บทเรียนจาก ‘วิกฤตคิวบา’ สำหรับ ‘สงครามยูเครน’/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

บทเรียนจาก ‘วิกฤตคิวบา’

สำหรับ ‘สงครามยูเครน’

 

พอเกิดสงครามยูเครนและมีการเอ่ยเอื้อนถึง “สงครามโลกครั้งที่สาม” และ “อาวุธนิวเคลียร์” ท่ามกลางความตึงเครียดระดับโลก

ก็มีคนถามถึง “วิกฤตคิวบา” ที่เกือบจะกลายเป็น “สงครามนิวเคลียร์” ที่สองมหาอำนาจเขย่าขวัญโลกมาแล้ว

เป็นวิกฤต “13 วัน” (14-28 เดือนตุลาคมปี 1962 หรือ 60 ปีที่แล้วพอดิบพอดี)

เราจะเรียนรู้อะไรจากวิกฤตคิวบาคราวนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้สงครามมหาประลัยเกิดขึ้นในวันนี้ได้บ้าง?

นั่นเป็นคำถามที่กำลังได้รับการถกแถลงกันอย่างกว้างขวางพอสมควร

วิกฤตคราวนั้นเกิดขึ้นในยุคสงครามเย็นที่โลกแบ่งเป็นสองขั้วอย่างชัดเจนคือ สหรัฐและสหภาพโซเวียตยืนอยู่คนละมุม

วันนี้เราก็เห็นสหรัฐกับรัสเซียต่างยืนอยู่คนละข้างอีกครั้งหนึ่ง

คราวนั้น อเมริกาและสหภาพโซเวียตต่างก็สะสมอาวุธนิวเคลียร์

หากผู้นำของฝ่ายใดตัดสินใจกดปุ่มนิวเคลียร์ก่อนที่เรียกว่า pre-emptive strike ประเทศที่กดปุ่มทีหลังอาจจะเสียเปรียบ

เพราะผู้มีกดปุ่มก่อนหรือ first strike อาจจชนะในเกมที่จะนำโลกลงนรกได้

ในวิกฤตครั้งนั้นอเมริกามีประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ส่วนสหภาพโซเวียตมีนิกิตา ครุชชอฟ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์

สหรัฐกับ NATO ติดตั้งฐานยิงจรวดนิวเคลียร์อยู่ที่อิตาลีและตุรกีซึ่งใกล้รัสเซียมาก

สหภาพโซเวียตตอบโต้ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรคิวบา

คิวบาคือ “หลังบ้าน” ของสหรัฐ

คิวบาห่างฝั่ง Key West ของรัฐ Florida ทางใต้ของสหรัฐเพียง 144 กิโลเมตร

ผู้นำคิวบาคือฟิเดล คาสโตร ซึ่งล้มล้างรัฐบาลก่อนเพื่อเปลี่ยนการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์

คาสโตรขึ้นมามีอำนาจเพียง 4 เดือนหลังเคนเนดี้รับตำแหน่งในฐานะเป็นผู้นำอายุน้อยที่สุดคนหนึ่งของอเมริกา

ซีไอเอของสหรัฐแอบหนุนหลังกลุ่มกบฏเพื่อยึดคิวบากลับแต่ก็ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

ปฏิบัติการครั้งนั้นเกิดขึ้นในเดือนเมษายน 1961 สร้างความเสื่อมเสียให้กับชื่อเสียงของมหาอำนาจอย่างสหรัฐเป็นอย่างยิ่ง

คาสโตรรู้ว่าสหรัฐต้องคอยจ้องทำลายล้างแน่ จึงหันไปพึ่งพามอสโก

ในปีต่อมาคือ 1962 ครุชชอฟลอบขนจรวดขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์ไปติดตั้งให้คิวบาทางเรือ

มอสโกได้จังหวะเสริมกำลังของคิวบาเป็นการตอบโต้ที่สหรัฐตั้งฐานจรวดที่อิตาลีและตุรกีด้วย

ใครที่ได้อ่าน “Thirteen Days” โดยโรเบิร์ต เคนเนดี้ น้องชายประธานาธิบดี JFK ก็จะได้รับรู้ถึงการประชุมที่เคร่งเครียดในทำเนียบขาวช่วง 13 วันนั้น

เพื่อดูว่าฝ่ายไหนจะยอม “กะพริบตา” ก่อน

เคนเนดี้เห็นภาพถ่ายทางอากาศที่ยืนยันว่าสหภาพโซเวียตได้เริ่มติดตั้งจรวดนิวเคลียร์บนเกาะคิวบาแล้ว

ฝ่ายข่าวกรองอเมริกันประเมินว่าการติดตั้งจะเสร็จสิ้นใน 10-14 วัน

ที่ทำให้เครียดกันไปหมดก็คือการวิเคราะห์จากภาพถ่ายว่าจรวดของโซเวียตที่ติดตั้งนั้นมีอย่างน้อย 32 ลูก

ศักยภาพของขีปนาวุธวิถีกลางยิงได้ไกลถึงทำเนียบขาวที่ Washington DC กันเลยทีเดียว

ที่อันตรายกว่านั้นก็คือถ้าครุชชอฟตัดสินใจกดปุ่มยิงใส่สหรัฐ วอชิงตันจะรู้ล่วงหน้าเพียง 5 นาทีเท่านั้น

อินทรียักษ์ได้รับรู้ฤทธิ์เดชของขีปนาวุธของหมีขาวอย่างนั้นก็ย่อมจะหนาว

แต่ไม่ยอมหนาวเฉยๆ ต้องสกัดกั้นทุกวิถีทาง

 

เหล่าบรรดาเสนาธิการรอบตัวเคนเนดี้ต้องการจะบุกคิวบา แม้จะต้องส่งทหารนับแสนเพื่อยึดคิวบา ระงับการติดตั้งขีปนาวุธอย่างฉับพลันก็ต้องทำ

แต่ JFK เป็นนักการเมืองที่ต้องพิจารณาปัจจัยรอบด้านอย่างระมัดระวัง

เพราะหากเล่นอะไรบุ่มบ่าม แม้จะมีโอกาสยึดเกาะคิวบาได้ด้วยกองกำลังที่เหนือกว่า

แต่ความเสี่ยงมีสูงมาก…หากผู้นำโซเวียตตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน สงครามโลกครั้งที่สามก็จะระเบิดค่อนข้างแน่นอน

หน้าต่างแห่งเวลาที่ต้องตัดสินใจอันยากยิ่งและสุ่มเสี่ยงมีเพียง 10-14 วัน

แผนที่หนึ่งคือบุก ซึ่งเคนเนดี้บอกให้เก็บไว้เป็น “ทางเลือกสุดท้ายหากจำเป็นจริงๆ”

ทีมวอร์รูมเสนอแผนสอง…ให้สกัดเรือของโซเวียตที่กำลังขนชิ้นส่วนของอาวุธขึ้นเกาะคิวบา

ภาษาทางทหารเรียกว่า Blockade

หรือตีความได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดศึก

ถ้าหากสหรัฐจะต้อง “บล็อก” เรือรัสเซียที่วิ่งไปเกาะคิวบาก็ต้องหาวิธีไม่ให้เข้าไปถึง

ที่ปรึกษาทางทหารเสนอให้ใช้คำว่า Quarantine หรือที่ทุกวันนี้ในช่วงโควิดเราเรียกว่า “กักตัว”

เคนเนดี้จึงประกาศใช้คำว่า Quarantine คือเรือสหรัฐไป “กัก” เรือที่สงสัยว่ากำลังส่งชิ้นส่วนอาวุธร้ายแรงให้คิวบา

ส่วนเรือที่ไม่ขนอาวุธก็ยังให้ผ่านไปได้

อย่างนี้สามารถหลีกเลี่ยงคำว่า Blockade ซึ่งหมายถึงการสกัดเรือทุกลำในเส้นทางนั้น

ปฏิกิริยาของมอสโกคือการตอบโต้ด้วยแถลงการณ์ว่าการทำเช่นนั้นถือเป็นละเมิดสิทธิการเดินเรือของรัสเซีย

ถือเป็นการปิดกั้นน่านน้ำสากล (เหมือนที่สหรัฐกล่าวหาจีนในกรณีทะเลจีนใต้วันนี้)

เคนเนดี้ออกทีวีสื่อสารกับประชาชนคนอเมริกันและชาวรัสเซียกับประชาคมโลกว่าสหรัฐต้องสกัดรัสเซียในเรื่องนี้เพื่อปกปักรักษา “สันติภาพและเสรีภาพในภูมิภาคของโลกส่วนนี้”

ความเสี่ยงวันนั้นคือถ้าโซเวียตไม่ยอมสหรัฐ…และกองทัพเรืออเมริกันไปสกัดกองเรือรัสเซียที่มุ่งหน้าคิวบาพร้อมขีปนาวุธกลางทะเล จะเกิดอะไรขึ้น?

สงครามนิวเคลียร์!

 

ใครเคยดูสารคดีเรื่องนี้ก็จะได้รับรู้ถึงการที่ต้องนั่งลุ้นว่าฝ่ายไหนจะยอมถอยก่อน

ถ้อยประโยคที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองโลกถึงวันนี้คือที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ Dean Rusk ขณะนั้น

“We’are eyeball to eyeball and I think the other fellow just blinked”

แปลว่าตาจ้องตากันเขม็ง…และอีกฝ่ายหนึ่งกะพริบตา (คือยอมถอย) ก่อน

ในช่วงนั้น กองทัพสหรัฐถูกสั่งให้ยกจัดระดับการเตรียมสงครามไว้ที่ DefCon2 (Defence Readiness Condition) ซึ่งถือว่าเป็นระดับสูงสุดเท่าที่เคยมีมา

แค่ยกระดับขึ้นอีกหนึ่งขั้นคือ DefCon1 นั่นก็คือการทำสงครามเต็มรูปแบบ

 

ระหว่างที่รอลุ้นกันอยู่ก็เกิดเรื่องร้ายแทรกเข้ามา

เครื่องบินสอดแนมของอเมริกาถูกคิวบายิงตก

ทำให้เหล่าเสนาธิการเสนอให้เร่งรัดการโจมตีตามแผนรุก

แถมยังมีเรื่องชวนหวาดเสียวเพิ่มมาอีกเมื่อสหรัฐเจอเรือดำน้ำหัวรบนิวเคลียร์ของโซเวียตปรากฏใกล้ชายฝั่งคิวบา

เรือรบสหรัฐยิงตอร์ปิโดเพื่อให้เรือดำน้ำโซเวียตขึ้นมาบนผิวน้ำ

แต่เกิดความสับสนอลหม่านในเรือดำน้ำโซเวียตที่กำลังเจอกับสภาพอากาศร้อนภายในเรือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลอยเต็มเรือ ลูกเรือหมดเรี่ยวแรง อารมณ์ผันผวนแปรปรวน

มิหน้ำซ้ำยังขาดการติดต่อจากมอสโกกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง

เมื่อลูกเรือได้ยินเสียงระเบิดตอร์ปิโดของอเมริการอบๆ เรือก็ทำให้ทหารเรือรัสเซียบางคนคิดว่าสงครามโลกครั้งที่สามได้ระเบิดขึ้นแล้ว

รายละเอียดมาปรากฏภายหลังว่าลูกเรือส่วนใหญ่ในเรือดำน้ำเชื่อว่าต้องยิงหัวรบนิวเคลียร์เพื่อปกป้องตนเอง

แต่การจะสั่งยิงนิวเคลียร์ได้นั้น กฎเหล็กของรัสเซียต้องให้นายทหารอนุมัติสามคน

ปรากฏการณ์ “ปาฏิหาริย์” ที่เกิดขึ้นในนาทีสยองขวัญตอนนั้นก็คือแม้สองคนตัดสินใจให้ยิง แต่นายทหารคนที่สามไม่เอาด้วย

ถือว่าโลกรอดจากสงครามนิวเคลียร์เพราะเขาคนนั้นก็ได้

ในช่วงนั้นเองที่ครุชชอฟส่งจดหมายมาต่อรอง

โดยเสนอว่าสหภาพโซเวียตจะถอนขีปนาวุธก็ต่อเมื่อสหรัฐต้องสัญญาว่าจะไม่บุกคิวบาอีก

เหล่าแม่ทัพนายกองในวอร์รูมวันนั้น (เรียกขานกันว่าเป็น ExCom) บอกว่าอย่าได้เชื่อรัสเซีย…เป็นเพียงแค่กลยุทธ์ซื้อเวลาเท่านั้น

คณะทหารเร่งให้ประธานาธิบดีของตนบุกคิวบาก่อนจะสายเกินไป

แต่ JFK พยายามใช้การทูตจนถึงนาทีสุดท้าย

เขาสั่งน้องชาย โรเบิร์ต เคนเนดี้ เจรจาลับกับทูตรัสเซีย

โดยมีหลักสำคัญว่าการเจรจาเช่นว่านี้จะต้องไม่ให้ฝ่ายตรงกันข้ามมองว่าเป็น “ความอ่อนแอ”

แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่แสดงท่าทีที่ “แข็งกร้าว” เกินไปจนก่อให้เกิดสงคราม

และต้องไม่ให้ครุชชอฟรู้สึกเสียหน้า

อีกทั้งต้องไม่ให้พันธมิตร NATO รู้สึกว่าสหรัฐยอมอ่อนข้อแล้ว

โรเบิร์ต เคนเนดี้ ตัดสินใจยื่นเงื่อนไขให้โซเวียตถอนหัวรบนิวเคลียร์ โดยให้สหประชาชาติเข้ามาตรวจสอบ

แลกกับที่วอชิงตันรับปากจะไม่บุกคิวบา

ต่อจากนั้น 6 เดือนสหรัฐก็จะถอนจรวดออกจากอิตาลีและตุรกีอย่างเงียบๆ แบบไม่กระโตกกระตาก

มีเงื่อนไขสำคัญว่าฝั่งรัสเซียจะไม่อ้างว่าเป็นการยื่นหมูยื่นแมว

เพราะเคนเนดี้ไม่ต้องการให้ NATO เห็นว่าสหรัฐอ่อนแอ ยอมตามรัสเซีย

เมื่อทุกฝ่ายเห็นว่าการถอยคนละก้าวคือหนทางหลีกเลี่ยงหายนะระดับโลก สงครามใหญ่จึงยังไม่เกิด!