ใกล้ต่อภาษีรถแล้ว ซื้อประกันภัย พ.ร.บ. ที่ไหนดี

การต่อภาษีรถเป็นสิ่งที่เจ้าของรถจะต้องทำเป็นประจำทุกปี โดยนอกจากค่าภาษีรถที่ต้องจ่ายแล้ว ยังมีค่าเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ. ที่กฎหมายกำหนดให้รถที่จะต่อภาษีต้องทำก่อนจึงจะยื่นต่อภาษีได้ ซึ่งค่าเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ. ไม่ได้แพงอย่างที่คิด และสามารถหาซื้อได้ง่ายมาก

โดยกฎหมายกำหนดอัตราค่าเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ. สำหรับรถจักรยานยนต์ ส่วนบุคคล ไว้ ดังนี้

– ไม่เกิน 75 ซี.ซี. 161.57 บาท

– เกิน 75 ซี.ซี. ถึง 125 ซี.ซี. 323.14 บาท

– เกิน 125 ซี.ซี. ถึง 150 ซี.ซี. 430.14 บาท

– เกิน 150 ซี.ซี. ขึ้นไป 645.21 บาท

– รถจักรยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 323.14 บาท

สำหรับอัตราค่าเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ. ของรถยนต์ส่วนบุคคล ไม่เกิน 7 ที่นั่ง กฎหมายกำหนดราคาไว้ 645.21 บาท

นอกจากนี้ กฎหมายยังได้กำหนดอัตราค่าเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ. สำหรับรถประเภทต่าง ๆ ที่ อาทิ รถรับจ้าง รถบรรทุก หัวลากจูง รถพ่วง รถที่ใช้งานเกษตรกรรม เป็นต้น เอาไว้อีกด้วย

ในการซื้อประกันภัย พ.ร.บ. นั้น ปัจจุบันสามารถหาซื้อได้ง่ายผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อผ่านตัวแทน/นายหน้าของบริษัทประกันภัยโดยตรง ผ่านทางเว็บไซต์บริษัทประกันภัยหรือผู้แทนจำหน่าย เคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือที่ธนาคาร หรือแม้แต่สำนักงานขนส่งทุกจังหวัด เรียกได้ว่ามีช่องทางมากมายที่จะสามารถซื้อประกันภัย พ.ร.บ. ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว สำหรับเจ้าของรถที่ต้องการจะซื้อประกันภัย พ.ร.บ. เพียงเตรียมสำเนาทะเบียนรถและบัตรประจำตัวประชาชนให้พร้อม ก็สามารถติดต่อขอซื้อประกันภัย พ.ร.บ. ผ่านทางช่องทางที่กล่าวมาข้างต้นได้แล้ว

การทำประกันภัย พ.ร.บ. มีความสำคัญ เนื่องจากอุบัติเหตุจากนั้นรถมีจำนวนมาก และเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งหากรถที่ก่อให้เกิดเหตุมีประกันภัย พ.ร.บ. ผู้ประสบภัยจากรถที่ไม่ได้เป็นฝ่ายผิด จะได้รับความคุ้มครองในกรณีบาดเจ็บ สูงสุดถึง 80,000 บาท หรือกรณีได้รับความเสียหายต่อร่างกายอนามัย หรือเสียชีวิต สูงสุดถึง 500,000 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับเบี้ยประกันภัยที่จ่ายแล้ว เป็นการจ่ายเงินที่ถูกมากเมื่อเทียบกับความคุ้มครองที่ได้รับ คือ ค่าเบี้ยประกันภัย 323.14 บาท สำหรับรถจักรยานยนต์ และ 645.21 บาท สำหรับรถยนต์ โดยให้ความคุ้มครอง 1 ปี ซึ่งคิดเฉลี่ยเป็นรายวันตกแค่วันละ 0.8 บาท (วันละไม่ถึงบาท) สำหรับรถจักรยานยนต์ และ 1.7 บาท สำหรับรถยนต์ เท่านั้น

ดังนั้น ทุกคนที่ใช้รถ ต้องทำประกันภัย พ.ร.บ. เพื่อคุ้มครองความรับผิดของตนเองที่มีต่อผู้อื่น และเป็นการรับผิดชอบต่อสังคม โดยจะทำให้ผู้ประสบภัยจากรถได้รับความคุ้มครองตามวงเงินที่สูงที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และหากเจ้าของรถไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือควรพกหลักฐานการทำประกันภัย พ.ร.บ. ติดรถไว้เสมอ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะได้มีหลักฐานแสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้

———————————————————-

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : สายด่วน คปภ. 1186