ทั่วประเทศรวมใจ เดินหน้าหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ทั่วประเทศรวมใจ เดินหน้าหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เฉลิมพระเกียรติ

เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

หากใครมีโอกาสเดินทางไปตามชุมชนหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศ จะเห็นความพิเศษที่เป็นหนึ่งเดียว นั่นคือ การดำเนินงานโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่ดำเนินการโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดยได้มีการจัดกิจกรรม Kick off พร้อมกันทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1 – 10 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา โดย นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยผู้บริหาร คณะเจ้าหน้าที่กรมฯ ผู้นำชุมชน และคณะผู้แทนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ร่วมกิจกรรม Kick Off เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 ณ บ้านทุ่งกระโปรง ตำบลป่าขะ อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก

โครงการ “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นโครงการที่ดำเนินการมายาวนานอย่างต่อเนื่อง ด้วยการน้อมนำการดำเนินงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนในชุมชนหมู่บ้านทั่วประเทศ เพื่อสร้างความอยู่ดีกินดี และเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างความสุขอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยในปีนี้เป็นปีพิเศษที่สำคัญของปวงชนชาวไทย กล่าวคือ เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเพื่อสืบสาน รักษาและต่อยอดการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ในการพัฒนาชุมชนและสร้างความสุขของประชาชน

ภาพความสำเร็จที่ปรากฏแสดงให้เห็นแล้วว่าโครงการนี้ได้ใช้พลังการมีส่วนร่วมของชุมชนในการขับเคลื่อนได้อย่างชัดเจน นั่นคือ การดำเนินกิจกรรมตามกระบวนการอย่างต่อเนื่องของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ 878 อำเภอ โดยในช่วงการจัดกิจกรรม Kick off ที่ผ่านมามีจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 100,327 คน และปลูกต้นรวงผึ้งจำนวนทั้งสิ้น 2,232 ต้น (ข้อมูล ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2562)

หัวใจสำคัญของการดำเนินโครงการดังกล่าว คือ การดำเนินกิจกรรมจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” โดยจะเห็นว่าสมาชิกของชุมชนทุกครัวเรือนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้านเป็นประจำทุกเดือน ถือเป็นการรวมพลังให้คนในชุมชนได้ร่วมมือร่วมใจกันสร้างสิ่งดีงามให้แก่ชุมชนร่วมกัน ก่อให้เกิดความรักสามัคคี และตระหนักถึงการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขับเคลื่อนกิจกรรมของแต่ละหมู่บ้านที่ดำเนินการตามแผนพัฒนาหมู่บ้าน โดยมีผู้นำในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามกิจกรรมหลักใน 3 กลุ่ม 13 ตัวชี้วัด กล่าวคือ กลุ่ม “มั่นคง” ที่ทุกชุมชนได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดชุมชนเกื้อกูล กลุ่ม “มั่งคั่ง” การดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้าง

ให้เกิดชุมชนมีการเพิ่มพูนรายได้ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่พี่น้องประชาชน และสุดท้ายกลุ่ม “ยั่งยืน” คือ ชุมชนเครือข่ายแข็งแรง ความสุขมวลรวมของคนในชุมชนเพิ่มขึ้น อันจะนำมาซึ่งประโยชน์แก่คนในชุมชน ตลอดจนจัดทำรายงานผลการดำเนินงานทุกวันที่ 5 ของเดือน เพื่อให้เห็นความก้าวหน้าของโครงการอีกด้วย

การขับเคลื่อนโครงการครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นการดำเนินงานที่สร้างการมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงเครือข่ายภาคีที่เกี่ยวข้อง เป็นการเสริมสร้างความกินดีอยู่ดีของพี่น้องประชาชน มุ่งสู่การสร้างความมั่นคง มั่นคง ยั่งยืน ภายใต้ “การสร้างความสุขให้เกิดขึ้นแก่พี่น้องประชาชนทั่วประเทศได้อย่างแท้จริง”