“บิ๊กอู๋”นำทีมตรวจเยี่ยมแรงงานไทยในอิสราเอล ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่

“บิ๊กอู๋”นำทีมตรวจเยี่ยมแรงงานไทยในอิสราเอล ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่

รมว.แรงงาน และคณะ ตรวจเยี่ยมแรงงานไทยที่โมชาฟและคิบบุตซ์ ในทางภาคเหนือของประเทศอิสราเอล รวมทั้งติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ เตรียมแผนคุ้มครองช่วยเหลือแรงงานไทย

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
พร้อมด้วย นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน และคณะ ออกเดินทางจากประเทศไทย ถึงสนามบิน Queen Alia ประเทศจอร์แดน โดยมี นายพรพงศ์ กนิษฐานนท์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน ให้การต้อนรับ ก่อนที่ รมว.แรงงาน และคณะจะเดินทาง
ต่อเที่ยวบินไปยังสนามบิน Ben Gurian ประเทศอิสราเอล โดยการเดินทางในครั้งนี้ เพื่อรับฟังปัญหา ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบ เตรียมแผนการรองรับคุ้มครองช่วยเหลือแรงงานไทย รวมทั้งพบปะและตรวจเยี่ยมแรงงานไทยที่โมชาฟ/คิบบุตซ์ ในทางภาคเหนือ และภาคใต้ของประเทศอิสราเอลอีกด้วย
นอกจากนี้ รมว.แรงงาน และคณะ ยังได้สำรวจเส้นทางอพยพ ท่าเรือเมือง Haifa โดยมี Mr.Joseph Gillor กงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองไฮฟ่า และผู้บริหารท่าเรือรอต้อนรับและนำสำรวจสถานที่รองรับแรงงานไทยตามแผนเผชิญเหตุ

จากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ภัยสงคราม และภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศอิสราเอลนั้น สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ และฝ่ายแรงงานฯ ได้เตรียมการรองรับสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศอิสราเอล โดยได้จัดทำรายชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ของแรงงานไทย จัดตั้งศูนย์ประสานงานติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหว จัดเตรียมยานพาหนะและงบประมาณสำหรับการอพยพตามเส้นทางที่กำหนดไว้ ซึ่งแบ่งระดับการดำเนินการออกเป็น 5 ระดับ คือ ระดับ 1 สถานการณ์ปกติ ระดับ 2 เริ่มมีสิ่งบอกเหตุที่ไม่ปกติและอาจก่อให้เกิดความไม่สงบ ระดับ 3 เกิดความไม่สงบ แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้พำนัก ระดับ 4 เกิดเหตุการณ์ไม่สงบและส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้พำนัก ระดับ 5 เกิดความไม่สงบและความรุนแรงต่อเนื่องและขยายวงกว้าง

สำหรับสถานการณ์ด้านแรงงานในประเทศอิสราเอล ปัจจุบันรัฐบาลอิสราเอลได้มีนโยบายการควบคุมและบริหารจัดการแรงงานต่างชาติอยู่ 2 แนวทาง ได้แก่ พิจารณาจากความต้องการของตลาดแรงงานที่มีความต้องการตำแหน่งผู้อนุบาลหรือผู้ดูแลคนชราหรือคนพิการมากที่สุดมีจำนวนกว่า 50,000 คน รองลงมาเป็นตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญที่ต้องใช้ความรู้และทักษะความชำนาญพิเศษ อาทิ พ่อครัวแม่ครัว ช่างฝีมือ จำนวน 5,400 คน และการใช้ความตกลงทวิภาคีในการนำเข้าแรงงานต่างชาติในสาขาที่ขาดแคลน ซึ่งแรงงานไทยเป็นที่ต้องการของอิสราเอลเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคการเกษตร และอิสราเอลอนุญาตให้เฉพาะแรงงานจากประเทศไทยสามารถทำงานในภาคเกษตรได้เป็นระยะเวลา 5 ปี 3 เดือน โดยสัญญาจ้างงานอนุญาตวีซ่าครั้งแรก มีระยะเวลา 2 ปี หลังจากนั้นจะต่ออายุให้ปีต่อปี อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบัน 5,300 เชลเกล/เดือน หรือประมาณ 46,900 บาท คิดเป็นรายได้ของแรงงานต่อคนต่อปีประมาณ 562,800 บาท ปัจจุบัน
มีแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศอิสราเอล จำนวนทั้งสิ้น 24,746 คน ถูกกฎหมาย 23,256 คน ประกอบด้วย แรงงานภาคเกษตรภายใต้โครงการ TIC จำนวน 22,871 คน ช่างเชื่อม/พ่อครัว 300 คน
ผู้อนุบาล 45 คน และอื่น ๆ 40 คน มีแรงงานผิดกฎหมาย 1,490 คน