สจล. ผนึก ซีพี ออลล์ ต่อยอดงานวิจัย “เครื่องผลิตกราฟีนออกไซด์ระดับอุตสาหกรรม” เสริมทัพธุรกิจ New S-Curve วัสดุแห่งอนาคตหนุนภาคธุรกิจลดต้นทุนนำเข้าถึง 50%

  • คุณสมบัติพิเศษ ‘กราฟีนออกไซด์’ สามารถต่อยอดได้ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ วัสดุดูดซับและกำจัดเชื้อโรค ในอุตฯการแพทย์ แผ่นเกราะป้องกันกระสุน ในอุตฯยุทโธปกรณ์ ซีเมนต์สมัยใหม่ ในอุตฯก่อสร้าง

กรุงเทพฯ 25 พฤศจิกายน 2564 – สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผนึก บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ถ่ายทอดเทคโนโลยี “เครื่องผลิตกราฟีนออกไซด์ระดับอุตสาหกรรม” เสริมกำลังการผลิตธุรกิจ New S-Curve ด้วยการเชื่อมโยงนวัตกรรม เทคโนโลยีและองค์ความรู้ทางวิชาการ หลังนักฟิสิกส์ สจล. วิจัยพบศักยภาพในการผลิตกราฟีนออกไซด์ จนนำไปสู่การจัดตั้ง “โรงงานต้นแบบผลิตกราฟีนออกไซด์ระบบอัตโนมัติระดับอุตสาหกรรม” แห่งแรกของไทย ที่มีกำลังการผลิตที่ 15 กิโลกรัมต่อเดือน คิดเป็นมูลค่ากว่า 60-100 ล้านบาท ที่นับว่าต่ำกว่าการนำเข้าถึง 50% อีกทั้งยังเป็นกำลังการผลิตที่เพียงพอต่อการป้อนให้ภาคอุตสาหกรรมในประเทศ ทั้งนี้ คุณสมบัติพิเศษของ กราฟีนออกไซด์ วัสดุแห่งอนาคตสามารถต่อยอดการผลิตในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ วัสดุดูดซับและกำจัดเชื้อโรค ในอุตสาหกรรมทางด้านการแพทย์ แผ่นเกราะป้องกันกระสุน ในอุตสาหกรรมด้านยุทโธปกรณ์ ซีเมนต์สมัยใหม่ ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ทั้งนี้ พิธีลงนามลงนามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยี “เครื่องผลิตรีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ระดับโรงงานอุตสาหกรรม” จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ สำนักงานอธิการบดี สจล.

            ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า สจล. โดยคณะวิทยาศาสตร์ ได้ขยายความร่วมมือกับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการถ่ายทอดเทคโนโลยี “เครื่องผลิตกราฟีนออกไซด์ระดับโรงงานอุตสาหกรรม” วัสดุแห่งอนาคตที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และการเชื่อมโยงองค์ความรู้สู่การขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ (New S-Curve) หลัง รศ. ดร.เชรษฐา รัตนพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ พร้อมคณะ ได้ทำการศึกษาวิจัยจนค้นพบศักยภาพในการผลิตกราฟีนออกไซด์ในไทย อันไปนำสู่การจัดตั้ง “โรงงานต้นแบบผลิตกราฟีนออกไซด์ระบบอัตโนมัติระดับอุตสาหกรรม” โรงงานขนาดเล็กนำร่องแห่งแรกในไทย ที่มีศักยภาพในการผลิตกราฟีนออกไซด์ที่เพียงพอต่อภาคอุตสาหกรรมในไทย 15 กิโลกรัมต่อเดือน โดยคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 60-100 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งมีราคาต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศถึง 50% ทั้งนี้ โรงงานต้นแบบดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนทุนจัดสร้างจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ในวงเงิน 6 ล้านบาท นอกจากนี้ หน่วยงานภายในอย่างคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และอธิการบดี สจล. ยังได้สนับสนุนอาคารตั้งโรงงานที่ภายในคณะ

                สำหรับคุณสมบัติพิเศษของวัสดุอัจฉริยะ กราฟีนออกไซด์ ที่มีขนาดบาง เบา แข็งแรงทนทาน นำไฟฟ้า และความร้อนได้ดี ไม่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ อีกทั้งป้องกันการก่อตัวของแบคทีเรียได้อีกด้วย โดยสามารถนำมาผสมกับวัสดุต่างๆ ให้มีความแข็งแกร่งเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถรองรับงานผลิตในหลากกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ วัสดุดูดซับและกำจัดเชื้อโรค ในอุตสาหกรรมทางด้านการแพทย์ แผ่นเกราะป้องกันกระสุน ในอุตสาหกรรมด้านยุทโธปกรณ์ ซีเมนต์สมัยใหม่ รางรถไฟสมัยใหม่ ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญหนึ่งในการเข้าถึงวัสดุกราฟีนออกไซด์สำหรับอุตสาหกรรมไทย ที่จะมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมสมัยใหม่ต่างๆ ในยุคอุตสาหกรรมไทยแลนด์ 4.0 ยุครถยนต์ไฟฟ้า คือ งบลงทุนที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศสูงถึง 2-10 ล้านบาทต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งนับได้ว่าความสำเร็จจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่องค์กรธุรกิจในเชิงพาณิชย์ครั้งนี้ จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยนวัตกรรมได้อย่างยั่งยืน ตามที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 

            นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การประยุกต์ใช้นวัตกรรมกราฟีนออกไซด์ มีส่วนช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศ  กราฟีนออกไซด์เป็นวัสดุมหัศจรรย์ที่มีประโยชน์อนันต์ ซีพี ออลล์ ให้ความสนใจนำมาสร้างแอปพลิเคชันใหม่ๆ ในการต่อยอดผลิตภัณฑ์กับคู่ความร่วมมือ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และสาธารณะ ถือเป็นการสร้างธุรกิจใหม่ (New S-Curve) อีกทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ในการสร้างบุคลากรให้มีองค์ความรู้และทักษะด้านกราฟีนออกไซด์ โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable Development and Growth) เติบโต สมดุล ยั่งยืน ทั้งเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต

            นายวิเชียร จึงวิโรจน์ กรรมการบริหารและรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความสำคัญ ซีพี ออลล์ และ สจล. ได้ร่วมมือทางด้านการศึกษาในการถ่ายทอดเทคโนโลยี ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์ ผลิตและสร้างเครื่องผลิตรีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ สำหรับใช้ในงานของบริษัท อาทิ งานก่อสร้าง ระบบน้ำ ระบบไฟฟ้า และ ผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการก่อสร้างร้านสาขา ประหยัดพลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงลดก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย ก่อนหน้านี้ ซีพี ออลล์ ได้ร่วมมือกับ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในโครงการพัฒนาระบบแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Building Information Modeling:  BIM) เพื่อให้นักศึกษาได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับทักษะด้านการออกแบบการก่อสร้าง และพัฒนาผลงานสู่การปฏิบัติงานจริง สำหรับร้านเซเว่นฯ ทั่วประเทศ และโครงการประกวดออกแบบร้านสะดวกซื้อ 7Eleven on MARS หรือ ร้านสะดวกซื้อบนดาวอังคาร

                ทั้งนี้ พิธีลงนามลงนามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยี การออกแบบ สร้าง และติดตั้งเครื่องผลิตรีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ระดับโรงงานอุตสาหกรรม ระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ สำนักงานอธิการบดี สจล. ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมของสถาบันได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก www.facebook.com/kmitlofficial และเว็บไซต์ www.kmitl.ac.th

#พระจอมเกล้าลาดกระบัง #ซีพีออลล์ #โรงงานผลิตกราฟีนออกไซด์ #JCCOTH