สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) กระทรวงกลาโหม ทดสอบต้นแบบยานเกราะล้อยาง (AAPC) โครงการวิจัยและพัฒนาร่วมยานเกราะล้อยางสำหรับปฏิบัติภารกิจ ของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (นย.) ณ หาดขลอด กองพลนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) กระทรวงกลาโหม

ทดสอบต้นแบบยานเกราะล้อยาง (AAPC)

โครงการวิจัยและพัฒนาร่วมยานเกราะล้อยางสำหรับปฏิบัติภารกิจ ของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (นย.)

ระหว่างวันที่ 6 – 7 กันยายน 2561

ณ หาดขลอด กองพลนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

หลักการและเหตุผล

จากการประเมินสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงและยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม สรุปได้ว่าภัยคุกคามที่กองทัพไทยต้องเผชิญในห้วงระยะเวลา 10 ปี แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะได้แก่ ภัยคุกคามแบบดั้งเดิม และภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ครอบคลุมทุกย่านความขัดแย้ง (Spectrum of Conflict) ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องร่วมผนึกกำลังและทรัพยากรในการแก้ไขปัญหาให้บรรเทาลงอย่างรวดเร็ว สำหรับกองทัพเรือ นอกจากจะรับบทบาทในการปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติทางทะเลแล้ว ยังมีขีดความสามารถในการสถาปนากำลังรบบนฝั่ง ทำการยึดรักษาหัวหาดอย่างมั่นคง ด้วยกำลังรบยกพลขึ้นบกไปยังชายฝั่งข้าศึกหรือพื้นที่ชายฝั่งที่ข้าศึกครองอยู่ ข้อได้เปรียบสำคัญของการปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบกคือความอ่อนตัว ขีดความสามารถในการรวมกำลังที่เข็มแข็งและความรวดเร็วในการปฏิบัติภารกิจ

การปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบกได้ถูกจัดลำดับขั้นตอนอันประกอบด้วย ขั้นการวางแผน (PLANNING), ขั้นการขึ้นสูเรือ (EMBARKATION), ขั้นการซักซอม (REHEARSAL), ขั้นการเคลื่อนที่สูที่หมาย (MOVEMENT TO THE OBJECTIVE) และขั้นการโจมตี (ASSAULT) หรือที่เรียกโดยรวมวา “PERMA” โดยที่ขั้นการเคลื่อนที่สู่ที่หมาย เป็นการเคลื่อนย้ายจากจุดที่ทำการขึ้นสู่เรือไปยังพื้นที่เป้าหมายลักษณะของคลื่น โดยที่คลื่นรถสะเทินน้ำสะเทินบกจะทำหน้าที่ลำเลียงกำลังรบยกพลขึ้นบก สู่หัวหาดที่หมาย อย่างไรก็ตาม สภาพแวดล้อมของการดำเนินกลยุทธ์ที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากกำลังรบยกพลขึ้นบกจะมีภารกิจการยึดและสถาปนาหัวหาดแล้ว ยังต้องมีขีดความสามารถในการดำเนินกลยุทธ์ภาคพื้นดิน ที่ต่อเนื่องด้วย ด้วยขีดความสามารถในการเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว อำนาจการยิงสนับสนุนที่รุนแรงและมีการป้องกันเพื่อเพิ่มความสามารถในการอยู่รอดในสนามรบ นับว่าเป็นภารกิจที่หลากหลายและมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีทางทหารที่เป็นภัยคุกคามต่อรถสะเทินน้ำสะเทินบก ส่งผลให้หน่วยนาวิกโยธินจำเป็นต้องมีรถรบที่มีขีดความสามารถในการสนับสนุนและรองรับการหลักนิยมและสภาพแวดล้อมการปฏิบัติการในปัจจุบันได้อย่างสมบูรณ์

รถยานเกราะล้อยางแบบ 8×8 เป็นรถรบที่ได้รับการออกแบบขึ้นมาเพื่อให้มีความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ มีอำนาจการยิงที่รุนแรง ด้วยอาวุธที่หลากหลาย สอดคล้องกับภารกิจ มีเกราะป้องกันแรงระเบิดด้านใต้และด้านข้าง ช่วยปกป้องทหารราบภายในรถ ทำให้รถยานเกราะล้อยางแบบ 8×8 เป็นรถที่มีคุณลักษณะที่ขีดความสามารถที่สอดคล้องและเหมาะสมต่อการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของหน่วยนาวิกโยธิน ในการปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก ครอบคลุมถึงการปฏิบัติการอื่น ๆ ของหน่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ในปัจจุบันรถยานเกราะล้อยางแบบ 8×8 ได้รับความเห็นชอบและอนุมัติให้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการยกพลขึ้นบกของหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐ โดยมีเรือระบายพลทำหน้าที่ลำเลียงรถยานเกราะล้อยางสู่หัวหาด (Ship-to-Shore Connector) อีกด้วย

การดำเนินงาน

สทป. ได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้และการดำเนินการเบื้องต้นในการศึกษาวิเคราะห์ออกแบบและประเมินตั้งแต่ปีงบประมาณ 58 เมื่อได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ต่อมา กองทัพเรือ กับ สทป. ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนายานเกราะล้อยางสำหรับปฏิบัติภารกิจของ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (นย.) ระหว่าง กองทัพเรือ กับ สทป. หลังจากนั้น สทป. ได้ดำเนินการวิจัยพัฒนายานเกราะล้อยาง เป็นการออกแบบและพัฒนาโดยแบบและองค์ความรู้ทั้งหมดเป็นของ สทป. ต้นแบบยานเกราะจำนวน 1 คัน แล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2561

การดำเนินงานโครงการวิจัยและพัฒนายานเกราะล้อยางสำหรับปฏิบัติภารกิจของ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (นย.) หรือ “DTI Amphibious Armored Personnel Carriers” (AAPC) เป็นการวิจัยและพัฒนาร่วมเพื่อสร้างต้นแบบและองค์ความรู้ที่สามารถสนับสนุนการเสริมสร้างขีดความสามารถและดำรงสภาพความพร้อมรบของกองทัพเรือ ตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือขยายขีดความสามารถการวิจัยและพัฒนายุทโธปกรณ์ที่เน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่สามารถตอบสนองความต้องการของหน่วยผู้ใช้ในการลำเลียงพล อาวุธยุทโธปกรณ์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ของกำลังรบยกพลขึ้นบก ในการเคลื่อนที่จากเรือสู่ฝั่ง สามารถบรรทุกไปกับเรือ และปฏิบัติการทางยุทธวิธียกพลขึ้นบกจากในทะเลชายฝั่งเข้าสู่ที่หมายหัวหาดและต่อเนื่องในยุทธบริเวณ

กองทัพเรือ และ สทป. ได้ร่วมดำเนินการทดสอบและประเมินผลการใช้งานทางเทคนิคให้ได้มาตราฐานตามคุณลักษณะขีดความสามารถที่กำหนดตามมาตรฐานการใช้งาน เพื่อนำไปสู่การรับรองมาตรฐาน คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานยุทโธปกรณ์กองทัพเรือ ซึ่งเป็นไปตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนายานเกราะล้อยางสำหรับปฏิบัติภารกิจของ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (นย.) (MOA) การดำเนินการที่ผ่านมา

17 กุมภาพันธ์ 61 ดำเนินการสร้างต้นแบบยานเกราะฯ ติดตั้งเกราะเสริม ระบบอาวุธ และติดตั้งป้อมปืน ขนาด 30 มิลิเมตร (จำลอง)

20 กุมภาพันธ์ 61 ทำการทดสอบการลอยตัวและการเคลื่อนที่ในน้ำจืด การทดสอบเป็นไปตามการออกแบบและการจำลองจากโปรแกรม

16-20 กรกฎาคม 61 ฝึกการใช้งานและการปรนนิบัติบำรุงให้กับ กำลัง กองพลนาวิกโยธิน จำนวน 25 นาย เพื่อร่วมสนับสนุนการทดสอบ

การทดสอบสมรรถนะตามมาตรฐานการใช้งานต้นแบบยานเกราะล้อยาง

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสมรรถนะของยานเกราะล้อยางสำหรับปฏิบัติภารกิจของ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (นย.) หรือ “DTI Amphibious Armored Personnel Carriers” (AAPC) ให้กับหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือ ซึ่งเป็นหน่วยผู้ใช้งาน สทป. จึงทำการการทดสอบสมรรถนะตามมาตรฐานการใช้งานต้นแบบยานเกราะล้อยาง 24 ข้อ ดังนี้

การทดสอบระบบย่อย สภาพการใช้งานตามมาตราฐาน 9 ห้วข้อ

1. การตรวจวัดคุณลักษณะทางฟิสิกส์ 2. การทดสอบระบบเติมลมอัตโนมัติ

3. การทดสอบความเข้ากันได้ทางคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า 4. การทดสอบความดังเสียง

5. การทดสอบการสั่นสะเทือน 6. การทดสอบอัตราสิ้นเปลือง

7. การทดสอบระบบปรับอากาศและระบายอากาศ 8. การทดสอบไฟพลาง

9. การทดสอบการทนทานต่อการกัดกร่อนจากเกลือ

การทดสอบคุณลักษณะการเคลื่อนที่ 6 ห้วข้อ

10. การทดสอบความเร็วสูง 11. การทดสอบอัตราเร่ง

12. การทดสอบความตรงศูนย์ล้อ 13. การทดสอบระยะเบรก

14. การทดสอบรัศมีวงเลี้ยว 15. การทดสอบหาจุดศูนย์ถ่วง

การทดสอบการวิ่งผ่านอุปสรรคและเครื่องกีดขวาง 5 หัวข้อ

16. การทดสอบลุยน้ำลึก 17. การทดสอบข้ามเครื่องกีดขวาง

18. การทดสอบการไต่ลาดชัน 19. การทดสอบการไต่ลาดเอียง

20. การทดสอบข้ามคู

การทดสอบการวิ่งเดินทางและปฏิบัติภารกิจ 2 หัวข้อ

21. การทดสอบการวิ่งใช้งานในสภาพภูมิประเทศ

22. การทดสอบการวิ่งใช้งานบนถนน

การทดสอบความสามารถการเคลื่อนที่ในน้ำ 2 หัวข้อ

23. การทดสอบการลอยตัวและรอยรั่วซึม

24. การทดสอบความสามารถปฏิบัติการในน้ำ มีการปฏิบัติดังนี้

24.1 การเคลื่อนที่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ และ 24.2 การเคลื่อนที่ในทะเลเปิด

เพื่อให้การดำเนินการวิจัยและพัฒนายานเกราะล้อยางเกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สายการผลิตเชิงอุตสาหกรรม รวมทั้งเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการวิจัยและพัฒนา สทป. ได้จัดทำแบบและรายละเอียดกระบวนการสร้างยานเกราะ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (นย.) เชิงอุตสาหกรรม เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการวิจัยและพัฒนาต่อเนื่องสู่สายการผลิต และ กองทัพเรือ พิจารณานำเข้าประจำการ ต่อไป