รวม 4 เทคนิค ออนไลน์-ออนไซต์ จากคลาสแอคทีฟเลิร์นนิ่ง ฝ่าวิกฤตโรคระบาด ขับเคลื่อนการเรียนรู้นอกห้องเรียน กระตุ้นสัมพันธ์ ‘นักเรียน – ครู’ แบบไม่น่าเบื่อ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนและมีท่าทีว่าจะยืดเยื้อไปอีกเป็นเวลานาน ได้ส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาในทุกพื้นที่ทั่วโลก ที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์และมาตรการที่แตกต่างกันไป สำหรับประเทศไทยเองก็ได้มีการนำการจัดการเรียนการสอนหลากหลายรูปแบบมาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็น การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (On-Air) การเรียนรู้ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ (On-Demand) การเรียนการสอนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Online) และการเรียนแบบปกติที่โรงเรียนภายใต้มาตรการความปลอดภัย (On-Site) โดยสถานศึกษาแต่ละแห่งต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีข้อจำกัดและอุปสรรคในการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไป

เมื่อโรงเรียนต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนมาเป็นระบบทางไกล จึงกลายเป็นความท้าทายของทั้งครูผู้สอนและผู้บริหารสถานศึกษาที่จำเป็นต้องออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้น่าสนใจ สามารถกระตุ้นและจูงใจผู้เรียนให้มีส่วนร่วมมากที่สุด เนื่องจากการเรียนออนไลน์ที่บ้านทำให้เด็กต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้เทียบเท่ากับการเรียนในห้องเรียน ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กเกิดช่องว่างทางการเรียนรู้ได้ เทคโนโลยีต่างๆ จึงถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการออกแบบห้องเรียนท่ามกลางภาวะวิกฤตในครั้งนี้ โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมกับกระบวนการเรียนรู้ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลายทั้งบนแพลตฟอร์มออนไลน์และนอกห้องเรียน โดยวันนี้จะพาไปทำความรู้จักกับแนวทางการจัดการเรียนการสอนในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ประสบความสำเร็จ จาก 4 โรงเรียน ว่ามีเทคนิคที่น่าสนใจอย่างไรในการออกแบบห้องเรียนให้มีประสิทธิภาพและยังเป็นที่ชื่นชอบของนักเรียน

·        โรงเรียนบ้านค่าย จังหวัดนราธิวาส: เมื่อครูสวมบทบาทแม่ค้าออนไลน์

โรงเรียนบ้านค่ายเป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่เจอกับปัญหาเด็กนักเรียนหลุดออกนอกระบบเช่นเดียวกับในอีกหลายพื้นที่หลังจากต้องเผชิญกับการปิดเรียนและการสอนทางไกลเป็นระยะเวลานาน โรงเรียนได้ปรับใช้การเรียนการสอนมาทุกรูปแบบ ทั้ง On-Hand On-Demand และ Online ผู้บริหารและครูที่โรงเรียนบ้านค่ายได้ร่วมกันหารือถึงแนวทางปรับตัวในการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์เพื่อค้นหาวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ เหล่าคุณครูได้นำกลยุทธ์การสอนผ่านหน้าจอในรูปแบบแม่ค้าออนไลน์มาปรับใช้ในการสอน ซึ่งเกิดขึ้นมาจากไอเดียของครูคนหนึ่งในโรงเรียนที่ชื่นชอบการดูไลฟ์สดขายสินค้าเป็นประจำ วิธีนี้เริ่มจากการสมมติในหมู่ครูว่ากำลังเปิดร้านไลฟ์สดออนไลน์ในแต่ละวัน และสวมบทบาทเป็นแม่ค้าขายของออนไลน์ แต่ในความเป็นจริงกำลังขายวิชาความรู้ให้กับเด็กนักเรียน โดยใช้การสอนร่วมกันถึง 3 คนในรายวิชาเดียว มีการรับส่งมุกตลกเพื่อสร้างเสียงหัวเราะให้กับนักเรียนอย่างสนุกสนาน และต่อยอดมาเป็นห้องเรียนออนไลน์ที่เน้น “เรียนปนเล่น” เพื่อฝึกให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมด้วยการพูดคุยแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ในบรรยากาศที่ไม่เครียดหรือน่าเบื่อ ได้ทั้งความสนุกและประโยชน์จากเนื้อหาความรู้ และเมื่อนักเรียนมีความสุขในการเรียน อยากมีส่วนร่วมกับห้องเรียนอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้ครูเกิดแรงบันดาลใจในการจัดการเรียนการสอนต่อไปในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้

 

·        โรงเรียนวัดบ้านไร่ (ประชานุกูล): สอนแบบ Makerspace และ STEAM Design Process

                โรงเรียนวัดบ้านไร่ (ประชานุกูล) นำกลไก Makerspace และ STEAM Design Process มาปรับใช้เสริมการจัดการเรียนการสอน จากเดิมที่เด็กต้องเรียนตามที่ครูกำหนด เปลี่ยนเป็นให้เด็กสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่อยากเรียนได้ผ่านฐาน Makerspace ทุกวันอังคารช่วงบ่ายเป็นเวลาสามชั่วโมง เช่น การประดิษฐ์ ดนตรี ศิลปะ หรือแม้แต่การทำอาหาร หากเรียนแล้วรู้สึกไม่ชอบก็สามารถเปลี่ยนได้อย่างไม่จำกัด ซึ่งทำให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่สนใจ ไม่ใช่การถูกบังคับให้เรียน จึงไม่ทำให้เกิดการต่อต้านหรือเบื่อหน่ายที่จะเรียน นอกจากนี้สำหรับวิชาพื้นฐาน ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ก็จะใช้ STEAM Design Process หรือแนวทางการจัดการเรียนการสอนให้เกิดการเรียนรู้และบูรณาการความรู้จาก 5 สาระวิชาหลักเข้าด้วยกัน ล้มเลิกการสอนแบบท่องจำและเปิดกว้างความรู้นอกห้องเรียน ให้เด็กได้คิด ได้ลงมือปฏิบัติเพื่อค้นหาความรู้ด้วยตัวเองจากทุกพื้นที่อย่างอิสระ ไม่ว่าจากอินเทอร์เน็ต จากยูทูบ หรือจากเกม โดยมีครูทำหน้าที่เป็นผู้คอยชี้แนะ ทั้งหมดไม่มีรูปแบบตายตัว เป็นอิสระของคุณครูที่จะออกแบบการเรียนการสอนของตัวเอง โดยมีผู้บริหารสถานศึกษาคอยติดตามผลเพื่อหาแนวทางปรับปรุงต่อไป

·        โรงเรียนบ้านห้วยปูลิง: ฉีกกรอบการสอนเดิมๆ ด้วยการบูรณาการแบบ PBL

การกำหนดสัดส่วนคาบเรียนและเนื้อหาในแต่ละสัปดาห์ในรูปแบบเดิม นับเป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหาที่กระทบต่อคุณภาพการเรียนการสอน เมื่อต้องเปลี่ยนรูปแบบมาจัดการเรียนการสอนออนไลน์ โรงเรียนบ้านห้วยปลิงจึงได้ผนวกรายวิชาต่างๆ เข้าด้วยกัน และได้นำเทคนิควิธีการจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน หรือ Problem-Based Learning (PBL) มาใช้ คือการให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง สร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเอง โดยใช้ปัญหาที่สามารถพบเจอได้ใกล้ตัวในชีวิตประจำวันเป็นตัวนำในการเรียนรู้ ครูเปลี่ยนบทบาทครูจากผู้สอนหน้าชั้นเรียนตลอดคาบ เป็นผู้ดูแลกระบวนการ และผู้สร้าง “สถานการณ์” เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ โดยโรงยังคงยืนพื้นด้วยเนื้อหาวิชาหลัก ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และในวิชาที่เหลือ อาทิ วิทยาศาสตร์ สังคม การงานอาชีพและเทคโนโลยี สุขศึกษาและพละศึกษา จะถูกบูรณาการร่วมกันเป็น “หน่วยเรียนรู้” ตามโจทย์ต่างๆ เช่น ของเล่นพื้นบ้าน สมุนไพรผักพื้นถิ่น  ให้เด็กได้เรียนรู้จากสภาพแวดล้อมรอบตัว แล้วจึงนำสิ่งที่ได้กลับมาถกเถียงและแลกเปลี่ยนกันผ่านห้องเรียนออนไลน์ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นพบว่าเด็กๆ มีความกล้าแสดงออกมาขึ้น สามารถคิดวิเคราะห์ และมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าการเรียนในรูปแบบเดิม รวมทั้งยังได้รับความสนุกสนานในการเรียนมากขึ้น

·        โรงเรียนวัดดอนพุดซา: กระเป๋าแดงแห่งการเรียนรู้

ภาวะความรู้ถดถอยและช่องว่างของการเรียนรู้เป็นปัญหาที่โรงเรียนวัดดอนพุดซากำลังเผชิญ หลังจากเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ได้ไม่นาน โดยเฉพาะในเด็กเล็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 ที่มีปัญหาด้านการอ่านออกเขียนได้ ต้องกลับมาเริ่มเรียนใหม่อีกครั้ง ส่วนเด็กชั้นโตขึ้นมาก็มีปัญหาในการเรียนออนไลน์เช่นกัน โดยพบว่ามีนักเรียนเข้าเรียนออนไลน์ได้เพียงแค่ร้อยละ 10 ในช่วงที่ผ่านมา โรงเรียนจึงต้องปรับรูปแบบมาใช้การเรียนการสอนแบบออนแฮนด์ควบคู่กับ “กระเป๋าแดงแห่งการเรียนรู้” ที่ได้รับการต่อยอดมาจากนวัตกรรมกล่องการเรียนรู้ (Learning Box) โดยออกแบบใช้สีแดงซึ่งเป็นสีประจำโรงเรียน และประยุกต์วัสดุ อุปกรณ์ข้างในให้เข้ากับบริบทของแต่ละพื้นที่ ภายในบรรจุอุปกรณ์สื่อการสอนสำหรับต่อยอดสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเองที่บ้าน สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งในช่วงปิดเรียนและช่วงการเรียนแบบออนแฮนด์เพื่อให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้โรงเรียนยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูผู้สอน ทั้งเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศที่ต้องนำมาประยุกต์ใช้กับการสอนในรูปแบบที่ไม่คุ้นเคย การออกแบบการจัดการเรียนการสอนที่น่าสนใจ และการออกแบบสื่อต่างๆ ที่จะนำไปใส่ในกระเป๋าแดงแห่งการเรียนรู้ รวมึงการตรวจวัดประเมินผลผู้เรียน

                อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันหลายโรงเรียนจะกลับมาเปิดเรียนแบบออนไซต์แล้ว แต่ด้วยความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทำให้ภาคการศึกษาต้องหาแนวทางรับมือกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการศึกษาที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยต้องคำนึงถึงตัวเด็กเป็นสำคัญ เพราะเด็กแต่ละคนต่างมีอุปสรรคข้อจำกัดในการเข้าถึงการศึกษาที่แตกต่างกัน ทั้งผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนยังคงต้องหาแนวทางการจัดการเรียนการสอนทางไกลที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อฟื้นฟูปัญหาภาวะความรู้ถดถอยที่เกิดขึ้นในเด็กทุกช่วงวัยจากวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ รวมทั้งช่วยเหลือและเฝ้าระวังไม่ให้มีเด็กและเยาวชนที่ต้องหลุดออกนอกระบบไปมากกว่านี้ ทั้งหมดนี้นับเป็นอีกหนึ่งภารกิจของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่ได้กำหนดกรอบการปฏิรูประบบการศึกษาไทยเชิงนโยบาย เรื่อง การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยและป้องกันเด็กเยาวชนออกจากระบบการศึกษา (บิ๊กร็อกที่ 1) ซึ่งต้องอาศัยการระดมความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาไทยให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรม ของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้ใน 4 ช่องทาง ดังนี้ เว็บไซต์ https://www.thaiedreform2022.org เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://web.facebook.com/Thaiedreform2022 ยูทูบช่อง ‘thaiedreform2022’ และทวิตเตอร์ https://twitter.com/Thaiedreform22