“Health Link” แพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพคนไข้ยุคดิจิทัล ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ถือเป็นกองทุนชั้นนำในการผลักดันและเพิ่มขีดความสามารถการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยหนึ่งในภารกิจสำคัญได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง คือ การส่งเสริม สนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือหน่วยงานของภาครัฐ เอกชน และบุคคลทั่วไป ในการดำเนินการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยการส่งเสริม สนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือดังกล่าวต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ต่อการให้บริการสาธารณะและไม่เป็นการแสวงหากำไร โดยไม่เป็นการทำลายการแข่งขันอันพึงมีตามปกติวิสัยของกิจการภาคเอกชน

โครงการจัดทำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ ระยะที่ 1 ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข ธนาคารกรุงไทย

แพทยสภา บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และกรมการปกครอง คืออีกหนึ่งผลงานการพัฒนาประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แก่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นอีกโครงการการพัฒนาที่พลิกโฉมการรักษารูปแบบเก่าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เปลี่ยนการรักษาพยาบาลของประชาชนทุกคนให้ง่ายขึ้น ผ่านแพลตฟอร์มสำหรับเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพที่พัฒนาขึ้นภายใต้โครงการฯ และมีชื่อว่า “Health Link” (Health Information Exchange )

โดย ดร.ยุทธศาสตร์ นิธิไพจิตร ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจคลาวด์ และบิ๊กดาต้า บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงจุดเริ่มที่ทำให้ให้เป็นมาของแพลตฟอร์มสำหรับเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพระหว่างโรงพบาบาล ที่ชื่อ “Health Link” ว่า การเกิดขึ้นของโครงการนี้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยเดิมนั้น หากประชาชนที่เจ็บป่วย และต้องการที่จะย้ายโรงพยาบาลที่รักษาไปยังอีกโรงพยาบาลหนึ่งนั้น ต้องเดินทางไปยังแผนกเวชระเบียนเพื่อคัดสำเนา และนำติดตัวไปมอบให้กับอีกโรงพยาบาลหนึ่ง จะเห็นว่า มีความยุ่งยากอย่างมาก

“ ดังนั้น จึงพัฒนาแพลตฟอร์ม “Health Link” ขึ้นมาเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลไว้ในแหล่งเดียว โดยผู้ป่วยต้องมีการลงทะเบียนไว้ใน Health Link ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการลงทะเบียนในแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง และเมื่อต้องไปรักษาพยาบาล เครือข่ายที่ร่วมในโครงการฯ ก็จะสามารถดูข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยได้เลยโดยไม่ต้องมาคัดสำเนาเหมือนกับในอดีต ทำให้เกิดความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้บริการ และแพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยเพื่อประกอบการวินิจฉัยโรค ได้สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งในการรักษาปกติ และการรักษากรณีฉุกเฉิน เช่น จากการเกิดอุบัติเหตุ แพทย์สามารถดูข้อมูลได้ว่า ผู้ป่วยมีข้อมูลสุขภาพอย่างไร แพ้ยาอะไรหรือไม่ ทำให้สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที” ดร.ยุทธศาสตร์ กล่าว

สำหรับแพลตฟอร์ม Health Link ตั้งอยู่บนคลาวด์ของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ได้รับมาตรฐานสากล ISO 27001 ใช้มาตรฐานข้อมูล Fast Healthcare Interoperability Resources (FHIR) จากองค์กร Health Level Seven (HL7) International ซึ่งเป็นมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพที่มีผู้ใช้งานทั่วโลกได้รับการอัพเดทอยู่อย่างสม่ำเสมอ และมีหน่วยงานรัฐบาลหลายประเทศนำไปใช้เช่น Centers for Medicare & Medicaid Services (CMS) ของสหรัฐอเมริกา

ในส่วนข้อมูลจะถูกแบ่งที่เก็บ 2 ส่วนแยกออกจากกัน ส่วนแรกจะเป็นข้อมูลที่ใช้ระบุตัวตนได้ เช่น ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน อีกส่วนหนึ่งจะเป็นข้อมูลสุขภาพ และจะนำข้อมูลทั้งสองส่วนซึ่งได้รับการเข้ารหัสมาประกอบกันที่ปลายทางเมื่อแพทย์ขอดูข้อมูลผ่านขั้นตอนที่ถูกต้องเท่านั้น จึงไม่ต้องกังวลว่าจะมีคนอื่นเข้าถึงข้อมูลของคุณระหว่างทาง

ที่สำคัญ ผู้ที่เข้าถึงข้อมูลได้ จะต้องเป็นแพทย์ที่อยู่ภายใต้โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ Health Link และเป็นแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภาเท่านั้น หากมีการขอข้อมูลที่ผิดปกติ  ระบบจะทำการระงับบัญชีของแพทย์ท่านนั้นทันที

โดยในเฟสที่ 1 นี้ ดร.ยุทธศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า มีโรงพยาบาลต่าง ๆ ได้เข้าร่วมโครงการแล้ว กว่า 100 แห่งทั่วประเทศ อาทิ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ โรงพยาบาลรามาธิบดี เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ และได้ก่อประโยชน์ทำให้เกิดการรักษาคนไข้ได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด พร้อมกันนี้กำลังอยู่ระหว่างการขยายโครงการไปสู่เฟส 2 เพื่อขยายผลในส่วนของโรงพยาบาลที่เข้าร่วม และระบบการให้บริการของแพลตฟอร์ม เพื่อเป็นการยกระดับการรักษาพยาบาลเข้าสู่ยุคดิจิทัลตามเป้าหมาย

โครงการจัดทำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ ระยะที่ 1 คืออีกก้าวการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่สร้างประโยชน์ให้กับคนไทยทั้งประเทศได้อย่างน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งกับการก้าวเข้าสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ตามนโยบายของรัฐบาล…