รมว.สุชาติ เร่งขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล จ้างงานผู้สูงอายุ เพิ่มทักษะการประกอบอาชีพ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผย ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล สนับสนุนภาคเอกชนจ้างงานพาร์ทไทม์ผู้สูงอายุ จัดหางานให้ผู้สูงอายุตามความเหมาะสม พัฒนาทักษะฝีมือเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ คุ้มครองให้ได้รับสิทธิตามกฎหมาย และเสริมสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิต

เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เนื่องในวันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing society) โดยเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด เนื่องจากปัจจุบันนี้มีจำนวนผู้สูงอายุทั้งสิ้นประมาณ 12 กว่าล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุที่ทำงานประมาณ 4.7 กว่าล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 36.91 รัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเปราะบาง โดยการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย โดยปรับปรุงระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและเบี้ยยังชีพของประชาชน อาทิ ผู้สูงอายุและคนพิการที่มีรายได้น้อย ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงาน ได้มีนโยบายที่สำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมแรงงานผู้สูงอายุ ให้มีงานทำการเตรียมรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ได้แก่ ด้านการพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ จำนวน 8,200 กว่าคน มีการขับเคลื่อนผ่านโครงการที่สำคัญ เช่น การฝึกทักษะอาชีพต่างๆ ทั้งรูปแบบการฝึกปกติและฝึกผ่านระบบออนไลน์ การฝึกอบรมแรงงานผู้สูงอายุ การส่งเสริมการตลาดสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น ด้านส่งเสริมการมีงานทำ ขับเคลื่อนผ่านโครงการสำคัญ เช่น การออกประกาศขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนสนับสนุนการจ้างงานรายชั่วโมง (Part -Time) สำหรับผู้สูงอายุ การจ้างงานผู้สูงอายุเข้าทำงานตามความเหมาะสม โครงการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ กิจกรรม 1 อำเภอ 1 ภูมิปัญญา โครงการขยายโอกาสการมีงานทำให้ผู้สูงอายุว่า ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีเป้าหมายรวม 17,615 คน ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ ส่งเสริมการประกอบอาชีพให้ผู้สูงอายุ เป้าหมาย 2,580 คน และส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุในอาชีพที่เหมาะสมกับวัย และประสบการณ์ เป้าหมาย 15,035 คน กิจกรรมสานพลังประชารัฐ จัดหางานให้ผู้สูงอายุ ได้แก่ การสำรวจข้อมูลผู้สูงอายุ ประชุมนายจ้าง สถานประกอบการเพื่อรวบรวมตำแหน่งงานว่าง จัดหางานให้ผู้สูงอายุ และกิจกรรมสร้างโอกาสการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ ด้วยการจ้างทำงานในหน่วยงานของกรมการจัดหางาน เป็นต้น ในปี 2564 จากข้อมูลของกรมการจัดหางาน พบว่า มีผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริมการประกอบอาชีพและส่งเสริมการจ้างงานแล้ว 10,514 คน แบ่งเป็นผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริมการประกอบอาชีพ 1,113 คน สร้างรายได้ให้ผู้สูงอายุ 185,850 บาท ผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริมการจ้างงาน 9,401 คน ผู้สูงอายุใช้บริการจัดหางาน 888 คน และได้รับการบรรจุงาน 739 คน

ด้านการคุ้มครองให้ได้รับสิทธิตามกฎหมาย ขับเคลื่อนผ่านโครงการสำคัญ เช่น การส่งเสริมความรู้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้าน การปฏิรูประบบบำนาญ ส่งเสริมสวัสดิการแรงงานสูงอายุเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต การออกหน่วยเคลื่อนที่ให้บริการสวัสดิการด้านสุขภาพแก่แรงงานผู้สูงอายุ การส่งเสริมความรู้และหน้าที่และความปลอดภัยในการทำงานแก่แรงงานนอกระบบสูงอายุในภาคเกษตร เป็นต้น และด้านประกันความมั่นคงในชีวิต ขับเคลื่อนผ่านโครงการสำคัญ เช่น โดยการขยายการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิม 60 ปีบริบูรณ์เป็นไม่กำหนดอายุขั้นสูง ประกันเงินบำนาญขั้นต่ำให้แก่ทายาท กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิตภายใน 60 เดือน ปรับสูตรการคำนวณบำนาญของผู้ประกันตนเมื่อเกษียณอายุ และพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้ผู้รับบำนาญสามารถเป็นผู้ประกันตนต่อไป โดยได้รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี คือ เจ็บป่วย ทุพพลภาพและตาย และรณรงค์ให้แรงงานภาคอิสระและผู้สูงอายุสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 เป็นต้น