แม่หนอมสุพรรณบุรี บายศรีระดับประเทศ อนุรักษ์การทำบายศรีประเพณีไทยโบราณ ‘ถวายกตัญญูกตเวที ครูใหญ่ หลวงพ่อพูล’

ประชาชนคนรุ่นใหม่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับบายศรี และยังไม่รู้ลึกถึงรายละเอียดกันมากนัก ว่าบายศรีคืออะไร

บายศรีเป็นภูมิปัญญาไทย ที่ถือปฏิบัติ รังสรรค์กันมาช้านาน โดยบายศรีนั้นมีความหมายที่ดี ผู้คนเลยนิยมให้มีบายศรีไว้ในงานมงคลต่าง ๆ บายศรีจึงมักถือว่าเป็นของสูงมาแต่โบราณกาล

บายศรีส่วนใหญ่มีจุดประสงค์ในการเพิ่มขวัญกำลังใจ เราจึงมักเห็นบายศรีตามงานมงคลต่างๆ เช่น การทำขวัญข้าว การบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์

บายศรีมีความงดงามทางศิลปะแบบไทยๆที่นำวัสดุธรรมชาติเช่นใบตอง และดอกไม้ใบไม้ต่างๆมาประดิดประดอย ขึ้นเป็นพิมพ์ทรงที่อ่อนช้อย มีตราตรึงใจ สะท้อนถึงความเป็นพุทธศิลป์ที่อิงการเคารพบูชากราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีความเป็นมาจากอดีตสู่ปัจจุบัน เป็นตำนานเล่าขานสืบสานต่อเนื่อง

เบื้องหลังการรังสรรค์เครื่องบายศรี ที่ปรากฏตามงานมงคลต่างๆนี้ หนึ่งในนั้นมีชื่อของ แม่หนอม สุพรรณบุรี บายศรีคนดังระดับประเทศ บรรจุไว้ในสารบบอีกด้วย

กล่าวสำหรับ แม่หนอม สุพรรณบุรี มีนามจริงว่า นางณัฐภัสสร ปึงตระกูล หรือที่รู้จักกันในนามของ แม่หนอม บางปลาม้า สุพรรณบุรี บายศรี 100 ล้าน

แม่หนอม เปิดเผยว่า “แม่เป็นคนเกิดที่ตำบลมะขามล้ม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ตอนเด็กๆ เห็นผู้ใหญ่คนโบราณเขาทำบายศรี มีความสวยสดงดงาม มองจากมุมไหนเห็นแล้วก็มีความสุข รู้สึกชอบใจ จึงจุดประกายอยากทำบายศรีขึ้นมาทันทีในห้วงนั้น จากนั้นได้ศึกษาหาความรู้เพาะบ่มเรื่องมา ช่วงนั้นจำได้ว่าเวลาที่เห็นคนทำบายศรี รู้สึกว่าพวกเขาคือนางฟ้า นางสวรรค์ พอโตขึ้นมาจึงค้นคว้า ฝึกฝนเรียนรู้ แล้วก็ยึดการทำบายศรีเป็นอาชีพหลัก”

ปัจจุบันแม่หนอม อายุ 62 ปี เกิดเมื่อปีพ.ศ.2498  เริ่มทำบายศรีจริงจังตั้งแต่ปีพ.ศ.2525 จวบจนวันนี้ทำบายศรีมาแล้ว 35 ปี

แม่หนอม กล่าวว่า “ทุกปีจะทำบายศรีใหญ่ เพื่อทำบุญถวายแด่องค์หลวงพ่อพูล ซึ่งถือเป็นครูใหญ่ โดยแม่จะใช้วิธีการคือ เมื่อได้รับการว่าจ้างให้ไปทำบายศรี ที่งานไหนก็แล้วแต่ แม่จะแบ่งเก็บเงินรายได้ไว้ส่วนหนึ่ง รวบรวมเพื่อนำมาทำบายศรีถวายแด่หลวงพ่อพูลทุกปี โดยงานนี้จะทำประมาณปลายเดือนเมษายนของทุกปี และในปีนี้ได้ทำถวายไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา แม่ถือเป็นการทำบุญใหญ่ถวายความกตัญญูกตเวทีแด่ครูบาอาจารย์อย่างแท้จริง”

การทำบายศรีนั้นถือเป็นประเพณีโบราณที่สืบทอดกันมาช้านาน ซึ่งการทำพิธีมีความเกี่ยวข้องกับจิตวิทยาของผู้เข้าร่วมพิธี โดยที่มีความเชื่อกันว่าคนที่ทำบายศรีได้นั้นจะต้องเป็นคนที่มีปัญญา เป็นคนที่มีความตั้งใจจริง พิธีจึงจะสำเร็จลุล่วงเป็นผลดีได้ทั้งปวง เนื่องจากมีความเชื่อกันว่าบายศรีมีครูแรง หลาย ๆคนจึงกลัวว่าการทำบายศรีอาจจะเกิดสิ่งไม่ดีแก่ตนได้ โดยที่เชื่อกันว่าหากใครไม่ได้ทำการครอบครูก็จะมีสิ่งอัปรีย์มากิน หากทำบายศรีเหล่านี้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากครูก่อน จึงมีน้อยคนนักที่มักจะสามารถทำพิธีบายศรีได้ เป็นเพราะผู้หลักผู้ใหญ่อยากจะสั่งสอนคนรุ่นใหม่ให้สืบทอดวัฒนธรรมเหล่านี้อย่างจริงจัง ไม่ทิ้งขว้างและตั้งใจจริงนั่นเอง

และที่สำคัญตั้งแต่สมัยโบราณคนไทยส่วนใหญ่จะรู้จักและคุ้นเคยกับบายศรีเป็นอย่างดี เพราะพบเห็นบ่อยในพิธีกรรมต่างๆ แทบทุกภาคของไทย อย่างเช่น การบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การไหว้ครูนาฏศิลป์ดนตรี และพิธีสมโภชพระพุทธรูป ซึ่งพิธีกรรมเหล่านี้ ล้วนต้องใช้บายศรีเป็นเครื่องประกอบทั้งสิ้น

การทำบายศรีในสมัยโบราณ โดยนักปราชญ์ที่เคยมีการทำสืบๆกันมา มีด้วยกันอยู่ 2 วิธี ดังนี้ วิธีที่ 1 เป็นพิธีบายศรีทางพุทธศาสนา ซึ่งจะมีการนิมนต์พระสงค์ 4 รูป มีการรับศีลรับพรต่าง ๆและพรมน้ำมนต์รับมนต์ในตอนท้าย วิธีที่ 2  มีการตั้งเครื่องบูชาพานบายศรี โดยมักมีการทำตามประเพณีนิยม โดยมีข้าวสาร กล้วย ขนม ธูป ข้าวต้ม เทียน ผ้าแพรวา ยอดอ้อย เทียนรอบหัวและเท่าตัว ยอดกล้วย ฝ้ายผูกแขน ด้ายขาวในขันโตก ขันทองเหลือง และถ้าเป็นการสู่ขวัญคน ก็มักจะมีเครื่องสำอางค์อยู่ด้วย

ในส่วนของการทำบายศรี ที่นิยมมีอยู่ 2 แบบ คือ 1.บายศรีหลัก มักนิยมในการใช้ในพิธีทั่วๆไป อย่างงานมงคลต่าง ๆ เช่น ทำขวัญผู้ใหญ่ ทำขวัญเมื่อมีแขกมาเยี่ยมบ้าน เป็นต้น 2.บายศรีปากชาม มักจะใช้บายศรีประเภทนี้กับพิธีใหญ่ อย่างการไหว้ศาลหลักเมือง การไหว้บูชาเจ้าที่เจ้าทาง พิธีไหว้ครู เป็นต้น ในสมัยโบราณมักจะทำบายศรีกันในพิธีสำคัญเท่านั้น โดยบายศรีได้มีการปรับปรุงมาเรื่อยๆ รวมถึงจำนวนชั้นของบายศรีด้วย ที่ต้องการทำให้เหมาะกับเทวดาที่ต้องการจะบูชานั่นเอง

โดยเราสามารถเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่าบายศรีนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ในสมัยโบราณซึ่งก็จะมีปราชญ์ผู้เรืองด้วยปัญญาทำพิธีอยู่ด้วยกันสองแบบดังที่กล่าวไปแล้ว ซึ่งปัจจุบันบายศรีก็ถูกปรับปรุงให้เหมาะสมกับยุคสมัยไปเรื่อย ๆ อย่างการปรับจำนวนชั้นต่าง ๆ เพื่อบูชาเทวดาคนละองค์ แต่ไม่ว่าประเพณีบายศรีนั้นจะถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แม่หนอมก็ยังรักษาประเพณีที่สวยงามอย่างประเพณีบายศรีเหล่านี้ให้คงอยู่ตลอดไป และคงไว้ซึ่งคติธรรมอันดีงามนี้ให้สืบต่อไปในอนาคตอีกด้วย

แม่หนอม กล่าวอีกว่า การทำพานบายศรีนั้น ต้องเตรียมวัสดุอุปกรณ์ไว้ให้พร้อม เช่น ใบตอง พานแว่นฟ้า ภาชนะปากกว้างสำหรับใส่น้ำแช่ใบตอง  สารส้ม น้ำมันมะกอก ชนิดสีเหลือง หรือขาว ไม้ปลายแหลม ดอกไม้ ดอกพุด ดอกดาวเรือง ดอกบานไม่รู้โรย และกรรไกร สำหรับตัดใบตอง ลวดเย็บกระดาษ

สำหรับใบตองที่นำมาใช้สำหรับทำบายศรีมักนิยมใช้ใบตองจากกล้วยตานี เนื่องจากเป็นใบตองที่มีลักษณะเป็นเงา มันวาว เมื่อโดนน้ำจะยิ่งเกิดประกายสีเขียวเข้ม สวยงามยิ่งขึ้น และที่สำคัญ ใบตองจากกล้วยตานี มีความคงทน ไม่แตกง่าย ไม่เหี่ยวง่าย สามารถนำมาพับม้วนเป็นรูปลักษณะต่างๆได้ง่าย และสามารถเก็บไว้ได้นานหลายวัน หรือถ้ารักษาโดยหมั่นพรมน้ำบ่อยๆ ใบตองกล้วยตานี จะสามารถคงทนอยู่ได้นานเป็นสัปดาห์ทีเดียว

การประกอบพานบายศรี ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการทำบายศรี คือการนำริ้วที่ทำเสร็จแล้ว และแช่ในน้ำผสมน้ำมันมะกอกแล้ว มาประกอบเข้ากับพานบายศรี 3 ชั้นที่ได้เตรียมไว้

การน้ำริ้ว มาประกอบกับพาน ควรเริ่มต้นจากพานใหญ่สุด หรือพานที่วางอยู่ชั้นล่างสุดก่อน โดยการวางให้ริ้วอยู่บนพานให้มีระยะห่างเท่าๆกัน 4 ริ้ว (4 ทิศ) ซึ่งจะยึดริ้วติดกับพานโดยใช้ไม้ปลายแหลมที่เตรียมไว้แล้ว มากลัด หรือเสียบจากด้านบนของริ้วให้ทะลุไปยึดติดกับโฟมที่รองไว้บนพื้นพาน

การประกอบริ้วกับพานชั้นกลาง และชั้นบนสุด ก็ใช้วิธีเดียวกัน แต่จะต้องให้ริ้วชั้นที่ 2 วางสลับกับริ้วชั้นแรก และริ้วบนพานชั้นบนสุด ก็ให้สลับกับริ้วบนพานชั้นกลาง การประกอบริ้วกับพานชั้นบนสุด ให้ห่อใบตองเป็นกรวยขนาดใหญ่พอควรวางไว้เป็นแกนกลางของพาน เมื่อวางริ้วทั้ง 4 ริ้วเสร็จแล้ว ให้รวบปลายสุดของริ้วทั้ง 4 เข้าหากัน โดยมีกรวยที่ทำเป็นแกนกลางอยู่ด้านใน แล้วนำใบตองม้วนเป็นกรวยขนาดใหญ่อีกกรวย มาครอบทับยอดทั้ง 4 ของริ้วไว้ ซึ่งจะทำให้พานบายศรีที่ได้ มียอดแหลมที่สวยงามและมั่นคง

จากนั้นจึงนำใบไม้ (ส่วนใหญ่จะนำใบไม้ที่มีชื่อเป็นมงคล เช่น ใบเงิน ใบทอง ) มาวางรองบนพาน เพื่อปกปิดไม่ให้มองเห็นโฟมที่รองพื้นพาน และนำดอกไม้สีสด เช่น ดอกบานไม่รู้โรย หรือดอกดาวเรือง มาประดับบนพานเพิ่มความสวยงามหรือทำมาลัย สวมบนยอด หรือทำเป็นอุบะร้อยรอบพานแต่ละชั้น ก็จะเพิ่มสีสัน และความสวยงามให้แก่พานบายศรีมากขึ้น

การทำบายศรีในยุคปัจจุบัน แม้ว่าโลกจะพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง โดยทั่วไปยังพบเห็นบายศรี ในงานมงคล จึงเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ และน่าอุ่นใจไม่น้อย ที่ประเพณีอันดีงามของไทยเหล่านี้ ยังคงมีอยู่

ถึงแม้จะมีบายศรีให้เห็นตามงานมงคล แต่ปัจจุบันนั้นแทบหาคนที่สามารถทำบายศรีเป็นได้ค่อนข้างยากยิ่งนัก

เนื่องเพราะ บายศรี เป็นประเพณีของไทยที่น่าอนุรักษ์ รักษาไว้ไม่ให้สูญหาย ควรจะมีการรักษาประเพณีที่น่านับถือและสวยงามเยี่ยงนี้ไว้ให้ลูกหลานได้เห็นกันสืบไป และน่าเสียดายไม่น้อยถ้าบายศรีนี้จะต้องหายไปในอนาคต