กสศ. ผนึกภาคีการศึกษา วอนภาครัฐ-การเมือง ร่วมปลดล็อกความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาพื้นที่ กทม. ตอบโจทย์ความต้องการของเด็กที่หลากหลาย เข้าถึงได้ทุกชุมชน

กรุงเทพฯ 28 มีนาคม 2565 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ผนึกกำลังภาคีการศึกษา จัดเวทีระดมข้อเสนอแก้ปัญหาด้านการศึกษา ครั้งที่ 1 โดยสะท้อนปัญหาและเสนอนโยบายผ่านหัวข้อ กรุงเทพฯ เมืองแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาทั้งภาคีด้านการศึกษา ภาคประชาชน และว่าที่ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. สนับสนุนให้กรุงเทพฯใช้การบริหารรูปแบบการปกครองพิเศษเพื่อจัดการศึกษาด้วยตนเองอย่างอิสระ ตอบโจทย์เด็กทุกกลุ่มที่มีความหลากหลาย และสร้างพื้นที่การเรียนรู้รวมทั้งศูนย์เด็กเล็กกระจายให้ครบทั้ง 50 เขต

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. และอนุกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า โควิด-19 ได้ส่งผลต่อรายได้ของครัวเรือนที่ลดน้อยลงพร้อมกับภาระพึ่งพิงที่เพิ่มขึ้น แม้แต่การย้ายกลับถิ่นฐานล้วนกระทบต่อการศึกษาของเด็ก จากข้อมูลของ กสศ. พบว่าครัวเรือนของเด็กยากจนส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 1,964 บาทต่อคนต่อเดือน ต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศ ซึ่งอยู่ที่ 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน และยังมีปัญหาด้านสภาพจิตใจ ความเครียด การเรียนรู้ถดถอย ฯลฯ นอกจากนี้ จากการสำรวจเด็กยากจนพิเศษในกรุงเทพฯ จำนวน 1,408 คน พบว่า ร้อยละ 4 ยังต้องบริโภคน้ำบาดาล ร้อยละ 59 ไม่มีโทรทัศน์ และในช่วงเรียนออนไลน์มีเด็กยากจนพิเศษเพียงแค่ 7 คนที่มีคอมพิวเตอร์ใช้

ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวต่อว่า จากตัวอย่างระบบการศึกษาที่พัฒนาได้อย่างรวดเร็วในต่างประเทศ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก ดังนั้น ตนเชื่อว่ากรุงเทพฯ จะสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ด้วยกลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ หรือ Area-Based Education: ABE โมเดลจังหวัดจัดการเรียนรู้ตนเองที่เชื่อมโยงเครือข่ายภาคเอกชน และภาคประชาชนเพื่อพัฒนาพื้นที่นำร่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งหลายจังหวัดที่มีขนาดใกล้เคียงกรุงเทพฯ ทดลองแล้วมีประสิทธิภาพในการนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้จริง

รศ.ดร.สมสิริ รุ่งอมรรัตน์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำต้องเริ่มตั้งแต่ต้นทาง เพราะการศึกษาของเด็กปฐมวัยนับเป็นช่วงเวลาทองสำหรับพัฒนาการของเด็กที่จะส่งผลต่อการเติบโตในอนาคต ในปัจจุบันพบว่าศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนยังมีไม่ครบทุกเขต จากการประเมินคุณภาพจากหน่วยงานภายนอกที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดประสบการณ์ทางการเรียนรู้ พบว่ามีเพียงร้อยละ 20 อยู่ในระดับดีมาก และกว่าร้อยละ 50 อยู่ในระดับปานกลางไปจนถึงปรับปรุงเร่งด่วน ทั้งปัญหาด้านหลักสูตรที่มีการจัดการเรียนรู้บุคลาการที่มาเป็นครูในศูนย์เด็กเล็กมีเพียงร้อยละ 15 ที่จบปริญญาตรีด้านปฐมวัย และยังพบปัญหาเรื่องการจัดเก็บฐานข้อมูล ทั้งด้านการจัดเก็บและการส่งต่อให้กับผู้ปกครอง

“การจัดการศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนควรถ่ายโอนให้ไปอยู่ในความดูแลของสำนักงานเขต กทม.เริ่มจากศูนย์ที่มีความพร้อม และคำนึงถึงค่าตอบแทนและสวัสดิการของครูที่จะช่วยสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ส่วนสุดท้ายคือฐานข้อมูลทั้งด้านพัฒนาการและสุขภาพของเด็กต้องถูกส่งต่อไปใช้ประโยชน์ แปลงเป็นข้อมูลที่เข้าใจง่าย และขอฝากโจทย์ถึง ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.ว่าหากตนเองเป็นพ่อแม่ที่มีลูก 3 คน ได้แก่ โรงเรียนรัฐ เอกชน และกทม. จะต้องทำอย่างไรให้ลูกทั้ง 3 คนที่มีความหลากหลายมีการศึกษาได้เท่ากัน และต้องทำงานร่วมมือกับคนที่ทำงานในพื้นที่ให้มากขึ้นอีกด้วย” รศ.ดร.สมสิริ กล่าวสรุป

นางสาวศิริพร พรมวงศ์ หัวหน้าโครงการคลองเตยดีจัง กล่าวว่า เดิมตนเคยทำงานกับเด็กในช่วงประถมศึกษาตอนปลายจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น ทำให้เห็นว่าการปลูกฝังเด็กได้จริงต้องเริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก แต่ในศูนย์เด็กเล็กของชุมชนกลับไม่มีบุคคลากรที่มีคุณภาพมาทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐควรให้การสนับสนุนมากที่สุด เพื่อป้องกันการหลุดออกนอกระบบ ตลอดจนประคับประคองเด็กและครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากพบข้อเท็จจริงด้านคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนที่ว่า เด็กขาดการส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้และกระบวนการความคิดที่เหมาะสมตั้งแต่เด็กเล็ก เด็กถูกดับฝันด้วยฐานะทางสังคมของครอบครัว อีกทั้งผู้ปกครองยังถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย ฯลฯ จากปัญหาทั้งหมดได้ก่อให้สร้างความกดดันหรือผลักภาระให้เด็กวัย 15-16 ปี ต้องออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว จากการทำงานของตนกับเด็ก 100 กว่าคน พบว่ามีเพียง 1 คนเท่านั้นที่เรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย

นางสาวศิริพร กล่าวต่อว่า เริ่มแรกได้แก้ปัญหาด้วยการผลักเด็กให้กลับเข้าไปในระบบ แต่สุดท้ายเด็กก็หลุดออกมาอีกครั้งเพราะไม่มีความสุข จึงใช้วิธีการจดทะเบียนโรงเรียนเอง แม้กฎหมายเปิดให้มีศูนย์การเรียนได้มานานแล้ว แต่ยังคงไม่มีงบประมาณส่งเสริมการจัดการศึกษาเหล่านี้ ดังนั้น ข้อเสนอคือต้องสร้างพื้นที่การเรียนรู้ของเด็กที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ความหลากหลายของเด็ก พร้อมดึงทุกภาคส่วนมาทำงานในพื้นที่ สร้างความร่วมมือกับประชาชน ภาคเอกชน และสนับสนุนในด้านงบประมาณ

ด้านนายเชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวว่า จากการสำรวจพื้นที่การเรียนรู้ “Learning Space ในกรุงเทพฯ พบว่าหลายแห่งยังขาดอุปกรณ์ที่จำเป็น ไม่กระจายครบทุกเขต บางแห่งอยู่ไกลจากชุมชน และถูกออกแบบมาไม่เหมาะสมสำหรับเด็กบางกลุ่มบางวัย และสิ่งสำคัญคือยังขาดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ที่ตอบโจทย์หรือช่วยแก้ปัญหาที่หลากหลายของแต่ละชุมชนได้ ทั้งนี้ ตนเห็นว่าที่ผ่านมารัฐไม่สามารถนำนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้ามาปฏิบัติได้จริง ซึ่งงบประมาณจำนวนนี้สามารถสร้างเป็น Smart City ปรับพื้นที่เรียนรู้สร้างสรรค์ที่จะตอบโจทย์คนทุกช่วงวัย ทั้งเด็กเยาวชน และครอบครัวทั่วกรุงเทพฯ จึงจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือ และแก้กฎระเบียบต่างๆ ที่ทำให้การผลักดันนโยบายนี้มีความต่อเนื่องและสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนได้จริง

ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรม ของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาได้ใน4 ช่องทาง ดังนี้ เว็บไซต์https://www.thaiedreform2022.org เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://web.facebook.com/Thaiedreform2022 ยูทูบช่อง ‘thaiedreform2022’ และทวิตเตอร์ https://twitter.com/Thaiedreform22  

###

บทสัมภาษณ์เพิ่มเติมวิทยากรผู้ร่วมเสวนา

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า สภาพความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยขณะนี้เป็นอันดับ 1 ของโลก ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ จะพบครอบครัวเด็กยากจน 15 กลุ่ม ที่มีตั้งแต่แรงงานเด็ก เด็กในชุมชนแออัด แม่วัยใส หรือเด็กชาติพันธุ์ ล้วนมีภาวะเสี่ยงออกนอกระบบการศึกษา ระบบการศึกษาไทยมุ่งเน้นการสร้างเด็กให้มีความเป็นเลิศทางการศึกษา ยิ่งทำให้เด็กเหล่านี้ไม่มีที่ยืนสำหรับการศึกษาในระบบ เมื่ออกไปแล้วก็กลายเป็นแรงงานที่ไม่มีคุณภาพ จึงเสนอว่า กรุงเทพฯ ควรใช้ศักยภาพที่เป็นเมืองปกครองพิเศษออกแบบการศึกษาของตนเอง มีความเป็นอิสระและไม่ต้องยึดติดกับแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ หรือ Eco System  รองรับเด็กที่มีความหลากหลายแตกต่าง ซึ่งพื้นที่นี้จะเป็นเครื่องมือที่เข้าไปเยียวยาและส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กมีพัฒนาการตามวัย

 

นายเชาวลิต สาดสมัย ครูอาสาของเด็กยากจน กล่าวว่า จากการทำงานกับศูนย์สร้างโอกาสทั้ง 7 แห่งในกรุงเทพฯ มาตลอด 15 ปี ทุก 7 วัน พบว่าหลักสูตรการศึกษาตอบสนองเฉพาะเด็กที่มีฐานะและครอบครัวที่มีความพร้อม รัฐไม่ได้ออกนโยบายที่เข้าใจปัญหาของเด็กยากจนหรือขาดโอกาส และ “ครู” เป็นอีกตัวแปรสำคัญที่รัฐต้องทำให้ครูมีความมั่นคง มีใจในการทำงาน และสร้างแรงบันดาลใจให้เขามีชีวิตดีขึ้น รวมทั้งศูนย์สร้างโอกาสที่ช่วยเหลือเด็กเชิงรุกซึ่งขณะนี้มีเพียง 7 แห่ง ก็ควรทำให้เกิดขึ้นทุกเขตในกรุงเทพฯ ให้ครบทั้ง 50 เขต