มูลนิธิเอสซีจี ชวนน้องร่วมทำความดีกับโครงการ “เยาวชน คนทำดี” ชิงเงินสูงสุด 1 แสนบาท

 

มูลนิธิเอสซีจี รวมพลคนร้อนวิชา ชวนน้องๆ ร่วมโชว์พลังทำความดี

กับโครงการ “เยาวชน คนทำดี” ปี 5

ชิงเงินสนับสนุนสูงสุดโครงการละ 100,000 บาท

 

การปลูกจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมของเยาวชน ถือเป็นพันธกิจหนึ่งที่มูลนิธิเอสซีจีมุ่งมั่นดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการ “เยาวชน คนทำดี”  โดย มูลนิธิเอสซีจี ซึ่งเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ได้รวมตัวกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป มาแสดงพลังในการคิดสร้างสรรค์โครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยนำความรู้ที่สอดคล้องกับวิชาหรือหลักสูตรที่กำลังศึกษาอยู่มาลงมือปฏิบัติจริง เพื่อแบ่งปันรอยยิ้ม เติมความสุขให้แก่ชุมชนและสังคม ซึ่งโครงการที่ผ่านการคัดเลือก จะได้รับงบประมาณสนับสนุนเพื่อนำไปดำเนินงานจริง ด้วยวงเงินสูงสุดโครงการละ 100,000 บาท

สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี ผู้จัดทำโครงการนี้กล่าวว่า เชื่อมั่นในคุณค่าของคน คืออุดมการณ์ที่มูลนิธิเอสซีจียึดถือมาโดยตลอด มูลนิธิฯ จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากร ‘คน’ โดยเน้นที่เด็กและเยาวชน ไม่เพียงเท่านี้ มูลนิธิฯ ยังตระหนักเสมอว่าการปลูกจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม และส่งเสริมความเป็นผู้มีจิตอาสาให้หยั่งรากลึกในใจคนรุ่นใหม่ เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างคนคุณภาพให้แก่สังคม เพราะสังคมต้องการทั้งคนเก่งและดี’ ซึ่งหมายถึงคนที่ไม่ได้เก่งในตำราเพียงอย่างเดียว แต่เป็นคนที่มีจิตสาธารณะควบคู่ไปด้วย เราจึงเชิญชวนนิสิตนักศึกษาให้นำความรู้ที่เรียนมาบวกกับพลังจิตอาสาไปทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ความรู้ในห้องเรียนจะมีคุณค่ายิ่ง หากสิ่งนั้นสามารถนำมาประยุกต์เพื่อรับใช้สังคมได้”

ด้าน น้องกุ้ง-ปิ่นมณัฐ โคตรชา นักเรียนอาชีวะฝีมือชน ชั้น ปวส.2 สาขาวิชาเทคโนโลยีออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี เจ้าของโครงการ“สืบสานภูมิปัญญา พลิกฟื้นผืนเศษผ้า เพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้น้อง” 1 ในผู้ที่เคยเข้าร่วมโครงการ “เยาวชน คนทำดี” เมื่อปีที่ผ่านมา ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์และการใช้องค์ความรู้ที่เรียนมาเพื่อสืบสานภูมิปัญญาผ้าทอให้คงอยู่ว่า “หนูเป็นคนอุดรฯ เติบโตมากับวิถีชีวิตของผ้าพื้นถิ่น ภาพจำของหูกทอผ้าและเสียงฟืมกระทบกี่เป็นความทรงจำวัยเด็กที่ไม่อาจลืมเลือน หนูคงใจหายหากวันข้างหน้าหูกทอผ้าจะหายไปจากภาคอีสาน และจากการที่หนูกับเพื่อนๆ ได้ลงพื้นที่ชุมชนบ้านแสงบูรพา หนึ่งในแหล่งหัตถกรรมผ้าทอที่มีชื่อเสียง พวกเราพบว่ามีเศษผ้าไหม ผ้าฝ้ายและผ้าขิด ที่ชาวบ้านตัดออกจากกี่ทอผ้าจำนวนมาก ซึ่งการกำจัดเศษผ้าเหลือใช้เหล่านี้จะเป็นการเผาเสียส่วนใหญ่ พวกเราจึงมาร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะช่วยลดขยะ ตลอดจนทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่รู้สึกรักและอยากจะสืบสานภูมิปัญญาผ้าทอให้คงอยู่ เราจึงรวมตัวกันสอนอาชีพให้กับเยาวชนท้องถิ่น โดยใช้ความรู้ที่เรียนมาแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเศษผ้าทอพื้นเมืองเหลือใช้ ประกอบกับวิชาการตัดเย็บกระเป๋าจากเศษผ้า ซึ่งได้เรียนรู้จาก อาจารย์เบญจวรรณ บุ้งทอง ครูผู้สอนสาขาวิชาเทคโนโลยออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ ช่วยกันออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบกว่า 10 รายการ ที่มีความยากง่ายต่างกัน เพราะต้องนำไปสอนวิธีทำกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชนวัยตั้งแต่อายุ 9-25 ปี ดังนั้น หลักสูตรการเรียนรู้จึงต้องประยุกต์ให้เหมาะสมกับทุกกลุ่ม อีกทั้งยังมีการสอนการคำนวณต้นทุนและกำไรที่จะได้รับจากการผลิต เพื่อเป็นแรงจูงใจและผลักดันให้เยาวชนมีแรงกระตุ้นในการทำงาน มีการรับรองมาตรฐาน ตลอดจนนำไปจำหน่ายในท้องตลาดจริง เพื่อสร้างรายได้ให้กับเยาวชนและชุมชนอีกด้วย ต้องขอขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่ให้การสนับสนุนการทำความดีในครั้งนี้ และหนูขอเชิญชวนให้เพื่อนๆ ที่มีไอเดียดีๆ มาสมัครร่วมโครงการในปีนี้ เพื่อแบ่งปันความสุขและสร้างรอยยิ้มให้กับชุมชนของเรากันนะคะ

ส่วน น้องเหนือ-ศตวรรษ ดอกจันทร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียาง ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เจ้าของโครงการ “พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับผลิตไส้หมอนขิดจากน้ำยางพารา” กล่าวเสริมว่า “ไส้หมอนขิดจากน้ำยางพาราเกิดจากการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำในพื้นที่จังหวัดยโสธร โดยเป็นผลงานวิจัยของ อาจารย์ชัยวุฒิ วัดจัง อาจารย์ประจำคณะของผม ซึ่งชาวบ้านตำบลศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ได้มาเข้าร่วมโครงการดังกล่าวด้วย โดยชาวบ้านได้ฝึกการตีฟองน้ำยางพาราเพื่อนำมาทำไส้หมอนยางพารา ซึ่งมีอายุทนทานกว่า และส่งผลดีต่อสุขภาพ เพราะไม่เก็บฝุ่นเหมือนไส้หมอนที่ทำจากนุ่น จนโด่งดังเป็นโอท็อปของจังหวัดและได้จัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสวนยางตำบลศรีฐาน ต่อมาชุมชนได้ประสบปัญหาเรื่องอัตราการผลิตที่ล่าช้าเพราะไส้หมอนขิดยางพารานั้นแห้งช้า ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ผมและเพื่อนๆ จึงได้คิดสร้างโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์รูปโดม โดยใช้แผ่นโพลีคาร์บอเนตในการทำหลังคา เพราะมีคุณสมบัติโปร่งแสงทำให้แสงส่องผ่านได้มาก แต่จะสะท้อนกลับได้น้อย เมื่ออุณหภูมิภายในโรงอบสูงขึ้น ไส้หมอนของชาวบ้านก็จะแห้งเร็วขึ้นทำให้ทันต่อการผลิต และโรงอบยังมีพัดลมดูดอากาศ กรณีที่โรงอบมีอุณหภูมิสูงกว่าที่ตั้งไว้ พัดลมจะดูดอากาศออกไปภายนอก โดยที่ตัวพัดลมจะใช้พลังงานจากแผ่นโซลาเซลล์ที่ติตตั้งภายนอกโรงอบ ซึ่งจะเปลี่ยนพลังงานแสงแดดเป็นพลังงานไฟฟ้า ทำให้โรงอบมีอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการตากหรืออบไส้หมอนของชาวบ้าน รวมทั้งยังใช้ตากหรืออบผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆ ของชาวบ้านได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นต้นแบบการเรียนรู้ของชาวบ้านในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง สร้างความภาคภูมิใจให้กับผมที่ได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคม โดยได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาให้เกิดประโยชน์ สุดท้ายอยากฝากถึงเพื่อนๆ ที่มีพลังความรู้ ความคิดดีๆ มาสมัครเข้าร่วมโครงการนี้กันนะครับ เพราะนอกจากจะได้นำความรู้มาตอบแทนสังคมแล้ว ยังถือเป็นการพัฒนาศักยภาพของตนเองอีกด้วย

น้องๆ เยาวชนที่สนใจ สามารถส่งโครงการเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่วันนี้ – 15 มิถุนายน 2560 โดยดูรายละเอียดเพิ่มเติมพร้อมดาวน์โหลดใบสมัครได้ทางwww.scgfoundation.org และเฟซบุ๊ก www.facebook.com/เยาวชนคนทำดี หรือ โทร. 02-586-5218