เอ็นไอเอ รุกความร่วมมือ กกพ. เปิดวิชาการจัดการขยะออนไลน์ นำร่องปั้นเด็กมัธยมโรงเรียน 50 แห่งสู่นวัตกรผู้พัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากขยะ

กรุงเทพฯ 14 กรกฎาคม 2564 – สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้รับการสนับสนุนจาก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดตัวโครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า หรือ The Electric Playground โครงการส่งเสริมความรู้เยาวชนระดับมัธยมศึกษา รวมถึงคุณครูให้เข้าถึงองค์ความรู้ด้านการจัดการขยะอย่างถูกวิธี พร้อมแนวทางการสร้างสรรค์นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าจากขยะ ซึ่งเป็นทางออกและตัวเลือกที่จะช่วยจัดการและลดปริมาณขยะที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำร่องใน 50 โรงเรียน จาก 3 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพฯและปริมณฑล ภูเก็ต และขอนแก่น รวมนักเรียนและครูที่เข้าร่วมกว่า 10,000 ราย อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวจะมีการเฟ้นหานวัตกรรมที่สามารถใช้ได้จริงเพื่อรับการลงทุนจากผู้ประกอบการ บริษัท องค์กร หรือกองทุนที่สามารถร่วมลงทุน ตลอดจนคัดเลือกทีมเพื่อไปศึกษาดูงาน และแลกเปลี่ยนความรู้ในต่างประเทศ

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า NIA มีนโยบายส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้ได้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อยอดไปสู่การเป็นนวัตกร สตาร์ทอัพ รวมถึงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านหลักสูตร STEAM4INNOVATOR การจัดกิจกรรมประกวด พร้อมด้วยความร่วมมือกับภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ และอื่นๆ ในการยกระดับเยาวชนให้ได้รู้จักกับการทำนวัตกรรมที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการสร้างมูลค่า-คุณค่าในเชิงเศรษฐกิจและสังคมได้ ล่าสุดจึงได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินโครงการ “สนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า (The Electric Playground) ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมเยาวชนระดับมัธยมศึกษา ตลอดจนคุณครู ผู้ปกครอง รวมถึงประชาชนที่สนใจให้ได้มีความรู้ ความตระหนักและมีส่วนร่วมด้านไฟฟ้าด้วยการให้ความรู้ในการจัดการขยะอย่างถูกวิธี และสามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า รวมถึงสร้างองค์ความรู้ด้านการผลิตนวัตกรรมจัดการปัญหาขยะที่กำลังเป็นประเด็นที่น่าจับตาทั่วโลก

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า The Electric Playgroundเป็นหลักสูตรที่บูรณาการจากองค์ความรู้ “STEAM4INNOVATOR” ที่นำเอาทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรมศาสตร์ ศิลปะ และคณิตศาสตร์ มาบ่มเพาะเยาวชนนักคิด 10,000 ราย ใน 50 โรงเรียน จาก 3 พื้นที่ คือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภูเก็ต และขอนแก่น ให้รู้จักการสร้างไอเดีย การพัฒนาจินตนาการสู่สิ่งที่สามารถจับต้องได้ และลงสำรวจพื้นที่จริงที่มีปัญหาในด้านการจัดการขยะ พร้อมนำไปสร้างสรรค์นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าจากขยะ รวมถึงนวัตกรรมอื่นๆ ที่มีความแปลกใหม่ เพื่อเป็นทางออกและตัวเลือกที่จะช่วยจัดการและลดปริมาณขยะให้น้อยลง ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าวยังมีส่วนสำคัญในการยกระดับคุณครูจากบทบาทผู้สอนหน้าชั้นเรียนสู่การเป็นผู้สร้างนวัตกร ซึ่งคุณครูจะได้เตรียมตัว (Pre-School) ในกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อนำไปพัฒนาการเรียนการสอนต่อไปได้ในอนาคต

สำหรับเยาวชนและคุณครูที่ได้เข้าร่วมโครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าจะได้สนุกกับการเรียนรู้หลักสูตร STEAM4INNOVATOR และเรียนรู้พัฒนาศักยภาพผ่านสนามการเรียนรู้ 4 ด่าน ได้แก่

·       ด่านที่ 1 – EDTRICITY: นักเรียนกว่า 10,000 คน เรียนรู้กระบวนการค้นหาแรงบันดาลใจ สร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ รวมทั้งนำความคิดที่หลากหลายมาสังเคราะห์ เพื่อกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและมีโอกาสทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมได้จริง ผ่านระบบจัดการศึกษาออนไลน์ และทำการคัดเลือกให้ได้สุดยอดไอเดีย 250 ไอเดียเพื่อเข้าสู่ด่านถัดไป

·       ด่านที่ 2 – ELECTRIC FIELD: พา 250 ทีมตัวแทนจาก 50 โรงเรียน ลงลึกพัฒนาไอเดียจากด่านแรกให้ชัดเจน ลงมือทำต้นแบบชิ้นงานให้ใช้งานได้จริงเชิงเทคโนโลยีและเชิงธุรกิจการจัดการ โดยมีมหาวิทยาลัยชั้นนำเป็นผู้สนับสนุนพื้นที่ ห้องทดลอง ห้องสมุด รวมทั้งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ ที่จะคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด และคัดเลือกให้เหลือ 25 ต้นแบบนวัตกรรมไปเข้าค่ายนวัตกร

·       ด่านที่ 3 – ELECATHON: ค่ายพัฒนานวัตกรผู้สร้างนวัตกรรมสุดพิเศษ ที่เข้มข้นและลงลึกทุกรายละเอียดเพื่อพัฒนาเหล่านวัตกรไปสู่รอบชิงชนะเลิศ

·       ด่านที่ 4 – VOLTAGE STAGE: เวที Pitching รอบชิงชนะเลิศที่เหล่านวัตกรจะได้นำเสนอผลงาน 25 นวัตกรรมในเวทีระดับประเทศ กับเหล่าผู้ประกอบการ บริษัท องค์กร หรือกองทุนที่สามารถร่วมลงทุนให้นวัตกรรมหรือธุรกิจที่โดดเด่น (Venture Capital Investors) ซึ่งจะพาฝันของน้องให้เป็นรูปธรรม โดย 10 สุดยอดผลงานจะได้รับการจัดแสดงนิทรรศการประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ผ่านสื่อสำนักต่างๆ ให้เป็นที่รู้จัก นอกจากนี้ ทั้ง 10 สุดยอดทีมนวัตกร จะถูกคัดเลือกเหลือ 5 ทีมเพื่อไปศึกษาดูงาน และแลกเปลี่ยนความรู้ในต่างแดนอีกด้วย

“การสร้างนวัตกรรมเพื่อจัดการขยะเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับทั่วทุกมุมโลก แต่นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวอาจแก้ปัญหาได้ไม่ทันกับปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่ง NIA มองว่าต้องพัฒนาหรือสร้างพลเมืองที่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่มีความตระหนักและเข้าใจปัญหาขยะควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถสร้างเครื่องมือหรือโซลูชั่นที่เกิดจาก
ไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ และสามารถนำไปต่อยอดเป็นโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับตนเองและสังคม
ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินนโยบายดังกล่าวอาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการทำงานของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ และคุณครูในโรงเรียนต่างๆ
ที่มีความสามารถในด้านการสอนและพัฒนาศักยภาพนักเรียน ทั้งนี้ หลังจากที่ได้เริ่มดำเนินโครงการ สิ่งที่
NIA เห็นได้ชัดคือการตื่นตัวและความตั้งใจจริงของคุณครูและนักเรียนผู้ร่วมโครงการกว่า 10,000 คน ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงปัญหาขยะในประเทศไทย อีกทั้งยังเชื่อว่าโครงการนี้สามารถต่อยอดเป็นหลักสูตรเพื่อการเรียนรู้สำหรับโรงเรียนอื่นๆ ที่สนใจได้ในอนาคต” ดร.พันธุ์อาจ กล่าวสรุป

ทั้งนี้ สามารถติดตามเส้นทางการปั้นนวัตกรรุ่นเยาว์ที่จะร่วมกันแก้ปัญหาขยะ ตลอดจนติดตามความเคลื่อนไหวตลอดโครงการได้ที่ www.facebook.com/TheElectricPlaygroundThailand/

Oil refinery at twilight, Aerial view petrochemical plant and oil refinery plant background at night, Petrochemical oil refinery factory plant at twilight.
NAKHONRATCHASIMA, THAILAND – AUGUST 19: Dry municipal waste for Waste to energy procress on AUGUST 19, 2015 in NAKHONRATCHASIMA PROVINCE THAILAND
Professional Industrial Mechanical Engineer with Factory Worker while Using Laptop Computer at Metal lathe industrial manufacturing factory. Engineer Operating are working on projects in recycling factory
Engineer Worker Working teamwork on site construction , Man wear mask covid19

###

#theelectricplayground #สนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า #STEAM4INNOVATOR #NIA #กกพ #JCCOTH