อธิบดีท้องถิ่นแจงกรณีสหกรณ์ออมทรัพย์ สถ.ตามเรียกเก็บหนี้ “ผู้กู้-ผู้ค้ำประกัน” เข้มข้น เพราะต้องคุ้มครองและรักษาสิทธิของสมาชิกส่วนใหญ่ที่ดีมีวินัย คลอดกฎ 5 ข้อ

อธิบดีท้องถิ่นแจงกรณีสหกรณ์ออมทรัพย์ สถ.ตามเรียกเก็บหนี้ “ผู้กู้-ผู้ค้ำประกัน” เข้มข้น เพราะต้องคุ้มครองและรักษาสิทธิของสมาชิกส่วนใหญ่ที่ดีมีวินัย คลอดกฎ 5 ข้อเร่งช่วยเหลือผู้ค้ำประกันช่วยตามเก็บเงินผู้กู้ที่เบี้ยหนี้ พร้อมจัดโครงการคลินิกแก้หนี้อีกทางเพื่อช่วยเหลือผู้ค้ำประกัน

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยถึงกรณีที่สหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นดำเนินการโอนหนี้ให้ผู้ค้ำประกันว่า สหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำกัด ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออม ให้บริการสินเชื่อเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิกและครอบครัว ตลอดจนการจัดสวัสดิการและการสงเคราะห์ต่างๆ เช่น ทุนการศึกษาบุตรสมาชิก การสมรส การคลอดบุตร เพื่อการศาสนา หรือ กรณีประสบภัย และถึงแก่กรรม เป็นต้น โดยวิธีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันในหมู่สมาชิกตามหลักการสหกรณ์ และตามปฎิญญาสหกรณ์ที่ว่า “สหกรณ์มั่นคง สมาชิกมั่งคั่ง” ปัจจุบันมีสมาชิก 29,037 คน ซึ่งตลอดระยะเวลา 14 ปี สหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำกัด ได้ให้บริการแก่สมาชิกครบวงจร คือ การออมหุ้น การรับเงินฝาก โดยให้ผลตอบแทนสูงกว่าธนาคาร และการให้เงินกู้แก่สมาชิกโดยสหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำกัด จะนำเงินค่าหุ้นและเงินฝากของสมาชิกมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อให้สมาชิกที่มีความจำเป็นหรือเดือดร้อนกู้ยืม ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเอกชน

สำหรับการให้กู้เงินมี 2 ประเภท คือ 1) เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน วงเงินกู้ 2 เท่าของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ผ่อนชำระ 6 เดือน หรือวงเงินกู้ 3 เท่าของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 60,000 บาท (ATM) ผ่อนชำระ 12 งวด และ 2) เงินกู้สามัญ วงเงินกู้ไม่เกิน 1,000,000 บาท ผ่อนชำระ 120 งวด ต้องมีทุนเรือนหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของวงเงินที่กู้ และมีบุคคลคือสมาชิกค้ำประกัน สมาชิก 1 คน ค้ำประกันได้ไม่เกิน 3 สัญญา หรือค้ำได้ในวงเงินไม่เกินสิทธิกู้ของตน ในการกู้ยืมเงินประเภทนี้สมาชิกและผู้ค้ำประกันจะทำหนังสือยินยอมให้หน่วยงานหักเงินได้รายเดือนเพื่อชำระค่าหุ้นและหนี้แก่สหกรณ์ ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 42/1 กำหนดว่า เมื่อสมาชิกได้ทำความยินยอมเป็นหนังสือไว้กับสหกรณ์ให้ผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานของรัฐ หรือนายจ้างในสถานประกอบการ หรือหน่วยงานอื่นใดที่สมาชิกปฏิบัติหน้าที่อยู่ หักเงินเดือนหรือค่าจ้าง หรือเงินอื่นใด ที่ถึงกำหนดจ่ายแก่สมาชิกนั้น เพื่อชำระหนี้หรือภาระผูกพันอื่นที่มีต่อสหกรณ์ ให้แก่สหกรณ์ตามจำนวนที่สหกรณ์แจ้งไป จนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้นจะระงับสิ้นไปให้หน่วยงานนั้นหักเงินดังกล่าวและส่งเงินที่หักไว้นั้นให้แก่สหกรณ์โดยพลัน

อธิบดี กล่าวว่า ปัจจุบันสหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำกัด มีลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี และได้มีการติดตามทวงถามอย่างต่อเนื่องมานานหลายปี ในกรณีที่ผู้กู้และผู้ค้ำประกันไม่ชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ฯ ได้มีการฟ้องดำเนินคดีกับผู้กู้และผู้ค้ำประกันทั้งชุด โดยศาลได้มีคำพิพากษาให้จำเลย คือผู้กู้ และผู้ค้ำประกันร่วมกันชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ฯทุกราย

อย่างไรก็ตามการฟ้องดำเนินคดีดังกล่าว ทำให้เกิดการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำกัด เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 จึงได้มีมติให้ดำเนินการกับผู้กู้และผู้ค้ำประกันที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ระบุไว้ในสัญญาเงินกู้และหนังสือค้ำประกัน โดยหากผู้กู้หรือลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ที่มีอยู่ ให้ผู้ค้ำประกันเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ที่สมาชิกได้ทำความยินยอมเป็นหนังสือ ให้สหกรณ์หักเงินได้รายเดือน เพื่อชำระหนี้ หรือภาระผูกพันอื่นที่มีต่อสหกรณ์ และตามหนังสือค้ำประกัน สำหรับเงินกู้สามัญ ข้อ 4 กำหนดว่า เมื่อปรากฏว่าผู้กู้ไม่ชำระหนี้สิน ซึ่งข้าพเจ้าค้ำประกันไว้นี้ ให้แก่สหกรณ์ตามข้อผูกพัน ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุใดๆ และสหกรณ์ได้แจ้งความนั้น ให้ข้าพเจ้าทราบ ข้าพเจ้ายอมรับผิดชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์แทนผู้กู้ และข้อ 6 กำหนดว่า ในกรณีที่ข้าพเจ้า ต้องชำระหนี้สินให้แก่สหกรณ์แทนผู้กู้ ข้าพเจ้ายินยอมและขอร้องให้ผู้บังคับบัญชา หรือเจ้าหน้าที่ผู้จ่ายเงินได้รายเดือนของข้าพเจ้า เมื่อได้รับมอบหมายจากสหกรณ์ ปลดหักจำนวนเงินสดชำระหนี้ ซึ่งข้าพเจ้าต้องส่งต่อสหกรณ์ จากเงินได้รายเดือนของข้าพเจ้าเมื่อจ่าย เพื่อส่งต่อสหกรณ์ด้วย

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ค้ำประกันซึ่งต้องรับภาระแทนผู้กู้ตามหนังสือค้ำประกัน อธิบดีชี้แจงว่า ทางสหกรณ์ออมทรัพย์ฯก็ได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ค้ำประกัน ดังนี้ 1.ยกเว้นดอกเบี้ยค้างชำระ/ดอกเบี้ยเก่าของผู้กู้ ทั้งหมดแก่ผู้ค้ำประกัน (สงวนสิทธิ์เรียกเก็บจากผู้กู้) 2.ผู้ค้ำประกันมีสิทธิฟ้องดำเนินคดีกับผู้กู้ โดยสหกรณ์ช่วยค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีร้อยละ 50 ของใบเสร็จรับเงิน 3.สมาชิกที่เป็นผู้ค้ำประกันสามารถส่งคำขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ (รวมหนี้ หรือแยกเฉพาะหนี้ที่รับโอน) โดยสามารถขยายงวดผ่อนชำระได้ถึง 180 งวด และไม่เกินอายุราชการ 4.ผู้ค้ำประกันที่พ้นสมาชิกภาพไปแล้วสามารถส่งคำขอประนอมหนี้ได้ ถ้าชำระเงินต้นทั้งหมดจะได้รับการยกเว้นดอกเบี้ยค้างชำระ/ดอกเบี้ยเก่า ร้อยละ 90 หรือ ขยายงวดผ่อนชำระได้ถึง 120 งวด และไม่เกินอายุราชการ 5.กรณีที่เป็นหนี้ก่อนปี พ.ศ.2556 เมื่อสมาชิกชำระหนี้ทั้งหมดในคราวเดียวกันจะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนช่วยเหลือผู้ค้ำประกันร้อยละ 20 ของเงินต้น แต่ไม่เกิน 40,000 บาท

“การดำเนินการดังกล่าวเพื่อเป็นการคุ้มครองของสมาชิกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีวินัยในการชำระหนี้ที่ดี เพราะกรณีที่สมาชิกผู้กู้ไม่ชำระหนี้ทำให้เกิดการสูญเสียเงินต้นที่มาจากหุ้นสะสมของสมาชิกและรายได้จากดอกเบี้ยที่จะนำมาจัดสวัสดิการ และเงินสงเคราะห์ต่างๆ เงินปันผลและเฉลี่ยคืนให้กับสมาชิก จำนวน 29,037 ราย ทั้งนี้ สหกรณ์ออทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำกัด ได้จัดทำโครงการคลินิกแก้หนี้เพื่อช่วยเหลือผู้ค้ำประกัน หากสมาชิกรายใดมีปัญหา ขอให้ติดต่อสหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำกัด เพื่อให้คำปรึกษาและแนะนำการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป” อธิบดีท้องถิ่นกล่าว