เอ็นไอเอ – กกพ. เปิดตัว “10 นวัตกรเล็กพริกขี้หนูด้านการจัดการขยะของไทย” รุกผลักดันศักยภาพเยาวชนสู่นักการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าระดับมือโปร

กรุงเทพฯ 22 ธันวาคม 2564 – สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเวทีกิจกรรมสนามนักปฏิบัติการตัวจริง “10 INNOVATIONS LAUNCHED” ผู้สร้างอนาคตการจัดการขยะสู่การผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย ในโครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า (The Electric Playground) ถ่ายทอดไอเดียของบรรดาเด็กและเยาวชนว่าที่ นวัตกรรุ่นใหม่เจ้าของ 10 ผลงานนวัตกรรมดีเด่น ที่พร้อมเปลี่ยนปัญหาขยะในประเทศไทยให้มีมูลค่ายิ่งกว่าทองคำ อาทิ ถังขยะหน้ากากอนามัย ตู้แยกขวดพลาสติกสำหรับคนตาบอด เครื่องสร้างพลังงานไฟฟ้าจากขยะ แอปพลิเคชั่นจัดการขยะ เครื่องผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ เครื่องบีบขวด และถังขยะแปลงเศษอาหารเป็นพลังงานไฟฟ้า พร้อมกับฉากทัศน์สำคัญของความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงานที่พร้อม ลงทุน กับศักยภาพด้านนวัตกรรมเยาวชนไทยให้พร้อมสู่การเป็นสตาร์ทอัพ นักขับเคลื่อนสังคม และผู้เปลี่ยนแปลงประเทศ พร้อมไฮไลท์สุดพิเศษ เนรมิตนิทรรศการแสดงผลงานนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าจากขยะโดยเยาวชนไทย ณ โถง ชั้น 1 หน้าห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อเร็วๆ นี้

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า NIA มีความยินดี และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมงาน สำนักงาน กกพ. ในการพัฒนาเยาวชนของไทยให้สร้างสรรค์นวัตกรรมด้านพลังงานสะอาดได้ ที่ผ่านมา NIA มุ่งเน้นการทำงานที่ครอบคลุมการพัฒนาระบบนวัตกรรมแห่งชาติอย่างรอบด้าน เพื่อตอบสนองต่อบริบทการเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรมในอนาคตของโลกที่มีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย โดยเน้นการพัฒนาองค์ประกอบสำคัญ 5 มิติ ได้แก่ 1. ผู้ประกอบการนวัตกรรม 2. วิสาหกิจและองค์กรนวัตกรรม 3. ตลาดทุนและการลงทุน 4. นวัตกรและงานแห่งอนาคต และ 5. ตลาดและอัตลักษณ์นวัตกรรมของชาติ และ เยาวชน ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่งที่ NIA ให้ความสำคัญในการออกแบบกระบวนการเพื่อพัฒนาแนวคิดและศักยภาพด้านต่างๆ อย่างเป็นระบบ เพื่อให้เติบโตไปเป็นวัตกรที่สามารถยกระดับนวัตกรรมไทยไปสู่ในเวทีโลก โดยโครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้านี้ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ NIA ภาคภูมิใจที่ได้เป็นกำลังสำคัญในการยกระดับทักษะและความสามารถทางนวัตกรรมของกลุ่มเยาวชน ซึ่งเรามองว่าบทบาทในการสนับสนุนของ NIA นั้น ไม่ใช่ผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ให้เกิดโครงการหรือผู้ผลักดันน้องๆ แต่เพียงคนเดียว แต่เราเป็นสะพานเชื่อม (System Integrator) เชื่อมโยงคน หน่วยงานหรือส่วนประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมของประเทศ ให้เกิดการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างระบบการทำงานด้านนวัตกรรมอย่างครบวงจร ดังนั้น ความสำเร็จที่ทุกคนได้เห็นในกิจกรรมสนามนักปฏิบัติการตัวจริง 10 INNOVATIONS LAUNCHED พระเอกของงานจะไม่ใช่เพียง สำนักงาน กกพ. หรือ NIA แต่คือการทำงานร่วมกันของหลายฝ่ายหลายหน่วยงานที่เชื่อมโยงเข้ามาตลอดปีกว่าๆ แม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 ก็ตาม

ดร.กริชผกา กล่าวต่อว่า กิจกรรมสนามนักปฏิบัติการตัวจริง 10 INNOVATIONS LAUNCHED โครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้านี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพผลงานของน้องๆ นักเรียนเจ้าของผลงานที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผลงานนวัตกรรมดีเด่นทั้ง10 ทีมแล้ว ยังถือเป็นจุดตั้งต้นที่ดีที่ประเทศไทยจะได้เริ่มมีการปลูกฝังการเรียนรู้กระบวนการสร้างนวัตกรรมในทุกโรงเรียน สร้างฐานการสร้างเยาวชนให้เติบโตแบบสร้างสรรค์ รวมทั้งเครือข่ายที่เกิดขึ้นในโครงการนี้ก็จะพัฒนาให้เข้มแข็งและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจนนำไปสู่ระบบนวัตกรรมที่ยั่งยืน และนอกจากจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ (Waste to Energy) ในกลุ่มเยาวชนในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 50 แห่งและผู้ที่เข้าถึงสื่อต่างๆ ของโครงการ ซึ่งส่งผลในการสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะสู่การผลิตพลังงานไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นจุดสำคัญที่สร้างแรงกระเพื่อมไปยังสังคมให้เกิดการตื่นตัวเรื่องพลังงานสะอาดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม กรรมการกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า โครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่สามารถส่งเสริมภารกิจสำคัญของ กกพ. ได้เป็นอย่างดี โดยอาศัยความร่วมมือกันที่เข้มแข็งระหว่าง สำนักงาน กกพ. และ NIA ในการออกแบบและผลิตสื่อการเรียนรู้ต่างๆ ในโครงการ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และเข้าถึงข้อมูลที่มีประโยชน์ ชัดเจนและนำไปต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ได้ สอดคล้องกับหลักการการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในหัวข้อ “พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้” (Affordable and Clean Energy) ตามแนวทาง Sustainable Develop Goals ข้อ 7 (SDG#7) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) โดยมีหลักการทำงานเพื่อวัตถุประสงค์ 3 ระดับในกลุ่มเป้าหมายและประชาชนทั่วไป นั่นคือ 1. Awareness – การสร้างความตระหนัก หรือสร้างแรงบันดาลใจในการคิดและทำประโยชน์ด้านพลังงานผ่านการเรียนรู้ตัวอย่างการสร้างสรรค์ 2. Educate – การสร้างความรู้ความเข้าใจในกลุ่มเยาวชนเกี่ยวกับการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ (Waste to Energy) ตลอดเส้นทางการจัดการขยะ การคัดแยกขยะ การขนส่ง และการผลิต และ 3. Action – การสร้างการมีส่วนร่วมในการคิดและลงมือทำ เพื่อการผลิตและการใช้พลังงานสะอาด การสร้างสังคมนักปฏิบัติรูปแบบใหม่ที่สนุกและวัดผลสำเร็จได้ ที่กระตุ้นให้เกิดการลงมือสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมทั้งด้านผลิตภัณฑ์ กระบวนการทางสังคม หรือกระบวนการจัดการ ที่สร้างประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและสังคม

โครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อกิจการตามมาตรา 97(5) ประจำปีงบประมาณ 2563 โดยกองทุนพัฒนาไฟฟ้า จัดตั้งขึ้นภายในสำนักงาน กกพ. ตาม “พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550” มีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เป็นผู้กำกับดูแล ภายใต้กรอบนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ซึ่งมีภารกิจสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า โดยโครงการฯ จัดตั้งขึ้นภายใต้แคมเปญ Clean Energy for Life หรือ พลังงานสะอาดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน แม้อาจดูเป็นประโยคสั้นๆ แต่สร้างผลกระทบไม่น้อย เพราะพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาดเป็นสิ่งที่จะทำให้สังคมก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมการผลิตและการหมุนเวียนใช้พลังงานสะอาดได้อย่างยั่งยืน เกิดพฤติกรรมในการแก้ไขปัญหา คิดค้นพัฒนา รวมถึงร่วมกันจัดการการใช้พลังงานไฟฟ้าและการอนุรักษ์อย่างสร้างสรรค์

ดังจะเห็นได้จาก การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ประเภทพลังงานจากขยะ (Waste to Energy) ถูกนำมาเป็นสาระสำคัญในการเรียนรู้สำหรับน้องๆ ระดับมัธยมศึกษา ที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 10,000 คน จาก 50 โรงเรียน ซึ่งน้องๆ ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งแล้วถึงกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากขยะประเภทต่างๆ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ถึงปลายทาง ทั้งการจัดการขยะหรือวัตถุดิบต้นทาง การขนส่งการผลิตไฟฟ้า ตลอดจนการดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพและชุมชน ทำให้สามารถมองรอบตัว โรงเรียน ชุมชน และคิดค้นนวัตกรรมหรือวิธีการในแบบของตนเองเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่มูลค่านี้ได้ตั้งแต่การจัดการขยะ การคัดแยกขยะ การรวบรวม การขนส่ง ตลอดจนถึงการจัดการดูแลการใช้พลังงาน จนสามารถคิดค้นโครงการที่น่าสนใจนำมาประกวดแข่งขันและแลกเปลี่ยนแนวคิดกันได้ตั้งแต่รอบ EDTRICITY(เอ็ดทริซิตี้) ในโรงเรียน มาสู่รอบ ELECTRIC FIELD คือการแข่งขันรอบศูนย์มหาวิทยาลัย 5 สายแข่งขัน ผ่านเข้ามาสู่ค่ายพัฒนาผลงาน ELECATHON (อิเล็คคาธอน) และพัฒนาผลงานอย่างต่อเนื่องสู่กิจกรรมเวทีคุยโวลท์ VOLTAGE STAGE และผ่านการคัดเลือกเป็นผลงานนวัตกรรมดีเด่น 10 ทีม ที่นำมาจัดแสดงในกิจกรรมสนามนักปฏิบัติการตัวจริง 10 INNOVATIONS LAUNCHED หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะสร้างแรงบันดาลใจ สร้างการตระหนักรู้และเรียนรู้ และนำไปสู่การลงมือทำ เป็นต้นแบบให้กับเยาวชนอีกมากมายในการร่วมสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลง อันจะก่อให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งก่อให้เกิดผลงานนวัตกรรมด้านการจัดการขยะสู่การผลิตพลังงานไฟฟ้าฝีมือเยาวชนที่เป็นทางเลือกใหม่ในการพัฒนาสังคมและส่งเสริมการผลิตและใช้ไฟฟ้าอย่างยั่งยืน ดร.บัณฑูร กล่าวทิ้งท้าย

นอกจากนี้ จาก 10 ผลงานนวัตกรรมดีเด่น ยังมีการประกาศผล 5 ต้นแบบนวัตกรรมเพื่อการจัดการขยะสู่การผลิตไฟฟ้า ที่จะได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ดังนี้ ทีม Heavycrazywaste จากโรงเรียนบ้านไผ่ กับผลงาน GARBAGEMAN ทีมฟูริน จากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์  สิงหเสนี) กับผลงานตู้แยกขวดพลาสติกสำหรับคนตาบอด ทีมสร้างพลังงานโดยใช้ความร้อน จากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์  สิงหเสนี) กับผลงานเครื่องสร้างพลังงานไฟฟ้าจากขยะ ทีม Bajaangs(บ๊ะจ่าง) จากโรงเรียนขจรเกียรติศึกษา กับผลงาน TAOYAA (ต้าวหยะ) และทีม save the world จากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์  สิงหเสนี) ๒ กับผลงานเครื่องผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเตาเผาขยะด้วยเทคโนโลยีเทอร์โมอิเล็กทริก

               ข้อมูลโครงการเพิ่มเติม www.facebook.com/TheElectricPlaygroundThailand/ หรือเว็บไซต์ https://electricplayground.nia.or.th/

###

แรงบันดาลใจในการผลิตผลงานนวัตกรรม โดย 5 ทีมนวัตกรสุดท้าย ในโครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า (The Electric Playground)

 

·       ทีม Heavycrazywaste จากโรงเรียนบ้านไผ่ กับผลงาน GARBAGEMAN เผยว่า แรงบันดาลใจในการสร้างนวัตกรรมถังแยกขยะอัตโนมัติ GARBAGEMAN โดยใช้ Machine Learning พร้อมกับแอปพลิเคชั่นในการสะสมคะแนนนี้ เกิดจากประเทศไทยประสบกับปัญหาขยะล้นเมือง ซึ่งในปี 2563 พบว่ามีขยะมูลฝอยมากถึง 25.37 ล้านตัน และปัญหาจากคนส่วนใหญ่ที่ขาดความรู้ความเข้าใจในการแยกขยะ และมีความสับสนในการแยกขยะ ดังนั้นเราจึงสร้างนวัตกรรมนี้ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และเพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้มีความสนใจในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยจะเจาะกลุ่มโรงเรียน นักเรียนอายุ 12-18 ปี เพราะกลุ่มนี้มีความกะตือรือร้นในการทำกิจกรรมและการแยกขยะ โดยทีมเราได้มีการลงพื้นที่จริง เพื่อเก็บ Data Set หรือรูปภาพขยะประเภทต่างๆ มาทำ AI ซึ่งตอนนี้มีการทดสอบระบบได้ความแม่นยำถึง 90%  โดยการทำงานคือ เมื่อผู้ใช้นำขยะมาทิ้งที่ถัง GARBAGEMAN จะมีกล้องจับภาพขยะ แล้วส่งไปประมวลผลที่คอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก เมื่อประมวลผลเสร็จแล้วจะส่งผลลัพธ์ไปให้ระบบมอเตอร์ เพื่อดึงระบบถาดเทโดยใช้สายพานส่งขยะให้ไปสู่ตำแหน่งที่ถูกต้อง และในส่วนแอปพลิเคชัน ก็จัดตั้งระบบมีหน้าโปรไฟล์ แสดงข้อมูลผู้ใช้ คะแนนสะสม เพื่อใช้แลกรับของรางวัล พร้อมสร้างเพจเฟซบุ๊กเพื่อให้คนได้มาติดต่อข้อมูลข่าวสารการใช้นวัตกรรมนี้ครับ

 

·     ทีมฟูริน จากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์  สิงหเสนี) กับผลงานตู้แยกขวดพลาสติกสำหรับคนตาบอด เผยว่า ทีมฟูริน ทำนวัตกรรมเกี่ยวกับผู้พิการทางสายตา โดยนวัตกรรมมี 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ทางเดิน และส่วนที่ 2 ตัวเครื่อง ซึ่งจะช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถรู้ตำแหน่งและแยกประเภทขยะได้ โดยจุดเริ่มต้นที่สนใจกลุ่มผู้พิการทางสายตา เริ่มจากได้พูดคุยกับคุณครูที่โรงเรียน และได้โจทย์ให้ไปสอบถามคนในชุมชน หรือคนเก็บขยะว่า ทำไมถึงไม่แยกขยะกัน ทำไมถึงเทขยะรวมกัน เมื่อสัมภาษณ์แล้วจึงทราบว่า เหตุผลที่คนในชุมชนไม่แยกขยะเพราะรู้สึกยุ่งยาก และไม่รู้ว่าถังขยะสีเหลืองต้องทิ้งอะไร ถังขยะสีแดงต้องทิ้งอะไร จึงทิ้งขยะรวมๆ กัน พวกเราจึงเกิดคำถามว่า คนธรรมดายังแยกขยะได้ยาก แล้วถ้าผู้พิการโดยเฉพาะผู้พิการทางสายตาที่ไม่สามารถมองเห็นขยะได้ จะแยกขยะได้อย่างไร จึงคิดค้นทำนวัตกรรม ตู้แยกขวดพลาสติกสำหรับคนตาบอด เพื่อช่วยให้ผู้พิการทางสายตาทิ้งขยะได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งใช้ระยะเวลาในการทำร่วม 8 เดือน และจะพัฒนาผลงานต่อไปแน่นอนเพื่อให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น แยกขวดพลาสติกได้หลากหลายแบบมากขึ้น และพัฒนาระบบด้วย Raspberry ซึ่งตลอดการร่วมโครงการ The Electric Playground ได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์มหาวิทยาลัย หลักสูตร STEAM4INNOVATOR และพี่ๆ ในโครงการทุกคนหลายอย่าง เช่น ช่วยหาข้อมูล ช่วยแนะนำว่านวัตกรรมของเราควรปรับเพิ่มตรงไหนเพื่อให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าเดิม ช่วยชี้แนะแผนธุรกิจควรแก้ส่วนใดเพิ่ม เป็นต้น ในอนาคตก็อยากส่งเสริมให้มีการสร้างนวัตกรรมด้านการจัดการขยะให้มากขึ้น โดยเฉพาะนวัตกรรมที่ช่วยเหลือกลุ่มผู้พิการต่างๆ ซึ่งยังมีค่อนข้างน้อยค่ะ

 

·  ทีมสร้างพลังงานโดยใช้ความร้อน จากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กับผลงานเครื่องสร้างพลังงานไฟฟ้าจากขยะเผยว่า แรงบันดาลใจในการคิดค้นนวัตกรรมเครื่องสร้างพลังงานไฟฟ้าจากขยะที่เปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานไฟฟ้านี้ เกิดจากการเห็นประชากร มนุษย์โลกที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้จำนวนขยะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย หนึ่งในนั้นคือขยะอย่างยางรถยนต์หรือขยะพลาสติก จึงเกิดคำถามว่าจะดีกว่าไหมถ้าเรานำขยะเหล่านี้มาเผาแล้วได้พลังงานไฟฟ้า และได้เพิ่มมูลค่าให้กับขยะด้วย ผมจึงคิดค้นนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหานี้ ซึ่งนำยางรถยนต์หรือขยะพลาสติกมาเผา ผ่านระบบที่มีเตาเผา ตัวควบคุมการชาร์จ ระบบระบายความร้อนด้วย Cooling Tower ระบบจำกัดควัน ซึ่งได้ผลลัพธ์คือพลังงานไฟฟ้าและยิปซัม ตลอดการเข้าร่วมโครงการฯ และทำนวัตกรรมนี้นานร่วม 3 เดือน ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์มหาวิทยาลัยมาช่วยพัฒนาผลงานผมด้วย และส่วนตัวมองว่าการจัดกิจกรรมอบรมเช่นโครงการนี้ ก็สามารถส่งต่อการปลูกฝังการจัดการขยะและการแก้ปัญหาได้ดีครับ

 

·  ทีม Bajaangs(บ๊ะจ่าง) จากโรงเรียนขจรเกียรติศึกษา กับผลงาน “TAOYAA (ต้าวหยะ)เผยว่า พวกเราทำแอปพลิเคชัน เป็นตัวกลางระหว่างคนที่จะขายขยะกับร้านที่รับซื้อขยะ โดยมีพาร์ทเนอร์เป็น Rider ค่ะ จุดเริ่มต้นในการทำเกิดจากเราได้มีการลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้คนแถวบ้านที่เกาะแก้ว จ.ภูเก็ต ว่าปัญหาคืออะไร ซึ่งที่เกาะแก้วมีการแยกขยะอยู่แล้ว แต่ซาเล้งที่มารับซื้อขยะมาบ้าง ไม่มาบ้าง และมาแต่ละครั้งก็ไม่ทราบว่ามีการซื้อขายไปอย่างไร ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมนำขยะของตนไปที่ร้านรับซื้อขยะ จึงได้คิดค้นทำนวัตกรรม TAOYAA (ต้าวหยะ) เพื่อเชื่อมทุกฝ่ายให้มารวมกันผ่านแอปพลิเคชันนี้ค่ะ ใช้เวลาทำร่วม 6 เดือนเลยค่ะ ตลอดโครงการฯ ได้รับคำแนะนำจากพี่ๆ ในโครงการช่วยพัฒนาแอปฯ อย่างมาก ให้เราไปศึกษาแอปพลิเคชันต่างๆ ในการพัฒนาเป็นนวัตกรรม แก้ปัญหาเพื่อปิดรูรั่วต่างๆ มีการวางแผน Business Model ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยทำเลยค่ะ ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก และในการนำเสนอผลงานแต่ละครั้งก็เตรียมเก็งคำถามและตั้งใจซ้อมมากๆ ตอนนี้ทีม Bajaangs(บ๊ะจ่าง) ได้ติดต่อกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตแล้ว ซึ่งท่านก็ช่วยประสานงานให้ โดยตำบลเกาะแก้วจะเป็นที่แรกในการใช้แอปฯ นี้ และมีแผนขยายไปใช้ในจังหวัดอื่นๆ ด้วย ซึ่งน่าจะใช้เวลาพัฒนาแอปฯ เพิ่มอีกร่วม 6 เดือนค่ะ และตลอดโครงการฯ เพื่อนๆ และคุณครูที่โรงเรียนก็สนับสนุนติดตามอย่างใกล้ชิดเลยค่ะ ซึ่งได้ซึมซับการรับรู้การจัดการปัญหาขยะผ่านโครงการนี้ร่วมกันด้วยค่ะ

·  ทีม save the world จากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๒ กับผลงาน เครื่องผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเตาเผาขยะด้วยเทคโนโลยีเทอร์โมอิเล็กทริกเผยว่า แรงบันดาลใจในการทำนวัตกรรมเครื่องผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเตาขยะด้วยเทคโนโลยีเทอร์โมอิเล็กทริก หรือเรียกสั้นๆ ว่า TEG เกิดจากต้องการเปลี่ยนไอเสียรถยนต์ ความร้อนที่เกิดความร้อนใต้พิภพหรือโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นความร้อนสูญเสียที่ทำให้เกิดปริมาณก๊าซเรือนกระจก มาสร้างพลังงานสะอาดเปลี่ยนให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งในต่างประเทศก็มีการทำ Renewable Energy Certificate ใบรับรองการทำธุรกิจแบบคาร์บอนเครดิตเพื่อลดภาษีคาร์บอน ทั้งยังสามารถลดต้นทุนโดยรวมขององค์กรทางอ้อมได้ จึงนำเหล่านี้มาเป็นปรับพัฒนานวัตกรรม ซึ่งกระบวนการการทำงานของนวัตกรรมเราก็คือ เมื่อเกิดความร้อน และระบบ Cooling ที่ช่วยระบายความร้อนทำงาน ตัวเทคโนโลยีเทอร์โมอิเล็กทริกจะเริ่มผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะได้ปริมาณมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของแหล่งความร้อนและระบบน้ำหล่อเย็น เมื่อได้ไฟมาแล้วจะเก็บไว้ในแบตเตอรี่ และนำไปใช้งานต่อไป ทั้งนี้ยังออกแบบให้มีการใช้พื้นที่ติดตั้งน้อย การซ่อมบำรุงไม่ยุ่งยากร่วมด้วย