โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เลี่ยงปัจจัยเสี่ยง รู้วิธีป้องกัน ปลอดภัยชัวร์

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือบางคนอาจรู้จักกันในชื่อกามโรค ซึ่งบางคนรู้จักเพียงโรคเอดส์ หรือการติดเชื้อเอชไอวี แต่แท้จริงแล้ว โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีหลายโรคด้วยกัน ติดต่อได้ทั้งทางการมีเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม แผลริมอ่อน ฝีมะม่วง ติดต่อทางเลือด หรือจากแม่สู่ลูก เช่น ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบบี นอกจากนี้ ยังมีบางโรคที่สามารถติดต่อทางการสัมผัสได้ เช่น หูดหงอนไก่ หูดข้าวสุก เริม หิด โลน ซึ่งในบางโรคอาจแสดงอาการหรือไม่แสดงอาการก็ได้

ด้วยสถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ พ.ศ.2558-2562) จากข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่ามีผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรคหลัก (ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม แผลริมอ่อน และฝีมะม่วง/กามโรคต่อมน้ำเหลือง) มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยมีอัตราป่วยเพิ่มขึ้นจาก 23.0 ต่อประชากรแสนคน ในปีงบประมาณ 2558 เป็น 33.8 ต่อประชากรแสนคน ในปีงบประมาณ 2562 โดยพบว่าโรคหนองในมีอัตราป่วยสูงสุด รองลงมาคือ ซิฟิลิส หนองในเทียม แผลริมอ่อน และฝีมะม่วง/กามโรคต่อมน้ำเหลือง ตามลำดับ ซึ่งพบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 15-24 ปี

“หนองใน-ซิฟิลิส” 2 อันดับแรก พบมากที่สุดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

“โรคหนองใน” เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Neisseria gonorrhoeae มีระยะฟักตัว 1-14 วัน และมักทำให้เกิดอาการในช่วง 2-5 วัน ในผู้ป่วยชายส่วนใหญ่จะมีอาการปัสสาวะแสบขัด และมีหนองไหลจากท่อปัสสาวะ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น อัณฑะอักเสบ ทำให้เป็นหมันได้ ผู้ชายอาจไม่แสดงอาการ 10% ส่วนในผู้หญิง อาจมีตกขาวมีกลิ่นเหม็น ปัสสาวะแสบขัด ปวดท้องน้อย และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น อุ้งเชิงกรานอักเสบ จนอาจทำให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกหรืออาจเป็นหมันได้ และในผู้หญิง 70% อาจไม่มีอาการผิดปกติ ทั้งชายและหญิงอาจติดเชื้อที่ลำคอได้ หากมีการร่วมเพศทางปาก (Oral sex) แต่การติดเชื้อทางทวารหนักมักไม่มีอาการ ส่วนโรคหนองในเทียมเกิดจากเชื้อได้หลายชนิด แต่ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาการจะน้อยกว่าโรคหนองใน และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้เช่นเดียวกับโรคหนองใน

“โรคซิฟิลิส” เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Treponema pallidum มีระยะฟักตัวประมาณ 10-90 วัน ผู้ป่วยอาจมีอาการได้หลายอย่าง ตามระยะของโรค เช่น แผลริมแข็งที่อวัยวะเพศหรือทวารหนัก มีผื่นตามลำตัว ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ผมร่วง คิ้วร่วง แต่ในผู้ป่วยที่เป็นโรคซิฟิลิสระยะแฝงจะไม่แสดงอาการ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา โรคอาจลุกลามทำลายอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ สมอง กระดูก ทำให้พิการและเสียชีวิตได้

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย หรือ ถุงยางอนามัยแตก รั่ว หลุด ไม่ว่าช่องทางใดช่องทางหนึ่งที่ใช้ในการมีเพศสัมพันธ์ก็ตาม (ทางอวัยวะเพศ ทางทวารหนัก ทางช่องปากและคอ) คู่เพศสัมพันธ์เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือการที่มีคู่เพศสัมพันธ์มากกว่า 1 คน ก็ทำให้ความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน

ดังนั้น ในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับทุกช่องทาง เนื่องจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สามารถติดได้ทุกช่องทาง นอกจากนี้หากใช้สารหล่อลื่นควรใช้ชนิดที่มีน้ำหรือซิลิโคนเป็นส่วนผสม เนื่องจากการใช้สารหล่อลื่นที่มีส่วนประกอบอื่นอาจทำให้ถุงยางอนามัยฉีกขาดได้ง่าย ส่วนผู้ที่กิน PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) เพื่อป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อนั้น ยังคงต้องใช้ร่วมกับการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจาก PrEP ป้องกันเพียงเชื้อเอชไอวี แต่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้ และการใช้ถุงยางอนามัย ยังสามารถป้องกันการท้องไม่พร้อมได้อีกด้วย สุดท้ายนี้กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

กรมควบคุมโรค ให้บริการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่อาคารบางรัก เขตสาทร กรุงเทพมหานคร สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 081-875-9904

ข้อมูลจาก นพ.กิตติภูมิ ชินหิรัญ นายแพทย์ชำนาญการ กลุ่มบางรักโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค

กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ วันที่ 15-01-2564