“รศ. ดร.วรากรณ์” ปธ. บอร์ดปฏิรูปฯ การศึกษา รุกแก้ปม บิ๊กร็อก 1 เด็กหลุดระบบฯ เร่งประสาน กสศ. นำระบบ “iSEE” ช่วยค้นหา คัดกรองเด็กกว่า 4 ล้านคนกลุ่มเสี่ยง

กรุงเทพฯ 3 มีนาคม 2565  รศ. ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ขานรับยุทธศาสตร์ชาติ เดินหน้าป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา หรือ บิ๊กร็อกที่ 1 ผ่านการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูล “iSEE” ของ กสศ. เป็นกลไกสำคัญช่วยค้นหา ติดตาม และให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาส โดยครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากกว่า 4 ล้านคน ทั้งนี้ ยังพบว่าการนำเด็กกลับเข้าระบบมีอัตราผลตอบแทนของการลงทุน (IRR) สูงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 9 ซึ่งตอบโจทย์การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน เพื่อหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง อย่างไรก็ตามการปฏิรูปการศึกษาต้องใช้เวลาหลายปี และยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน เพื่อเป้าหมายการยกระดับคุณภาพการศึกษาที่ยั่งยืนในระยะยาวต่อไป

รศ. ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เปิดเผยว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาได้กำหนดกรอบนโยบายการปฏิรูปการศึกษา โดยตระหนักถึงความสำคัญของเด็กและเยาวชนเป็นอันดับแรก เนื่องจากเด็กคือทรัพยากรที่จะเติบโตไปเป็นกำลังคนคุณภาพของประเทศ จึงถือเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าและต้องได้รับการพัฒนาทักษะที่เหมาะสมตามช่วงวัยอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวจะสามารถบรรลุได้ จำเป็นต้องเร่งดำเนินการผ่านกิจกรรมปฏิรูป 5 บิ๊กร็อก ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา โดยเฉพาะการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย และป้องกันเด็กเยาวชนออกจากระบบการศึกษา หรือ บิ๊กร็อกที่ 1 ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมที่ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ รวมทั้งการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยให้ก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางสู่การเป็นประเทศรายได้สูง

ปัจจุบันเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาในระยะยาว ประกอบด้วย 1.ฐานข้อมูลของกลุ่มเด็กและเยาวชนเป้าหมาย 2.ระบบสารสนเทศเกี่ยวกับครอบครัว อาชีพ และรายได้  3.ระบบการช่วยเหลือดูแล และส่งต่อกลุ่มเป้าหมายให้ได้รับการช่วยเหลือในขั้นต่อไป และ 4.การสร้างสิ่งแวดล้อมทางการศึกษาเพื่อให้เด็กอยากกลับเข้ามาเรียนอีกครั้ง อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “ฐานข้อมูล” ซึ่งเป็นต้นทางในการติดตามและให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด โดยปัจจุบันมีการเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information System for Equitable Education) หรือ iSEE ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) รายบุคคล ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาสมากกว่า 4 ล้านคน ช่วยค้นหา คัดกรองเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบอย่างละเอียด อาทิ รายได้ของผู้ปกครอง สถานะครัวเรือน สภาพปัญหา ไปจนถึงอัตราการมาเรียนและผลการเรียน ช่วยให้มองเห็นปัญหาและติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างชัดเจน และเชื่อมโยงข้อมูลไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อขยายผลการช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาส และร่วมสร้างโอกาสให้สามารถเข้าถึงการศึกษาและได้กลับมาเรียนอีกครั้งอย่างที่ควรจะเป็น

รศ. ดร.วรากรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นผลพวงมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบล้วนมีสาเหตุจากอุปสรรคด้านความยากจน แม้ว่าจะมีนโยบายเรียนฟรี  15 ปี แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาอื่นๆ อีกมาก ทำให้ผู้ปกครองไม่มีเงินส่งบุตรหลานเรียน บางครอบครัวอาจเห็นว่าการไปโรงเรียนไม่สำคัญเท่ากับการทำงานหาเงิน รวมทั้งไม่มีการชี้แนะจากสังคมว่าการศึกษาภาคบังคับมีความจำเป็นและมีส่วนช่วยให้พ้นจากความยากจนได้อย่างไร จึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้จากข้อมูลของ กสศ. ยังชี้ให้เห็นว่าการนำเด็กยากจนพิเศษเข้าสู่ระบบการศึกษามีอัตราผลตอบแทนของการลงทุน (IRR) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 9 ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตที่มีความคุ้มค่ามาก ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ต้องการหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางและต้องอาศัยทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพในอนาคต

“การปฏิรูปการศึกษาไม่ใช่ภาระหน้าที่ของหน่วยงานใดเพียงหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนทั้งชาติ และการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานเพื่อเป้าหมายเดียวกัน โดยเฉพาะความคิดเห็นและทัศนคติที่ตรงกันว่าคุณภาพของระบบการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องได้รับการพัฒนา รวมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ต้องเร่งแก้ไข โดยที่ผ่านมา คณะกรรมการปฏิรูปฯ ด้านการศึกษาได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากรัฐบาลในการติดตามให้คำแนะนำ ความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย ทำให้สามารถดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาและมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปการศึกษาไม่สามารถสำเร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น และยังต้องการความร่วมมือจากทุกหน่วยงานเพื่อบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติในระยะยาวต่อไป” รศ. ดร.วรากรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรม ของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้ใน 4 ช่องทาง ดังนี้ เว็บไซต์ https://www.thaiedreform2022.org เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://web.facebook.com/Thaiedreform2022 ยูทูบช่อง ‘thaiedreform2022’ และทวิตเตอร์ https://twitter.com/Thaiedreform22