ส่องแผนรัฐรับมือฝน ! ค้นคำตอบ“ลุ่มเจ้าพระยา”ปีนี้ จะรอดจากน้ำท่วมหรือไม่?

แม้การคาดการณ์ภาพรวมปริมาณน้ำฝนในปีนี้จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ย แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีได้ว่า“ปีนี้น้ำจะไม่ท่วม”โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีความสำคัญอย่างมากทางด้านเศรษฐกิจและต้องเผชิญกับปัจจัยแทรกซ้อนอื่นๆ ได้อย่างมากมาย เช่น การเกิดพายุจร น้ำทะเลหนุน และปริมาณน้ำเหนือที่ไหลบ่าลงมาและน้ำทะเลหนุน  ดังนั้นสิ่งเดียวที่จะทำให้ประชาชนทุกคนอุ่นใจได้ จึงหนีไม่พ้น “การเตรียมความพร้อม” เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้

คำถามสำคัญในวันนี้จึงอยู่ที่ว่าหน่วยงานต่างๆ ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้วอย่างไร ครอบคลุมแค่ไหนและท้ายที่สุดแล้ว ในปีนี้ “ลุ่มเจ้าพระยา” จะรอดจากน้ำท่วมได้หรือไม่?

  ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์​ เลขาธิการสทนช. ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) เปิดเผยว่าโดยข้อเท็จจริงการจัดทำแผนป้องกันน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเกิดขึ้นตั้งแต่หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554แล้ว โดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันทำการศึกษากระทั่งเกิดเป็น แผนงานบรรเทาอุทกภัยเจ้าพระยาเสนอให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณา

จากนั้น สทนช. จึงได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ทำการศึกษาการจัดลำดับความสำคัญแผนงานเพื่อบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเริ่มศึกษาเมื่อปี2562 ซึ่งปัจจุบันผลการศึกษาดังกล่าว ได้ดำเนินการจนเสร็จสิ้นและมีความชัดเจนเรียบร้อยแล้ว โดยมีโครงการที่เชื่อมโยงกับทั้ง แผนงาน และมีงานจำเป็นเร่งด่วนที่ได้ดำเนินการก่อนล่วงหน้าแล้วบางโครงการ

นี่คือ “ภาพรวม” ของการวางแผนป้องกันน้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยาในระยะยาว

ส่วนการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าในช่วงฤดูฝนปีนี้นั้น ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า กอนช.ได้บูรณาการหน่วยงานต่างๆให้เร่งดำเนินการตาม มาตรการ ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน เช่น การพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพแหล่งน้ำทุกขนาดเพื่อช่วยเก็บกักน้ำ การเตรียมทุ่งรับน้ำ การขุดลอกคูคลองท่อระบายน้ำ การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำและผักตบชวา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาจะเห็นว่าเริ่มเกิดฝนตกหนัก รวมทั้งเกิดสถานการณ์น้ำหลาก ดินถล่ม จากอิทธิพลของลมพายุในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน และทำให้หลายคนเกิดความกังวลใจว่า รัฐได้เตรียมความพร้อมสำหรับรับมือกับสถานการณ์น้ำฝนในปีนี้ไว้ดีเพียงใด และทุกคนจะสามารถวางใจต่อสถานการณ์ได้มากน้อยเพียงใด

ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน เกี่ยวกับเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ในเชิงป้องกันล่วงหน้าก่อนเกิดเหตุ รวมทั้งทำให้เห็นภาพรวมของแผนการป้องกันน้ำท่วมในลุ่มเจ้าพระยาทั้งหมด กอนช. จึงได้จัดการประชุมเสวนาเรื่อง “ส่งแผนรัฐรับมือฝน ปี 2563 ลุ่มน้ำเจ้าพระยารอดหรือไม่?” ณ ห้องประชุม Auditorium อาคารศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ในวันศุกร์ที่14สิงหาคม2563 โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. เป็นประธาน 

  “การจัดงานครั้งนี้จะทำให้เห็นภาพรวมการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้ แผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ที่ผ่านมามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และกำลังจะมีอะไรเกิดขึ้นมีการจัดลำดับความสำคัญอย่างไรและที่สำคัญ คือ การแสดงผลดำเนินงานตาม มาตรการรับมือฝนปีนี้เพื่อให้ทุกคนมองเห็นภาพรวมการจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยาได้พร้อมกันทั้งหมดในคราวเดียว”

ดร.สมเกียรติ   กล่าวต่อว่า ภายในงานจะแบ่งพื้นที่เป็น ส่วน คือ 1.การจัดนิทรรศการบริเวณด้านหน้างาน เพื่อแสดงผลงานตาม 8 มาตรการรับมือฤดูฝน และ 9 แผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยารวมทั้งมีแสดงการติดตามบัญชาการสถานการณ์น้ำด้วยเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ โดยกอนช.ร่วมกับ 6 หน่วยงาน ได้แก่ 1.กรมชลประทาน 2.กรุงเทพมหานคร 3.กรมโยธาธิการและผังเมือง 4.กรมเจ้าท่า 5.กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ 6.กองทัพอากาศ 

2.การเสวนา “ส่องแผนรัฐรับมือฝน ปี 2563 ลุ่มน้ำเจ้าพระยารอดหรือไม่ ? โดยมีผู้ร่วมเสวนา 5 ท่าน แบ่งเป็น จากหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สทนช.,กรุงเทพมหานคร และกรมชลประทาน รวมถึงนักวิชาการ ได้แก่ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต และนายชวลิต จันทร์รัตน์ นักวิชาการ ขณะเดียวกันยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถเสนอแนะข้อคิดเห็น และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เสวนาบนเวทีได้ด้วย

การจัดงานครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้มาทบทวน และมองเห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ได้รับฟังความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ตลอดจนข้อคิดเห็นของผู้แทนชุมชนลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อนำไปสู่การบูรณาการความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป