ประชุมประชาคมความคิดเห็น ชาวบ้านขานรับจัดตั้งหมู่บ้านควายไทย

วันที่ 21 ต.ค.64 เวลา 09.00 น. นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี พร้อมคณะผู้บริหาร อบจ.อุดรธานี เข้าร่วมประชุม ประชาคมเพื่อรับฟังความคิดเห็น เรื่องการจัดตั้งหมู่บ้านอนุรักษ์และพัฒนาควายไทยอุดรธานี ณ อ่างเก็บน้ำห้วยโป่งวัว ต.ทุ่งใหญ่ อ.ทุ่งฝน จ.อุดรธานี โดยมี นายกำธร วิเชฎฐพงศ์ นอภ.ทุ่งฝน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นางขนิษฐา โกวิทยากร กษ.จ.อุดรธานี นายกัมปนาทจักรวาล วิเวศ ศรีพุทธา พก.จ.อุดรธานี รศ.ฤทธิชัย พิลาชัย รองอธิการบดี มรภ.อุดรธานี นายศุภวัฒน์ ศรีเชษฐา หน.กลุ่มส่งเสริมและพัฒการปศุสัตว์ ผู้นำท้องที่ผู้นำท้องถิ่นและประชาชนชาว อ.ทุ่งฝน และ อ.หนองหาน เข้าร่วมประชุม

ซึ่งในครั้งนี้มีรูปแบบโครงการ เพื่อให้เป็นหมู่บ้านอีสานพื้นถิ่นดั้งเดิม คงความเป็นวิถีชีวิตของคนอีสาน ที่มีควายเป็นสื่อสัญลักษณ์ของหมู่บ้าน โดยมีแนวคิดที่จะอนุรักษ์และพัฒนาควายไทยให้คงอยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทยอีสาน ซึ่งมีจุดเด่นและเป็นอัตลักษณ์ของหมู่บ้าน จำนวน 16 องค์ประกอบ โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการ ดังนี้

  1. อนุรักษ์และพัฒนาควายไทยให้คงอยู่คู่กับสังคมไทย
  2. ส่งเสริมอาชีพแก่ประชาชน
  3. อนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีอีสานดั้งเดิม
  4. เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิถีชีวิตของคนอีสาน
  5. เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิถีชีวิตของควายที่เป็นวิถีคู่กับคนอีสาน
  6. เป็นแหล่งศึกษาของนักเรียน นักศึกษา
  7. เป็นแหล่งศึกษาดูงานของทุกองค์กร

การประชุมในครั้งนี้ ได้รับฟังความคิดเห็นจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ประชาชนที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับประชาคม 3 เรื่องใหญ่ๆ ดังนี้

  1. การขอใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์ห้วยโป่งวัว
  2. ยินยอมให้ใช้พื้นที่ได้ทั้งหมดหรือไม่
  3. จะมีการใช้ศัพท์ทางการว่า “วัว” หรือใช้ภาษาถิ่นว่า “งัว”

จากการประชาคมข้างต้น ผลสรุปว่า ประชาชนขานรับพร้อมสนับสนุนการทำงานทุกรูปแบบของ อบจ.อุดรธานี ที่จะร่วมกันหลายภาคส่วน อันนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าของชุมชน

นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี กล่าวว่า ในตอนนี้ทาง อบจ.อุดรธานี ได้สนับสนุน อุดหนุนงบประมาณ 20,000,000 บาท ร่วมกับทาง มรภ.อุดรธานี 1,000,000 บาท รวมงบอุดหนุน 21,000,000 บาท เพื่อจะได้สร้างจุดแลนมาร์คแห่งใหม่ในอุดรธานี และมีการวางแผนจะจัดทำรูปปั้นวัว สูง 5 เมตร ให้เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว และจะสร้างเป็นหมู่บ้านอนุรักษ์และพัฒนาควายไทยอุดรธานี กระตุ้นการท่องเที่ยว เพิ่มช่องทางประกอบอาชีพให้ชุมชน พร้อมสืบสานวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นถิ่นอีสานต่อไป