที่ธรรมาภิบาล ในการจัดการในทุกๆเรื่องราว

 

ได้โปรดลองคิดลองทำกันเถอะครับ เพราะทุกคำตอบอาจเป็นทั้ง “ทางเลือกและทางรอด” ได้นะครับ

#เปิดประเทศ

#ท่องเที่ยวยั่งยืน

#โควิด19

#sandbox

#sporttourism

#ESG