สมศ. สรุปผลการประเมินปี 64 ปลื้ม!! สถานศึกษาร่วมขบวนประเมินเกินเป้า 20% พร้อมเผยสถานศึกษาเฉียด 100% พึงพอใจคุณภาพผู้ประเมิน – ระบบประเมินออนไลน์ มั่นใจปี 65 ยังเดินหน้าประเมินต่อได้อย่างฉลุย

·        สมศ. ปักธงประเมินฯ ปี 65 อีกกว่า 1.8 หมื่นแห่ง พร้อมเดินหน้าปรับบทบาทผู้ประเมินสู่ “ไกด์นำทาง” จับมือคุณครู – สถานศึกษาเดินหน้าจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ 

กรุงเทพฯ 8  ธันวาคม 2564 – สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. เผยผลการประเมินคุณภาพภายนอกในรอบปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ประเมินเสร็จสิ้นแล้ว 21,277 แห่ง ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่ทาง สมศ.ตั้งเป้าไว้จากเดิมที่ 17,000 แห่ง ถึง 20% โดยในการประเมินปีนี้พบว่า สถานศึกษาส่วนใหญ่กว่า 85% มีผลการประเมินตามมาตรฐานอยู่ในระดับ “ดี” ทั้ง 3 ด้านคือ 1) คุณภาพของเด็ก/ผู้เรียน 2) การบริหารและการจัดการ และ 3) การจัดประสบการณ์ หรือการจัดการเรียนการสอนที่เน้นเด็ก / ผู้เรียนเป็นสำคัญ และเกือบทั้งหมดพึงพอใจกับคุณภาพของผู้ประเมิน และเทคโนโลยีที่ใช้ในการประเมินคุณภาพภายนอก นอกจากนี้ ยังเตรียมเดินหน้าประเมินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งจะยังคงใช้การประเมินแบบออนไลน์ 100% โดยได้วางเป้าหมายให้สถานศึกษาเข้ารับการประเมินรวมทั้งสิ้น 18,050 แห่ง พร้อมยกระดับ 3 เครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้การประเมินมีประสิทธิภาพ ได้แก่ เทคโนโลยีที่ใช้ในการประเมิน การยกระดับผู้ประเมิน และการผลักดันให้สถานศึกษานำผลประเมินไปใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอน

ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา เปิดเผยว่า การประเมินคุณภาพภายนอกในรอบปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นการประเมินภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยรูปแบบการประเมินแบบออนไลน์ 100% ขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งในภาพรวมมีจำนวนสถานศึกษาเข้ารับการประเมินจำนวน 21,277 แห่ง ถือว่าเกินกว่าเป้าหมายที่ทาง สมศ.ตั้งเป้าไว้จากเดิม 17,000 แห่ง ถึง 20%

การประเมินในปีนี้ยังพบว่า สถานศึกษาส่วนใหญ่มีผลการประเมินตามมาตรฐานอยู่ในระดับ “ดี” ทั้ง 3 ด้านคือ 1) คุณภาพของเด็ก/ผู้เรียน 2) การบริหารและการจัดการ และ 3) การจัดประสบการณ์ หรือการจัดการเรียนการสอนที่เน้นเด็ก / ผู้เรียนเป็นสำคัญ และเมื่อแบ่งสถานศึกษาที่เข้ารับการประเมิน ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็ก เข้ารับการประเมิน 7,698 แห่ง พบว่าอยู่ในระดับคุณภาพดีทั้ง 3 ด้าน คิดเป็น  65.6% ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้ารับการประเมิน 12,189  แห่ง พบว่าอยู่ในระดับคุณภาพดีทั้ง 3 ด้าน คิดเป็น  95.5% ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประเภทวัตถุประสงค์พิเศษ  เข้ารับการประเมิน  709 แห่ง พบว่าอยู่ในระดับคุณภาพดีทั้ง 3 ด้านคิดเป็น  78% ด้านการอาชีวศึกษา เข้ารับการประเมิน 451 แห่ง  พบว่าอยู่ในระดับคุณภาพดีทั้ง 3 ด้านคิดเป็น  78.85% นอกจากนี้ สมศ. ยังได้ประเมินคุณภาพภายนอกระดับอุดมศึกษา ตามแผนที่ได้กำหนดไว้ 13 แห่ง ในขณะนี้อยู่ระหว่างการรับรองผลและแจ้งไปยังสถาบันอุดมศึกษาต่อไป

“สมศ. ยังได้สำรวจความพึงพอใจจากกลุ่มสถานศึกษาที่เข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งได้จากการประเมินผ่านระบบ QC100 พบว่าเกือบ 100% ให้ความเห็นว่าการประเมินคุณภาพภายนอกด้วยเทคโนโลยีออนไลน์เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้สถานศึกษาให้ความร่วมมือเข้ารับการประเมินกับ สมศ. เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากขั้นตอนและระยะเวลาของการประเมินที่มีความรวดเร็ว ช่วยลดภาระและอุปสรรคการทำงานในช่วงการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เนื่องจากในการเข้าถึงระบบต่าง ๆ นั้นมีความง่ายและไม่ซับซ้อน พร้อมกันนี้การประเมินในรอบปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ยังเป็นการสะท้อนถึงการทำงานของตัวผู้ประเมินที่สถานศึกษาต่างลงความเห็นว่า ผู้ประเมินส่วนใหญ่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ สามารถแนะนำในส่วนที่ต้องพัฒนา หรือแนวทางการนำผลประเมินไปใช้ให้กับสถานศึกษาได้อย่างตรงจุดมากกว่าทุกรอบที่ผ่านมา รวมถึงยังทำให้เกิดการแบ่งปันแนวทางที่ประสบความสำเร็จจากสถานศึกษาที่ได้รับผลการประเมินในระดับที่ดี ไปยังสถานศึกษาต่าง ๆ ที่กำลังพัฒนาระบบการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ได้อีกด้วย”

ดร.นันทา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สมศ. ยังคงมุ่งสู่บทบาทในการช่วยยกระดับสถานศึกษา ด้วยการทำหน้าที่สะท้อนระบบการศึกษาผ่านกระบวนการประเมินคุณภาพภายนอก และยังคงเดินหน้าใช้การประเมินภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยรูปแบบการประเมินแบบออนไลน์เช่นเดิม โดยได้วางเป้าหมายให้สถานศึกษาเข้ารับการประเมินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ทั้งสิ้น 18,050 แห่ง แบ่งออกเป็น ศูนย์พัฒนาเด็ก 6,376 แห่ง ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 10,468 แห่ง การศึกษาขั้นพื้นฐาน ประเภทวัตถุประสงค์พิเศษ 326 แห่ง การศึกษาขั้นพื้นฐาน (โรงเรียนนานาชาติ) 50 แห่ง การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย 360 แห่ง ด้านการอาชีวศึกษา 440 แห่ง ระดับอุดมศึกษา 30 แห่ง และตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ สมศ. ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ให้ปรับคำที่ใช้ในการสรุปผลการประกันคุณภาพภายนอก ในระดับดี ดีมาก และดีเยี่ยม ปรับเป็น “เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด” และ ในระดับ พอใช้ และปรับปรุง ปรับเป็น “ควรได้รับการพัฒนาให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด” เพื่อลดการนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกไปใช้ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ พร้อมกันนี้ สมศ. ยังได้กำหนด 3 กลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยให้การประเมินมีประสิทธิภาพ ได้แก่

·        เทคโนโลยีที่ใช้ในการประเมิน ซึ่งจะเน้นการนำระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยตั้งแต่การประเมินระยะที่ 1 หรือการประเมินผ่าน SAR และระยะที่ 2 ที่เป็นการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแบบออนไลน์ พร้อมนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ได้รับการพัฒนาเข้ามาสนับสนุนการตรวจเยี่ยมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมสำรวจห้องเรียน การสัมภาษณ์ผู้เรียน ฯลฯ ให้มีประสิทธิภาพในยุคที่เทคโนโลยีเสมือนจริงและการสื่อสารทางไกลกำลังทวีบทบาทมากยิ่งขึ้น รวมถึงยังเดินหน้าพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับผู้ประเมิน (Mobile Application) เพื่อใช้สำหรับกรณีที่มีสถานศึกษาร้องขอให้มีการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจริง โดยแอปพลิเคชันดังกล่าว จะมีความสามารถในการบันทึกเสียงพร้อมรายงานออกมาเป็นตัวอักษร และการบันทึกสภาพแวดล้อม ฯลฯ โดยขณะนี้แอปพลิเคชันดังกล่าวได้พัฒนาพร้อมใช้งานแล้วสำหรับศูนย์พัฒนาเด็ก และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งแอปพลิเคชันดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อรองรับการประเมินคุณภาพภายนอกในด้านการอาชีวศึกษา

·        การยกระดับผู้ประเมิน ซึ่งจะพัฒนาให้มีประสิทธิภาพตั้งแต่ความสามารถและความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยี การผลักดันให้มีการอบรมกับหน่วยงาน หรือสถาบันวิจัยที่มีชื่อเสียงที่เป็นที่ยอมรับ เพื่อให้เกิดศักยภาพในด้านการให้คำปรึกษาสำหรับการจัดการเรียนการสอนในปัจจุบัน การปรับตัวในอนาคต ตลอดจนแนวทางการนำผลประเมินที่สามารถนำไปใช้ได้จริงกับบริบทต่าง ๆ เช่น ผู้เรียน การพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ นอกจากนี้ ยังมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจในการเตรียมตัวก่อนและหลังการประเมิน – การตรวจเยี่ยม เพื่อให้เกิดความไว้วางใจกับสถานศึกษาที่มีต่อผู้ประเมิน

·        การผลักดันให้สถานศึกษานำผลประเมินไปใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอน ซึ่ง สมศ. จะมีการติดตามให้สถานศึกษานำข้อเสนอแนะที่ได้หลังจากการประเมิน ไปปรับปรุงและพัฒนาทั้งในด้านคุณภาพผู้เรียน มาตรฐานผู้สอน การจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน ซึ่งในส่วนนี้จะดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากตระหนักดีว่าหลาย ๆ สถานศึกษายังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง