70 ปีรัชสมัยแห่งปฐมบรมพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ (3)

ตอน 1 2

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 สภาพการณ์ทางการเมืองไทยได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่อำนาจอยู่ในมือของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ไปสู่กลุ่มข้าราชการ

และนับแต่นั้นจนถึงราว พ.ศ.2530 การแข่งขันต่อสู้และความขัดแย้งทางการเมืองล้วนกระจุกตัวอยู่ภายในกลุ่มข้าราชการมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างกลุ่มข้าราชการทหาร

และจวบจนกระทั่งถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่สามารถแสดงออกซึ่งพระราชอำนาจทางการเมืองแต่อย่างใด พระมหากษัตริย์เป็นประมุขแต่เพียงในนามเท่านั้น

แม้ว่า บรรดาผู้นำของคณะราษฎรจะกล่าวอ้างความชอบธรรมในการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่าเพื่อนำประชาธิปไตยมาสู่สยาม แต่กระนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า เหตุผลสำคัญของคณะราษฎรคือ การมุ่งจำกัดอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อที่ฝ่ายตนจะได้มีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น

ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาคือ “ใครควรจะมีอำนาจและมีแค่ไหน” นั้น ได้นำไปสู่ความขัดแย้งที่เป็นทางตันระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและกลุ่มผู้นำใหม่ทางการเมือง

อันส่งผลให้พระองค์ทรงสละราชสมบัติในเดือนมีนาคม พ.ศ.2478

ซึ่งเป็นเวลาเพียงสามปีหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเป็นเวลาเพียงสามปีที่พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบการปกครองใหม่

ในการสรรหาผู้ที่จะขึ้นมาเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่นั้น พระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้รับเลือกก็ดูจะเป็นผู้ที่ไม่สามารถจะเป็นภัยคุกคามต่อกลุ่มอำนาจใหม่ที่สุด

นั่นคือ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระโอรสในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ (พระยศในเวลานั้น) ผู้ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ไม่ทรงสนพระทัยหรือเกี่ยวข้องในทางการเมืองที่สุด

การที่ทางรัฐบาลและสภาเลือกพระองค์เจ้าอานันทมหิดลซึ่งมีพระชนมายุเพียง 10 พรรษา ก็ด้วยต้องการที่จะป้องกันมิให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลับเข้มแข็งขึ้นมาท้าทายอำนาจของระบอบใหม่นั่นเอง

เพราะผู้ที่มีความเหมาะสมในการขึ้นครองราชย์อันได้แก่ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ก็ถูกรัฐบาลคณะราษฎรบังคับให้ลี้ภัยไปอยู่ต่างแดนภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เจ็ดจะทรงสละราชสมบัติแล้ว

หลังจากทรงขึ้นครองราชย์ พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงใช้เวลาทั้งหมดไปกับการศึกษาและใช้ชีวิตกับครอบครัวในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และมิได้เสด็จกลับจนกระทั่ง พ.ศ.2488 ยกเว้นช่วงระยะสั้นๆ ในปลายปี พ.ศ.2481 ต่อต้นปี พ.ศ.2482

ในระหว่างนี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการลาออกของพระยาพหลฯ ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2481 ได้ออกมาตรการต่างๆ ในการที่จะลดทอนศักดิ์ศรีอำนาจบารมีของสถาบันพระมหากษัตริย์

เริ่มต้นด้วยการยกเลิกพระราชพิธีต่างๆ ตามพระราชประเพณี การลดสถานะกระทรวงวังจากที่เคยเป็นกระทรวงที่สำคัญที่สุดให้เป็นเพียงสำนักพระราชวังที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกันก็ลดทอนจำนวนข้าราชการที่แต่งตั้งโดยพระราชวังลงอย่างรวดเร็ว

และหลังจากการพยายามทำรัฐประหารโดยพระยาทรงสุรเดช ผู้นำทหารสายอนุรักษนิยมของคณะราษฎรที่พยายามจะกราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือกรมพระนครสวรรค์ฯ กลับขึ้นครองราชย์ และมาตรการการต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น

เมื่อจอมพล ป. ได้จับกุมพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร (พระยศในขณะนั้น) ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของพระราชโอรสในรัชกาลที่ห้าที่ยังทรงพระชนม์อยู่

เพราะจอมพล ป. เข้าใจว่า พระองค์ทรงเป็นผู้เชื่อมโยงระหว่างพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เจ็ดกับกลุ่มรัฐประหารของพระยาทรงสุรเดช

หลังจากการพิจารณาคดีอันยาวนาน กรมขุนชัยนาทฯ ถูกตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และถอดบรรดาศักดิ์เป็นสามัญชน

ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้สร้างความหวาดวิตกอย่างยิ่งแก่บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย

และเป็นสาเหตุที่ทำให้อาการประชวรของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้ากำเริบขึ้น

จากนั้น สมเด็จพระราชชนนีในนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ทรงร้องขอจากสวิตเซอร์แลนด์ให้กรมขุนชัยนาทฯ ได้ลี้ภัยในต่างแดน แทนที่จะต้องอยู่ในคุกตลอดชีวิต

แต่คำขอดังกล่าวถูกปฏิเสธ ซึ่งเกือบเป็นสาเหตุให้พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลสละราชสมบัติ

เห็นได้ชัดว่า จอมพล ป. ต้องการที่จะป้องปรามมิให้บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์คิดที่จะรื้อฟื้นระบบการปกครองเดิมขึ้นมาอีก

ยิ่งกว่านั้น จอมพล ป. ยังสั่งห้ามมิให้แขวนรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในบ้านหรือที่สาธารณะ

และยังให้รัฐบาลฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ในข้อหาโอนเงินจำนวนหกล้านบาทจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไปต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย

และเมื่อคดีถึงที่สุด ฝ่ายพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงแพ้คดีและทรัพย์สินของพระองค์ในประเทศถูกริบโดยรัฐบาล

จอมพล ป. พยายามที่จะสร้างตัวเองขึ้นเป็นผู้นำแทนที่องค์พระมหากษัตริย์ และจากการประสบความสำเร็จในสงครามอินโดจีน ทำให้จอมพล ป. ได้รับความนิยมจากประชาชน และทำให้เขาสามารถเลื่อนตำแหน่งตัวเองเป็นจอมพล

และยังแสดงความต้องการที่จะได้คทาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาครอบครองเป็นสัญลักษณ์ของผู้นำประเทศ

แต่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ ได้ปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่า คทาดังกล่าวมีไว้สำหรับผู้ที่เป็นพระมหากษัตริย์เท่านั้น สามัญชนไม่มีสิทธิ์

จะเห็นได้ว่า การตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองของจอมพล ป. อาจเปรียบเทียบได้กับการตัดสินพระทัยของรัชกาลที่หกในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ซึ่งเขาคาดว่า อำนาจทางการเมืองของเขาจะแข็งแกร่งชอบธรรมยั่งยืนได้หากเขาชนะสงคราม

ในช่วงที่จอมพล ป. มีอำนาจสูงสุด ได้แสดงความมั่นใจในอำนาจของตนเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ดังปรากฏชัดในคำกล่าวของเขาในการประชุมสภา :

“ญี่ปุ่นมีองค์พระจักรพรรดิเป็นศูนย์รวมความเป็นหนึ่งเดียว แต่เราไม่มีเช่นนั้น สิ่งที่เรามีคือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ชาติเป็นเพียงนามธรรม ศาสนาไม่สามารถทำให้คนมีศรัทธาพอเพียง พระมหากษัตริย์ก็ยังทรงพระเยาว์อยู่ ซึ่งเราก็เห็นได้แต่เพียงรูปเท่านั้น และรัฐธรรมนูญก็เป็นเพียงหนังสือเล่มหนึ่ง …ดังนั้น ข้าพเจ้าขอให้ท่านทั้งหลายตามข้าพเจ้า นายกรัฐมนตรี”

(บันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรี หมายเลข 20/2485 วันที่ 25 เมษายน 2485)

กล่าวได้ว่า ในช่วง พ.ศ.2473-2483 กำลังของฝ่ายอนุรักษนิยมสถาบันพระมหากษัตริย์ได้สูญสลายไป และในทางปฏิบัติ สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่แต่เพียงในนามเท่านั้น ตราบเท่าที่ผู้นำของคณะปฏิวัติ 2475 ยังสามารถอยู่ในอำนาจได้ สถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะไม่มีอำนาจใดๆ และไม่สามารถพัฒนาเป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญได้เลย

ยิ่งกว่านั้น ในเวลาต่อมา จากเหตุการณ์กรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 ยิ่งทำให้เห็นถึงความไม่มั่นคงปลอดภัยของสถาบันพระมหากษัตริย์ จากการที่ไม่มีการถวายอารักขาคุ้มกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการไม่สามารถให้ความกระจ่างในสาเหตุของการสิ้นพระชนม์ได้

กล่าวได้ว่า สถานะและพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงเวลานั้นอ่อนแอและตกต่ำอย่างยิ่ง

ผู้เขียนขอกล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระบรมเชษฐาธิราช เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 และได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีในปี พ.ศ.2493

นับเป็นครั้งแรกภายหลังการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงวัยวุฒิครองราชย์อย่างเป็นทางการ

ภายหลังการขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชต้องทรงเผชิญกับสภาพการณ์ที่ระบอบประชาธิปไตยของไทยยังไม่ได้พัฒนามีรากฐานที่มั่นคงลงตัว ด้วยอำนาจทางการเมืองยังกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มผู้นำคณะราษฎรบางคนและกลุ่มข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการฝ่ายทหารตามที่ได้กล่าวเป็นตัวอย่างข้างต้น

อีกทั้งประเทศไทยก็เพิ่งผ่านวิกฤตการณ์สงครามโลกครั้งที่สองด้วย