องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เปิดเผยรายงาน BBFAW ฉบับใหม่ ชี้โอกาสซีพีเอฟยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มสู่เทียร์สูงสุด

นางสาวเหมือนดาว คงวรรณรัตน์ ผู้จัดการโครงการสวัสดิภาพไก่

จากรายงานการจัดอันดับบริษัทที่มีการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มหรือ The Business Benchmark on Farm Animal Welfare: BBFAW ในปี พ.ศ.2563 ได้เผยให้เห็นว่า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้เลื่อนขั้นจาก เทียร์ 4 ในปี พ.ศ.2562 ขึ้นมาอยู่ เทียร์ 3 ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนด้านสวัสดิภาพสัตว์ โดยทางองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ยังมองเห็นถึงโอกาสที่จะพัฒนาไปอีกขั้นเพื่อขึ้นแท่นเป็นผู้นำด้านการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ในระดับสากล

รายงาน BBFAW เป็นการจัดอันดับบริษัทชั้นนำระดับโลกจำนวน 150 บริษัททั่วโลก ด้านนโยบายการดำเนินงาน ด้านสวัสดิภาพสัตว์ โดยแบ่งออกเป็น 6 เทียร์ ระดับสูงสุดคือ เทียร์ 1 เป็นผู้นำการจัดการด้านสวัสดิภาพสัตว์ (Leadership) ไปจนถึงอันดับสุดท้าย เทียร์ 6 ไม่ปรากฏแผนด้านสวัสดิภาพสัตว์ในการดำเนินธุรกิจ (No evidence it’s on the business agenda) ซึ่งจำแนกเกณฑ์การประเมินดังนี้ 1.การบริหารจัดการและนโยบาย (Management Commitment and Policy) 2.ด้านธรรมาภิบาลและการจัดการ (Governance and Management) 3.นวัตกรรมและความเป็นผู้นำ (Innovation and Leadership) 4.การรายงานผลการดำเนินงานและผลกระทบ (Performance Reporting and Impact)

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ซีพีเอฟ เป็นบริษัทหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่ถูกจัดอันดับและได้มีการเลื่อนขั้น จากเทียร์ 5 ขึ้นมาเทียร์ 3 ในปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ในการประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

 

นางสาวเหมือนดาว คงวรรณรัตน์ ผู้จัดการโครงการสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า “ผลจากรายงานล่าสุดนี้ได้เผยให้เห็นถึงแนวโน้มการดำเนินธุรกิจพร้อมการปรับปรุงสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีขึ้น สะท้อนถึงสถานะผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ระดับโลกได้เป็นอย่างดี และเรายังมองเห็นถึงโอกาสของการพัฒนาไปอีกขั้น เช่น การกำหนดนโยบายไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคแบบรวมกลุ่มในสัตว์ฟาร์มในทุกสายการผลิต รวมถึงปรับปรุงแนวปฏิบัติภายในฟาร์มเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตสัตว์อย่างแท้จริง เช่น การไม่ตัดตอนอวัยวะลูกหมู ไม่ขลิบหู และเลือกใช้สายพันธุ์ไก่เนื้อที่เติบโตช้าลง ซึ่งทางองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ร่วมกับภาคีเครือข่าย และนักวิชาการได้ร่วมกันพัฒนา Farm Animal

Responsible Minimum Standard (FARMS initiative) เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยขับเคลื่อนมาตรฐานขั้นพื้นฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์และมีความยินดีที่จะสนับสนุน ซีพีเอฟ และบริษัทผู้ผลิตอาหารอื่นๆในประเทศไทยให้มีมาตรฐานทัดเทียมกับกระแสความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก เพื่อนำไปสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืนและเป็นธรรมมากขึ้น”

โดย ซีพีเอฟ ถือเป็นผู้นำที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้ค้าปลีก และเป็นผู้จำหน่ายอาหารรายใหญ่ให้แก่ร้านค้าและร้านอาหารอื่นๆ ในประเทศไทยและต่างประเทศ จึงยิ่งต้องแสดงความเป็นผู้นำในการส่งมอบอาหารที่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภคและยังสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนด้วย ทางองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกมุ่งหวังที่จะเห็น ซีพีเอฟ ก้าวขึ้นสู่เทียร์ 1 ในการจัดอันดับครั้งต่อไป (รายงาน BBFAW เพิ่มเติม https://www.bbfaw.com/media/1942/bbfaw-report-2020.pdf )

 

เกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection เป็นองค์กรเพื่อคุ้มครองปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทารุณกรรมสัตว์อย่างถาวร โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 มีบทบาทในการให้คำปรึกษากับองค์การสหประชาชาติและสภายุโรป ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ สร้างความแตกต่างให้สัตว์ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ถูกทารุณกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยดำเนินงานครอบคลุมทั้งสัตว์ในชุมชน – สุนัข , สัตว์ป่า, สัตว์ประสบภัยพิบัติ – ช่วยเหลือสัตว์ในภาวะภัยพิบัติ การจัดหาอาหาร ที่อยู่และยารักษาโรคให้กับสัตว์, สัตว์ในฟาร์ม รวมถึงการให้ความรู้ด้านปศุสัตว์ที่มีมนุษยธรรมอันส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนและสัตว์ ข้อมูลเพิ่มเติม www.worldanimalprotection.or.th /