ก.แรงงาน ขึ้นเหนือ เร่งฝึก GMS เสริมเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง

​ก.แรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เยี่ยมชมการฝึกกลุ่มประเทศ GMS พัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

​นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน (รง) เปิดเผยว่า สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ เป็นหน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้กับกลุ่มประเทศ GMS ตามโครงการพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเพื่อการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและภูมิภาคเอเชียงตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยประเทศ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม จีน(ยูนนาน) และไทย เพื่อพัฒนาศักยภาพฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น โดยปี 2562 มีเป้าหมายดำเนินการ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเพื่อการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (GMS-ASEAN) เป้าหมายจำนวน 2,000 คน ดำเนินการแล้วจำนวน 1,926 คน ประกอบด้วย บุคลากรจากประเทศลาว 342 คน, กัมพูชา 160 คน, เมียนมา 162 คน,มาเลเซีย 60 คน และไทย 1,202 คน และโครงการศูนย์ฝึกอบรมเทคโนโลยีชั้นสูง รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เป้าหมายจำนวน 580 คน ดำเนินการแล้วจำนวน 269 คน

​นายสุชาติ กล่าวต่อไปว่า ได้มอบหมายให้นางถวิล เพิ่มเพียรสิน รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ลงพื้นที่ เพื่อเยี่ยมชมการฝึกและติดตามการดำเนินงาน รวมถึงให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งระหว่างวันที่ 10-19 มิ.ย. 2562 สถาบันฯ นานาชาติ ดำเนินการจัดฝึกอบรม สาขาการพัฒนาผู้ประเมินด้านมาตรฐานฝีมือแรงงาน ให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องด้านการประเมินมาตรฐานฝีมือแรงงาน จากประเทศเมียนมา จำนวน 21 คน หลักสูตร 60 ชั่วโมง เพื่อให้สามารถวิเคราะห์งานพัฒนาฝีมือแรงงาน สร้างเป็นหลักสูตรการฝึกอบรม การประเมินและสามารถออกแบบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ยังประเทศของตนได้

นางถวิล เพิ่มเพียรสิน รองอธิบดี กพร. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง นอกจากการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศแล้ว ยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับแรงงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ซึ่งบุคลากรของประเทศกลุ่ม GMS จะเป็นบุคลากรของภาครัฐ ครูฝึก ที่สามารถนำความรู้ไปต่อยอด เพื่อขยายผลการฝึกให้กับแรงงานในประเทศของตนเอง ให้มีความรู้ความสามารถมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มนักลงทุนไทยในเขตติดต่อ มีแรงงานที่มีคุณภาพและทักษะที่สูงขึ้น ทันต่อเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการผลิต ช่วยเสริมเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนตามแนวชายแดนได้เป็นอย่างดี
​“สำหรับการฝึกด้านเทคโนโลยีชั้นสูง รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สถาบันฯ นานาชาติ ดำเนินการฝึกในหลายสาขา เช่น เทคนิคบังคับปั้นจั่นชนิดติดรถบรรทุก เทคนิคการขับรถยกสินค้าอย่างปลอดภัย การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นการยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน ส่งเสริมอุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ นอกจากนี้ยังมีผู้ผ่านการฝึกอบรมการขับรถลากจูง จากสถาบันฯ นานาชาติ เพื่อไปทำงานในเขตพื้นที่ EEC อีกด้วย” อธิบดีกล่าวทิ้งท้าย