กสร. ติวเข้มกฎหมายแรงงาน ป้องกันการละเมิดสิทธิลูกจ้างในสถานการณ์โควิด-19

กสร.จัดอบรมโครงการเฝ้าระวังและคุ้มครองแรงงานจากการหยุดกิจการชั่วคราวและเลิกจ้างเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิประโยชน์แรงงานตามกฎหมาย สร้างการรับรู้เกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ให้แก่นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้เกี่ยวข้องในสถานประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดีและโฆษกกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างปกติ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมีความจำเป็นต้องหาทางออกโดยการลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน เช่น ลดเงินเดือน การหยุดกิจการชั่วคราว ไปจนถึงการเลิกจ้างและปิดกิจการในที่สุด ซึ่งนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจึงมอบให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ดำเนินการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ด้านแรงงาน ตลอดจนสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมาย โดยกรมได้จัดอบรมโครงการเฝ้าระวังและคุ้มครองแรงงานจากการหยุดกิจการชั่วคราวและเลิกจ้าง เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิประโยชน์แรงงานตามกฎหมาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้แก่นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้เกี่ยวข้องในสถานประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) และป้องกันมิให้แรงงานถูกละเมิดสิทธิจากการหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และเลิกจ้าง ซึ่งการฝึกอบรมจัดขึ้นในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ในรูปแบบการฝึกอบรมออนไลน์ผ่านระบบ Google Meet

รองอธิบดีและโฆษกกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้นายจ้าง และลูกจ้าง ปรึกษาหารือร่วมกันอย่างจริงใจ เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาโดยนำแนวปฏิบัติว่าด้วยการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์มาปรับใช้ ในสถานประกอบกิจการ เช่น การปรับปรุงการบริหารงานบุคคลให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งนายจ้างอาจตกลงกับลูกจ้าง ในการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง แต่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วย ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องได้รับความร่วมมือของนายจ้าง ลูกจ้าง ที่จะพูดคุยกันด้วยหลักสุจริตใจ หากดำเนินการแล้วยังไม่สามารถคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นได้ อาจใช้มาตรการหยุดกิจการบางส่วนชั่วคราว หรือทั้งหมด ตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และขอให้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งการเลิกจ้างลูกจ้างขอให้เป็นทางเลือกสุดท้าย