CMMU ผนึก EXIM BANK เคาะ 3 กลไกสำคัญ หนุนศักยภาพเด็กไทย สร้างธุรกิจทันทีหลังเรียนจบ พร้อมขยายโอกาสที่การค้าในต่างประเทศ

ดร. รักษ์ วรกิจโภคาทร และ รศ. ดร. วิชิตา รักธรรม บันทึกข้อตกลงร่วมกัน

·      CMMU ตอกย้ำความเป็น Modern Business School จุดประกายให้นักศึกษา/ศิษย์เก่าของ CMMU ที่สนใจประกอบธุรกิจ ให้สามารถเติบโตเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ได้ในอนาคต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

·      CMMU ร่วมกับ EXIM BANK ส่งต่อแรงกระเพื่อมพัฒนานักศึกษาสู่นักธุรกิจตัวจริง ผ่าน 3 ด้านหลัก ดังนี้ 1. แลกเปลี่ยนองค์ความรู้วิชาการด้านการค้าระหว่างประเทศและการส่งออก 2. การบริหารจัดการองค์กรและการบริหารจัดการด้านนวัตกรรม 3. การเข้าถึงช่องทางบริการทางการเงินด้านต่างๆ

กรุงเทพฯ 12 เมษายน 2565 วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) ตอกย้ำพันธกิจ การผลิตนักศึกษาที่มีศักยภาพสูงเพื่อธุรกิจยุคใหม่ ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) บันทึกข้อตกลง ความร่วมมือในการส่งเสริมความรู้และพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจให้กับนักศึกษาและผู้ประกอบการไทย ตั้งมั่นบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพ สนับสนุน และส่งเสริมความรู้ให้แก่นักศึกษา ศิษย์เก่าของ CMMU ในด้านการประกอบธุรกิจ รวมถึงการค้าระหว่างประเทศ ให้สามารถเติบโตเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ได้ในอนาคต และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน พร้อมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ หัวข้อ SHIFT ธุรกิจ คิดต่างอย่าง NEXT NORMALแลกเปลี่ยนความรู้ประเด็น SMEs ควรปรับวิธีคิดและทำธุรกิจอย่างไรให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและโอกาสความสำเร็จ โดยกูรูในแวดวงการศึกษาและผู้ประกอบการตัวจริง

รศ. ดร. วิชิตา รักธรรม คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดให้การเรียนการสอนในระดับชั้นปริญญาโท และปริญญาเอก ด้านการจัดการ ทั้งในหลักสูตรไทยและหลักสูตรนานาชาติโดยเป็น Business School เพียง 5% ของโลกเท่านั้นที่ได้รับการรับรองจากสถาบัน AACSB ซึ่งเป็นสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจและการบัญชีระดับสากล และจากพันธกิจที่ต้องการพัฒนานักศึกษาของ CMMU ให้เป็นผู้เล่นตัวจริง MVP ที่มีศักยภาพสูงออกสู่ภาคธุรกิจรับปี 2565 และจะเข้มข้นยิ่งขึ้นในปีต่อๆ ไปนั้น วิทยาลัยฯ จึงชูสาขาหนึ่งในหลักสูตรไทย คือ สาขาภาวะผู้ประกอบการและนวัตกรรม (Entrepreneurship and Innovation: EI) ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการใหม่ และผู้ประกอบการที่ต้องการไปต่อยอดธุรกิจเดิมที่มีอยู่ด้วยแนวคิดความคิดที่แตกต่าง โดยปัจจุบันได้มีการสร้างผู้ประกอบการมากว่า 500 คน ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา และด้วยการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และสภาพเศรษฐกิจในประเทศ จึงมีแนวความคิดในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้ผู้ประกอบการ Startups SMEs หรือ IDEs (InnovationDriven Entrepreneurs) นั้นสามารถที่จะทรานส์ฟอร์มธุรกิจของตนเองได้ และสามารถที่จะขยายธุรกิจไปสู่โอกาสที่ใหญ่กว่าโอกาสในประเทศได้

รศ. ดร. วิชิตา กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า สาขาภาวะผู้ประกอบการและนวัตกรรม CMMU ได้ร่วมมือกับ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ซึ่งเป็นสถาบันทางการเงินระดับแนวหน้าของประเทศ ที่ครบครันด้วยทรัพยากร วิสัยทัศน์ และองค์ความรู้ที่เป็นเลิศทางด้านการเงินและภาคปฏิบัติในโลกธุรกิจ จึงมั่นใจในการระดมพลังในการส่งต่อแรงกระเพื่อมเพื่อพัฒนานักศึกษา ศิษย์เก่าของ CMMU ที่มีความสนใจประกอบธุรกิจต่างๆ จากโลกการศึกษา ให้สามารถเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ในโลกการทำธุรกิจจริงได้ อันเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนภาคธุรกิจ องค์กร และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านความร่วมมือ 3 ด้านหลัก ดังนี้ 1. การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้วิชาการด้านการค้าระหว่างประเทศและการส่งออก จัดกิจกรรมการสอนและการอบรมให้ความรู้สำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงการลงทุนในประเทศเพื่อการพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐ อาทิ SCurve EEC 2. การบริหารจัดการองค์กรและการบริหารจัดการด้านนวัตกรรม จัดสัมมนาทางวิชาการ การจับคู่ธุรกิจ ผู้ประกอบการไทยแลกเปลี่ยนความรู้ การวิจัยข้อมูลร่วมกัน เพื่อพัฒนาศักยภาพให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และ 3. การเข้าถึงช่องทางบริการทางการเงินด้านต่างๆ มีช่องทางในการสร้างโอกาสกับสถาบันการเงินทั้งระหว่างเรียนและจบการศึกษา

ด้าน ดร. รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง EXIM BANK กับ CMMU มีเป้าหมายเพื่อสานพลังความร่วมมือในการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านการบริหารจัดการธุรกิจด้วยนวัตกรรมป้อนเข้าสู่ภาคธุรกิจ โดย EXIM BANK พร้อมสนับสนุนทั้งความรู้และเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการไทย เพื่อเพิ่มจำนวนนักรบเศรษฐกิจไทยในเวทีการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันใช้ความสามารถพิเศษขององค์กรเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยอย่างยั่งยืนในโลกยุค Next Normal กระตุ้นและผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยมีความคล่องตัว (Agility) ในการตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป มีความยืดหยุ่น (Resilience) ในการนำความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีตมาพัฒนาธุรกิจ และปิดช่องโหว่ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ตลอดจนพร้อมปรับเปลี่ยนหรือแปลงร่างธุรกิจ (Transformation) ตั้งแต่แนวคิดไปจนถึงกระบวนการดำเนินธุรกิจให้สอดรับและก้าวทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวต่อว่า ในโลกยุค Next Normal EXIM BANK พร้อมทำหน้าที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย ดำเนินภารกิจ ซ่อม สร้าง เสริม และสานพลัง” เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยการซ่อมอุตสาหกรรมไทยที่ประสบปัญหาแต่มีศักยภาพ อาทิ สายการบิน พาณิชยนาวี สร้างอุตสาหกรรมใหม่สู่อนาคต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BioCircularGreen Economy) เสริมอาวุธ SMEs ให้เป็นนักรบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในเวทีโลก และสานพลังกับพันธมิตรจากภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งสถาบันการศึกษา เพื่อบ่มเพาะบุคลากรให้เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง พร้อมสร้างคุณค่าและผลลัพธ์ทางธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของไทยและโลกโดยรวมอย่างยั่งยืน

สามารถฟังย้อนหลัง งานสัมมนาออนไลน์ SHIFT ธุรกิจ คิดต่างอย่าง NEXT NORMALที่ร่วมพูดคุยถึง SME ควรคิดต่างอย่างไร ? สถาบันการเงินควรมีบทบาทอย่างไร ? ผู้ประกอบการจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างไร ? โดยมีวิทยากรกูรูด้านการศึกษา ดร.ตรียุทธ พรหมศิริ ประธานสาขาผู้ประกอบการและนวัตกรรม วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ประกอบการตัวจริงอย่าง คุณทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้บริหาร Qualy Design Brand และคุณภูมิรัติ์ ศิริพจน์โศภณ ผู้บริหาร Ace Star International Trading ผ่านเพจเฟซบุ๊ก Exim Bank of Thailand (https://www.facebook.com/eximbankofthailand) และสำหรับผู้สนใจศึกษาต่อระดับปริญญาโท ปริญญาเอก วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) หลักสูตรไทย และหลักสูตรนานาชาติ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 022062000 หรือทางเพจเฟซบุ๊ก www.facebook.com/CMMUMAHIDOL