“ภารกิจดันกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์สู่ Content Provider” ดร.ธนกร ศรีสุขใส

เรื่องราวของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง จากข่าวการอนุมัติโครงการสนับสนุนเงิน 4.8 ล้านบาทให้รายการ ลายกนก ยกสยามสัญจร ช่องท็อปนิวส์ กระแสข้อกังขาในหลักเกณฑ์พิจารณาการให้ทุน ทำให้ “ดร.ธนกร ศรีสุขใส” ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ออกมาชี้แจงและยืนยันว่า เนื้อหาสาระของรายการดังกล่าวเป็นสารคดีท่องเที่ยว นำเสนอเกร็ดความรู้อิงประวัติศาสตร์และมุ่งส่งเสริมให้คนเกิดความรักในชุมชน และยังมีฐานผู้ชมจำนวนมากและไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

กระนั้น กระแสวิพากษ์วิจารณ์ทำให้หลายคนย้อนกลับมาดูภารกิจที่ผ่านมาของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในรอบ 5 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวาระครบขวบปีของการบริหารโดย “ดร.ธนกร ศรีสุขใส” ผู้จัดการกองทุนคนปัจจุบัน ที่ลั่นวาจาไว้ว่า “ภายใน 4 ปีที่ผมอยู่ในตำแหน่งนี้ จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์”

• กางภาพรวมจัดสรรกองทุนปี 64

ดร.ธนกร กล่าวว่า สำหรับภาพรวมการจัดสรรงบ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในปีนี้ ค่อนข้างน่าพอใจ มีผู้เสนอของบประมาณ 1,432 มีโครงการที่ผ่านการพิจารณารวม 98 โครงการ ในวงเงิน 264,358,660 บาท ถือว่าประสบความสำเร็จและบรรลุตามวัตถุประสงค์ ทั้งในด้านการกระจายงบไปสู่ผู้รับทุนหลากหลายประเภท เช่น มีโครงการขนาดใหญ่ 2 โครงการ, บุคคลธรรมดา 38 โครงการ, นิติบุคคล 38 โครงการ และประเภทอื่นๆ ตามเป้าหมาย โดยกระบวนการคัดสรรเข้มข้น รอบคอบ ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับและกฎหมายกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้โครงการที่มีมูลค่ามากกว่า 5 ล้านบาท เข้ามานำเสนอผลงานกับคณะกรรมการ เพื่อแสดงเจตจำนงและความน่าเชื่อถือของผู้ยื่นขอโครงการ ทั้งยังตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกของผู้ยื่นขอทุนทุกโครงการ เพื่อลดความเสี่ยงและเพื่อมั่นใจว่าการจัดสรรงบจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“ด้วยงบประมาณจำกัด แนวทางการพิจารณาจึงเน้นกระจายโอกาสให้กับผู้รับทุนรายใหม่ในทุกปี ส่วนกระแสวิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่มีคนก็พร้อมจะชี้แจงทุกปัญหา ผมยืนยันว่าทุกกระบวนการเป็นไปด้วยความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และมั่นใจว่าการใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ในการจัดสรรทุน จะก่อให้เกิดผลงานคุณภาพ เพราะปีนี้กองทุนฯ ลงรายละเอียดมากขึ้น นำประเภทของสื่อที่จะผลิต ความยาวของเนื้อหา เทคนิคการถ่าย ทำทั้งหมดมาประเมินว่าสอดคล้องกับงบประมาณที่ขอมาหรือไม่”

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นมีส่วนทำให้คนรู้จักและจับจ้องกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มากขึ้น ดร.ธนกร แสดงความเห็นว่า “ต้องยอมรับว่ากระแสข่าวทำให้บทบาทกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นที่รับรู้มากขึ้น ทำให้เรารู้ว่ามีคนจับจ้องอยู่ เป็นโอกาสดีที่ทำให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้เป็นที่รู้จัก ขณะเดียวกันก็หมิ่นเหม่ที่คนทั่วไปจะเข้าใจผิด หรือบิดเบือนข้อมูลไปในทางไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นหน้าที่ของกองทุนที่จะต้องชี้แจง”

“ส่วนประเด็นการสื่อสารในแต่ละปีจะแตกต่างกันตามบริบทของสังคม เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์พยายามผลักดันประเด็น Fake News และ Cyber bullying ซึ่งผลงานทยอยเผยแพร่สู่สาธารณชนในสื่อต่างๆ แล้ว และสำหรับปี 2564 จะเน้นงานโปรดักชั่นที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ลดจำนวนงานศึกษาวิจัย รวมถึงงานฝึกอบรมที่เป็นออฟไลน์ลง” ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ อธิบาย

สำหรับโครงการที่น่าจับตามองในปีนี้ หนีไม่พ้นภาพยนตร์ที่ส่งเสริมความรักชาติ ที่เกิดการตีความและตั้งคำถามตั้งแต่เปิดให้ขอทุน ซึ่งโครงการที่ผ่านการคัดเลือกคือภาพยนตร์เรื่อง พระร่วง พระราชาผู้ทรงธรรม โดยผู้ขอรับทุน บริษัท เดอะวิน ออแกไนเซอร์ จำกัด งบประมาณ 30,000,000 บาท

“เป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายสำหรับผู้ขอรับทุน สิ่งที่ต้องพิถีพิถันอย่างมากคือบทภาพยนตร์ ต้องระมัดระวังการนำเสนอแง่มุมประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่เป็นการยัดเยียดเนื้อหาสำหรับกลุ่มผู้ชมที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ โดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีคำแนะนำแง่มุมใหม่ๆ ในการนำเสนอ เช่น เล่าเกร็ดประวัติศาสตร์โดยอ้างอิงจากเรื่องจริง หรือนำเสนอในเหตุการณ์สมมติแต่แฝงคติธรรม ซึ่งไม่ว่าจะนำเสนอแบบไหนก็ล้วนแต่ท้าทายและเป็นเดิมพันที่จะต้องทำให้ได้ ต้องทะลุทะลวงปัญหาและอุปสรรคที่รออยู่ข้างหน้า” ดร.ธนกร กล่าว

• ภารกิจปูทางสู่การเปลี่ยนแปลงก่อนครบเทอม

พันธกิจของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เริ่มต้นในปี 2558 โดยมีการจัดสรรทุนตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา หากนับอายุขององค์กรถือว่ายังใหม่ ดังนั้น ดร.ธนกร ในฐานะผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คนปัจจุบัน จึงวางแนวทางขององค์กรสู่เป้าหมายการเป็น Content Provider สนับสนุนให้เกิดคลังข้อมูลที่เกี่ยวกับสื่อสร้างสรรค์ไว้ และมีชิ้นงานที่สามารถส่งออกและแข่งขันในต่างประเทศได้

“สิ่งที่เป็นคุณค่าในไทยมีเยอะมากเราอยากผลิตเนื้อหาเชิงวัฒนธรรม ส่งออกสินค้าวัฒนธรรมที่มีคุณค่าทางสังคม สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมได้ด้วย ผมเชื่อและพูดเสมอว่ากองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ไปถึงจุดนั้นได้ การให้ทุนก็เหมือนเราลงทุนในการสร้างผู้ผลิต อยากได้คอนเทนต์ดีๆ ก็ต้องหาผู้ผลิตดีๆ เราต้องพัฒนาศักยภาพเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะรุกไปข้างหน้า ซึ่งการขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าได้ต้องจัดระบบภายในองค์กรให้เข้าที่เข้าทาง สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง ซึ่งคาดว่าในปี 2565 เราจะเริ่มเป็นเจ้าของคอนเทนต์และอาจจะส่งออกต่างประเทศในปีถัดไป

“การขับเคลื่อนประเทศในมิติของสื่อสามารถสร้างผลกระทบได้เยอะ เราอยากทำให้สิ่งที่มันดี เป็นจุดแข็งและมีคุณค่าต่อยอดและนำไปสู่การสร้างมูลค่าคืนกลับมาให้กับประเทศ เพราะผมย้ำเสมอว่าสื่อดีต้องมีคนดูและต้องดังด้วย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ตั้งเป้าภาพที่เราเป็นศูนย์กลางของสื่อสร้างสรรค์ในประเทศ ผมคิดว่า 4 ปีที่ผมเป็นผู้จัดการอยู่ จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงแน่นอน และจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทำงานเชิงรุก รอบคอบ และมุ่งหวังที่ผลสำเร็จเป็นสำคัญ” ดร.ธนกร ปิดท้าย