สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย พร้อมอาสาสมัคร ร่วมพัฒนาบ้านพักพิงสุนัข จ.ชลบุรี

วันที่ 18 มกราคม 2563 สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) นำโดย ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมฯ ร่วมกับอาจารย์ทัศนีย์ พุฒสา ที่ปรึกษาชมรมบำเพ็ญประโยชน์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ พร้อมด้วยนักศึกษาและอาสาสมัครกว่า 40 คน จัดกิจกรรมทำความสะอาดและจัดระเบียบให้บ้านพักพิง ของคุณจิดาภา ธนูเทพ จ.ชลบุรี
ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมฯ กล่าวว่า การดำเนินงานเกี่ยวกับเรื่องบ้านอุปถัมภ์หรือสถานพักพิงสัตว์ที่สมาคมฯให้การสนับสนุนอาหารและเวชภัณฑ์ สมาคมฯ ดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง กว่า 20 ปี ดูและช่วยเหลือกว่า 25 แห่ง เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในด้านอาหารและเวชภัณฑ์ ก็ช่วยเหลือบรรเทา บ้านคุณป้า คุณน้าได้ระดับหนึ่งแต่จริง ๆ แล้วก็เป็นการแก้ปัญหาแก้ที่ปลายเหตุ ซึ่งปัญหาที่ต้นเหตุคือ ความรับผิดชอบของผู้เลี้ยงสัตว์นั้นเอง เมื่อไม่ต้องการเลี้ยงสัตว์ของตนก็การนำสัตว์ มาทิ้ง เกิดปัญหาทำให้ผู้มีความเมตตาเก็บสัตว์ เหล่านี้มาช่วยเหลือดูแล ดีกว่าให้สัตว์เหล่านั้นอดตายหรือเกิดอุบัติเสียชีวิตก่อนเวลาอันสมควร นับเป็นความทุ่มเทและเสียสละอย่างแท้จริง เช่น บ้านคุณจิดาภา ธนูเทพ จ.ชลบุรี นั้นมีสุนัขกว่า 500 ตัว ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่สมาคมฯ ที่ให้การช่วยเหลือสนับสนุน แต่ก็มีหลายองค์กร มูลนิธิและผู้ที่มีจิตเมตตาให้การช่วยเหลือสนับสนุนกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังอาจจะไม่เพียงพอ เพราะนอกจากอาหารและเวชภัณฑ์แล้ว การจัดสถานที่ให้สัตว์ได้มีสวัสดิภาพที่ดีก็เป็นเรื่องสำคัญ เช่นกัน วันนี้สมาคมฯ จึงได้ร่วมกับอาจารย์และนักศึกษา จากชมรมบำเพ็ญประโยชน์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กว่า 40 คน ในการร่วมกันพัฒนาจัดสถานที่พัก ปรับภูมิทัศน์ต่าง ๆ โดยรอบให้เหมาะสม ซึ่งอาจจะเป็นจุดเริ่มต้น เล็ก ๆ ของการพัฒนาและยกระดับคุณภาพของสุนัขจรจัดในสถานพักพิงได้
ซึ่งในปี 2563 สมาคมฯ มีแผนในการพัฒนาบ้านอุปถัมภ์ ของสมาคมฯ ให้ได้มาตรฐานตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยจะค่อยๆ พัฒนา เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านการจัดสวัสดิภาพสัตว์ และเพื่อไม่ให้ผู้อุปการะสัตว์จรจัดในสถานที่พักพิงเหล่านี้ได้รับผลกระทบมากเกินไป จนเสียความตั้งใจที่ มุ่งมั่น ทุ่มเท ดูแลสัตว์เหล่านั้นด้วยความเมตตามาตลอด โดยสมาคมฯ จะมีแผนการดำเนินการ เช่น การจัดกลุ่มในการพัฒนา เช่น กลุ่ม A ระดับดีเยี่ยม เป็นบ้านอุปถัมภ์ต้นแบบ กลุ่ม B ระดับดี ให้การช่วยเหลือเตรียมพัฒนาเป็นบ้านอุปถัมภ์ต้นแบบ กลุ่ม C ระดับพอใช้ให้การช่วยเหลือและพัฒนาให้ตรงตามเกณฑ์มาตรฐาน และกลุ่ม D ระดับ ปรับลดการช่วยเหลือ เป็นต้น โดยเริ่มแบ่งเป็น 4 ระยะการดำเนินการ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 เริ่มดำเนินการ แต่งตั้งคณะทำงานและพัฒนาหลักเกณฑ์เพื่อสอดคล้องกับกฎหมายและหลักวิชาการที่กำหนด ระยะที่ 2 การติดตามประเมินผล โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามประเมินผลจากองค์กรภายนอกเพื่อความโปร่งใส และได้มาตรฐานตามหลักวิชาการ ระยะที่ 3 การพัฒนา จัดให้มีการลงนาม MOU บ้านอุปถัมภ์ร่วมกับสมาคมฯ และให้การช่วยเหลือด้านทรัพยากร ทั้งสัตวแพทย์ในการทำหมัน ฉีด วัคซีน อาหาร เวชภัณฑ์ วัสดุ อุปกรณ์ รวมทั้งวิชาการด้านการบริหาร จัดการต่าง ๆ ระยะที่ 4 การรายงานผล โดยนำผลการดำเนินงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และใช้เป็นต้นแบบของสถานสงเคราะห์สัตว์ที่ได้รับการอุปถัมภ์จากองค์กรภาคเอกชน ที่ได้รับรองมาตรฐานวิชาการและปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ทุกอย่างต้องเริ่มต้นเพื่อการยกระดับมาตรฐานและการพัฒนาที่ต่อเนื่องยั่งยืน ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สัตว์มีสวัสดิภาพที่ดี และลดปัญหาการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร และที่สำคัญเพื่อสร้างสังคม ให้อยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ตามแนวทางสันติวิธีต่อไป