ทันตฯ มหิดล ผ่าตัดสร้างขากรรไกร โดยใช้กระดูกน่องและต่อเส้นเลือด ร่วมกับการใส่ฟันปลอมยึดด้วยรากเทียม ( Fibula Jaw in a day) ครั้งแรกในประเทศไทย

กรุงเทพฯ 9 มิถุนายน 2565ใบหน้าและขากรรไกรถือเป็นโครงสร้างที่ซับซ้อนในการรักษา นอกจากประกอบด้วยโครงสร้างที่ควรมีความสมมาตรสวยงาม แต่ยังรวมไปถึงระบบบดเคี้ยวและการสบฟันที่ดี ที่ทำให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มะเร็งช่องปากและเนื้องอกในช่องปากถือว่าเป็นโรคที่พบได้บ่อย การรักษาด้วยการผ่าตัดยังคงเป็นการรักษาหลัก แต่ขั้นตอนมีความซับซ้อนและยุ่งยาก กว่าจะได้ใบหน้าและการสบฟันที่ดี คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล ได้ผ่าตัดเนื้องอกในช่องปากและสร้างขากรรไกรโดยใช้กระดูกน่องและต่อเส้นเลือดร่วมกับการใส่ฟันปลอมยึดด้วยรากเทียมครั้งแรกในประเทศไทย นับเป็นการยกระดับการบูรณะขากรรไกรอย่างครบวงจรตั้งแต่ขั้นตอน การผ่าตัดนำกระดูกขากรรไกรออก ต่อเนื่องไปถึงการใช้ระบบคอมพิวเตอร์วางแผน 3 มิติ ในการนำกระดูกน่องมาบูรณะบริเวณช่องปาก ซึ่งได้ลดระยะเวลาการรักษาเป็นอย่างมาก ผลการรักษามีความแม่นยำ เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีต่อผู้ป่วย นับเป็นอีกก้าวสำคัญของประเทศไทยที่ยกระดับการผ่าตัดบูรณะใบหน้าและขากรรไกรให้สำเร็จเร็วขึ้นและปลอดภัย

 

  รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ทันตแพทย์ศิริชัย เกียรติถาวรเจริญ (Sirichai Kiattavorncharoen) คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ฯ กล่าวว่า คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ให้การผ่าตัดและดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของใบหน้าและขากรรไกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่าตัดรักษามะเร็งและเนื้องอกในช่องปาก มีการส่งแพทย์และทันตแพทย์เรียนต่อเฉพาะทาง ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เพิ่มขีดความสามารถในการผ่าตัดที่ยุ่งยากและซับซ้อนขึ้น ปัจจุบันมีทีมผ่าตัดที่มีความเชี่ยวชาญ โดยสามารถให้การรักษาอย่างเป็นองค์รวม และสามารถให้การรักษาตั้งแต่ผ่าตัดจนกระทั่งถึงการบูรณะการบดเคี้ยวได้เป็นอย่างดี โดยบุคลากรของโรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถดูแลช่องปากผู้ป่วยได้อย่างเป็นองค์รวม และ วางแผนที่จะพัฒนาเป็น Excellence Center ด้านการผ่าตัดเนื้องอกและมะเร็งช่องปากในอนาคตอันใกล้

   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์สุรกิจ วิสุทธิวัฒนากร (Surakit Visuttiwattanakorn) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทันตกรรมคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความสำคัญเรื่องการให้บริการอย่างมีคุณภาพ ตามมาตรฐานวิชาชีพ และเคารพในสิทธิของผู้ป่วย ทุกคน และให้บริการอย่างเท่าเทียม สนับสนุนให้มีการพัฒนาศักยภาพบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์ทางทันตกรรมที่ทันสมัยและมีเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัย ตามเกณฑ์การพัฒนาคุณภาพของ HA รวมทั้งสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพแก่ผู้มารับบริการและประชาชน

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ยุทธศักดิ์ เกรียงเชิดศักดิ์ (Yutthasak Kriangcherdsak) หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล ได้กล่าวว่า ภาควิชาฯ มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติซ้ำซ้อนของใบหน้าขากรรไกร เนื่องด้วยปัจจุบัน การรักษาทางการแพทย์ส่วนใหญ่ได้มีการพัฒนานำเทคโนโลยี 3 มิติมาใช้ ทางภาควิชาฯ จึงได้มีการจัดหา โปรแกรมวางแผน 3 มิติ เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถ ในการรักษาผู้ป่วยลดระยะเวลาในห้องผ่าตัด และเกิดผลประโยชน์ต่อผู้ป่วยเป็นสูงสุด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ทันตแพทย์บวร คลองน้อย หัวหน้าโครงการและทีมแพทย

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ทันตแพทย์บวร คลองน้อย (Boworn Klongnoi) หัวหน้าโครงการและทีมแพทย์ภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การนำกระดูกน่องและเส้นเลือดมาบูรณะขากรรไกรถือเป็นหัตถการที่ทำเพื่อบูรณะรอยโรคในช่องปากที่ต้องได้รับการตัดขากรรไกรมาอย่างยาวนาน โดยมีการใช้ครั้งแรกเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ประเทศไทยเริ่มนำกระดูกน่องมาบูรณะขากรรไกร ในช่วงเวลาประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีครั้งใดที่สามารถบูรณะกระดูกขากรรไกรต่อเนื่องไปจนถึงการบูรณะฟันให้คนไข้สำเร็จภายในการรักษาเพียงครั้งเดียว ซึ่งการผ่าตัดในครั้งนี้ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการบูรณะขากรรไกรให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย โดยที่หากไม่ได้รับการรักษาบูรณะและทำฟันปลอมในห้องผ่าตัดเลย อาจจะต้องรอ อย่างน้อย 1-2 ปี จึงจะได้รับการ ใส่ฟันเทียม หรือในบางครั้ง ด้วยความซับซ้อนของการรักษาผู้ป่วยอาจสูญเสียฟันไปเป็นการถาวร

การสร้างขากรรไกรใหม่ โดยใช้กระดูกน่องและต่อเส้นเลือด ร่วมกับการใส่ฟันปลอมยึดด้วยรากเทียม ( Fibula Jaw in a day)

อาจารย์ นายแพทย์ ทันตแพทย์คณิน อรุณากูร แพทย์เจ้าของไข้

                อาจารย์ นายแพทย์ ทันตแพทย์คณิน อรุณากูร (Kanin Arunakul) แพทย์เจ้าของไข้ กล่าวถึงความรู้สึกที่มีต่อการเริ่มต้นวางแผนการรักษาผู้ป่วยรายนี้ในครั้งแรกว่า เนื่องด้วยผู้ป่วยรายนี้ อายุอยู่ในวัย 20 ปี สุขภาพร่างกายแข็งแรง จึงอยากวางแผนบูรณะขากรรไกรและการสบฟันให้ได้ใกล้เคียงเดิมมากที่สุด มีเป้าหมายที่จะทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเคี้ยวอาหาร และใช้ชีวิตปกติได้เช่นเดิมอย่างรวดเร็ว เพื่อสภาวะจิตใจและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย ซึ่งต้องใช้ความรู้ความสามารถและการวางแผนอย่างเป็นองค์รวมจากหลายสาขาและการช่วยวางแผนด้วยวิธีทางดิจิตอล มาพัฒนาการผ่าตัดให้มีความถูกต้องแม่นยำเพื่อให้การรักษาสำเร็จทั้งหมดในขั้นตอนเดียว หรือเรียกการผ่าตัดลักษณะนี้ว่า “Jaw in a Day” โดยตนยังเชื่อมั่นในทีมผ่าตัดและทีมใส่ฟัน จึงตัดสินใจเลือกการวางแผนการรักษานี้ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่แพทย์สามารถสร้างให้ผู้ป่วยได้

ผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดขากรรไกรล่างออกไปเพราะเนื้องอก ซึ่งจะสูญเสียฟันออกไปด้วย 10 ซี่ แต่ด้วยเทคนิค Fibula Jaw in a day ผู้ป่วยสามารถมีฟันติดแน่นออกจากห้องผ่าตัดได้เลย ไม่ต้องรออีกหลายปีเหมือนที่ผ่านมา เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิต และยกมาตรฐานการรักษาสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ในประเทศไทย

       อาจารย์ ทันตแพทย์หญิงวรุตตา เกษมศานติ์ (Warutta Kasemsarn) อาจารย์ผู้มีประสบการณ์ในการใช้เทคโนโลยี 3 มิติมาใช้วางแผนการรักษาทางศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล ได้กล่าวถึงขั้นตอนการวางแผนการผ่าตัด โดยเริ่มต้นจากการตรวจใบหน้า การเอกซเรย์สามมิติของกะโหลกศีรษะ การใช้เทคโนโลยี สแกนช่องปาก เพื่อนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดเข้าวางแผนในโปรแกรม 3 มิติ จำลองการผ่าตัดขากรรไกรบริเวณที่มีรอยโรคออกไป และใช้เอกซเรย์ 3 มิติของกระดูกน่องมาทดแทน โดยวางแผนในโปรแกรมเพื่อให้เกิดความแม่นยำ และลดระยะเวลาการตัดแต่งในห้องผ่าตัด ทั้งนี้ได้มีการจัดทำแบบนำร่องการตัดกระดูกขากรรไกร และแบบนำร่องการตัดกระดูกน่อง (surgical guide) ให้มีความพอดีกัน เมื่อผ่าตัดกระดูกขากรรไกรที่มีรอยโรคออกไปจึงมีการวางตำแหน่งของกระดูกน่องให้เป็นไปตามแนวของรากเทียมและฟันเทียม เพื่อให้สามารถบูรณะการสบฟันของผู้ป่วยในห้องผ่าตัดได้ทันที โดยการทำวิธีนี้ต้องอาศัยความรู้ ความร่วมมือ และเทคโนโลยีด้านโปรแกรม 3 มิติ โดยจะมีการพิมพ์ชิ้นงาน surgical guide โมเดลขากรรไกรสามมิติ และเหล็กยึดกระดูกเฉพาะบุคคล การบูรณะโดยวิธีการดังกล่าวในต่างประเทศเริ่มนำมาใช้ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ในประเทศไทยเริ่มมีการนำมาใช้ช่วง 2-3 ปีนี้ ซึ่งถือเป็นความท้าทายและอาจเป็นมาตรฐานใหม่ของการบูรณะขากรรไกร

การออกแบบการรักษาผ่านระบบดิจิทัล

    อาจารย์ ทันตแพทย์หญิงสุขกาญจน์ เต็มคำขวัญ (Sukkarn Themkumkwun) หนึ่งในทีมทันตแพทย์ผู้ผ่าตัดกล่าวว่า ความสำเร็จครั้งแรกของประเทศไทยในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการมีความตั้งใจที่จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีที่สุด แม้ว่าจะต้องมีความยุ่งยากในการวางแผนมากขึ้นแต่การทำการวางแผนโดยโปรแกรม 3 มิติมาก่อน ทำให้ลดเวลาในการผ่าตัดได้มาก ซึ่งมีผลต่อความสำเร็จในการรักษา เนื่องจากเป็นการนำกระดูกและเส้นเลือดจากบริเวณขามาต่อกับเส้นเลือดที่ลำคอ หากใช้เวลาในการผ่าตัดนานเกินไปอาจทำให้เนื้อเยื่อที่นำมาปลูกไม่รอดชีวิต นอกจากทีมผ่าตัดแล้วก็ยังมีทีมคณาจารย์ของภาควิชาฯ ทันตแพทย์ประจำบ้านและบุคลากรที่ช่วยกันสนับสนุนการรักษาเริ่มตั้งแต่การวางแผนการผ่าตัด การผ่าตัด การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดอย่างดีตลอดมา จึงทำให้การรักษาประสบผลสำเร็จ และเป็นการยกระดับที่มีความสำคัญของประเทศไทย ซึ่งการผ่าตัดผู้ป่วยในครั้งนี้ยังได้เป็นการสร้างมาตรฐานและเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีของการผ่าตัดบริเวณใบหน้าและขากรรไกรที่ประสบผลสำเร็จ เป็นการแสดงให้เห็นว่าทีมแพทย์ของประเทศไทยนั้น มีศักยภาพไม่น้อยไปกว่าประเทศอื่น

โดยความสำเร็จของการผ่าตัดการสร้างขากรรไกรโดยใช้กระดูกน่องและต่อเส้นเลือดร่วมกับการใส่ฟันปลอมยึดด้วยรากเทียม ครั้งแรกในประเทศไทยครั้งนี้ จากการผนึกกำลังของทีมแพทย์ ทันตแพทย์คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วยทีมทันตแพทย์ ศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล และ ทันตแพทย์เฉพาะทางสาขาทันตกรรมประดิษฐ์ โดย อาจารย์ ทันตแพทย์ปริญญา อมรเศรษฐชัย (Parinya Amornsettachai) ได้วางแผนการสบฟันให้เหมือนเดิม โดยนำเอาโปรแกรมวางแผนตำแหน่งรากเทียมที่ช่วยยึดฟันเทียม ทำให้สามารถลดระยะเวลาในการรอใส่ฟันเทียมไปได้มากกว่าปี ผู้ป่วยกลับมามีโครงสร้างใบหน้าที่ดีเหมือนก่อนผ่าตัด หายจากโรคเนื้องอกในช่องปากและมีการสบฟันที่ดีทันทีหลังการผ่าตัด มีรอยยิ้มที่สวยงาม มีการใช้เทคโนโลยีทางด้าน ดิจิทัล มาช่วยในการสร้างชิ้นงานตั้งแต่ก่อนทำการผ่าตัด ซึ่งทำให้ผลของการรักษามีความแม่นยำที่สุด เพื่อให้การทำงานในห้องผ่าตัดเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

รายชื่อทีมแพทย์ผู้ผ่าตัด

1.      ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ทันตแพทย์บวร คลองน้อย ภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

2.      อาจารย์ นายแพทย์ ทันตแพทย์คณิน อรุณากูร ภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

3.      อาจารย์ ทันตแพทย์หญิงวรุตตา เกษมศานติ์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

4.      อาจารย์ ทันตแพทย์หญิงสุขกาญจน์ เต็มคำขวัญ ภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

5.      อาจารย์ ทันตแพทย์ปริญญา อมรเศรษฐชัย ภาควิชาทันตกรรมทั่วไปขั้นสูง คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล