มท.๓ ผลักดันร่างกฎกระทรวงกำหนดอาคารที่ต้องทำประกันภัย คุ้มครองบุคคลภายนอก

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.๓) กล่าวว่า ปัจจุบันมีการก่อสร้างอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ โรงแรม ฯลฯ เพื่อรองรับการขยายตัวของประชากรเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาคารเหล่านี้เป็นอาคารสาธารณะที่มีคนเข้าไปใช้ในแต่ละวันจำนวนมาก ดังนั้นความปลอดภัยของผู้ใช้อาคารจึงเป็นเรื่องสำคัญ จึงมีนโยบายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ในฐานะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการออกข้อกำหนดและปรับปรุงแก้ไขกฎหมายควบคุมอาคาร รวมถึงการกำหนดมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยเกี่ยวกับ การก่อสร้างอาคาร ดำเนินการทบทวน ปรับปรุง แก้ไขกฎหมายให้ทันต่อสภาพการณ์ และเพิ่มมาตรการความปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น

นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยได้จัดทำร่างกฎกระทรวงกำหนดชนิดหรือประเภทของอาคาร หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และจำนวนเงินเอาประกันภัยที่เจ้าของอาคาร ผู้ครอบครองอาคาร หรือผู้ดำเนินการ ต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ซึ่งร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ขณะนี้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับหลักการเมื่อวันอังคารที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๓ โดยสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงมีดังนี้

๑. กำหนดให้การก่อสร้าง ดัดแปลง เคลื่อนย้าย รื้อถอน หรือการใช้อาคารของเอกชน ต้องทำประกันภัยต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ซึ่งอาคารของเอกชน ได้แก่ (๑) อาคารขนาดใหญ่ (๒) อาคารขนาด

ใหญ่พิเศษ (๓) อาคารสูง (๔) อาคารชุมนุมคน (๕) โรงแรม ๘๐ ห้องขึ้นไป (๖) สถานบริการ พื้นที่ ๒๐๐ ตารางเมตร ขึ้นไป (๗) ป้ายสูงจากพื้นดินตั้งแต่ ๑๕ เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ ๕๐ ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดบนหลังคา หรือตั้งบนหลังคา ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ ๒๕ ตารางเมตรขึ้นไป

๒. กำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ไม่น้อยกว่า ๑๐๐,๐๐๐ บาทต่อคน ค่ารักษาพยาบาล ไม่น้อยกว่า ๑๐๐,๐๐๐ บาทต่อคน รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ล้านบาทต่อครั้ง และคุ้มครองทรัพย์สินบุคคลภายนอก ไม่น้อยกว่า ๕๐๐,๐๐๐ บาทต่อครั้ง ซึ่งการได้รับค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวไม่เป็นการตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่น

๓. เมื่อเจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารที่ทำประกันภัยแล้ว จะต้องแสดงสำเนากรมธรรม์ประกันภัยไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ชัดเจนภายในอาคารนั้นด้วย

๔. อาคารที่มีอยู่ก่อนที่กฎกระทรวงบังคับใช้ จะต้องทำประกันภัย โดยยื่นหลักฐานการทำประกันภัย ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้บังคับใช้ และให้ยื่นหลักฐานการทำประกันภัยทุกปีระหว่างการใช้อาคารนั้นต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น

๕. ในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงจะมีความผิดทางอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากต้องระวางโทษตามที่กำหนดแล้ว ต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๕ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒

ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงจะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ๖๐ วัน