พิศณุ นิลกลัด : อาชีพในฝันของเด็กไทย (ทำไมพ่อแม่อยากให้ลูกเป็นนักกีฬา แล้วมีค่าใช้จ่ายขนาดไหน?)

พิศณุ นิลกลัด

วันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมเป็นวันเด็กแห่งชาติ ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 12 มกราคม

วันเด็กเมื่อปี 2561 สวนดุสิตโพลเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนเรื่อง วันเด็ก 2561 เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนจากทั่วประเทศจำนวน 1,388 คน พบว่าเด็กไทยมีอาชีพในฝันเมื่อโตขึ้นคือ อันดับ 1 แพทย์ 2.ครู 3.ทหาร 4.นักธุรกิจ และอันดับ 5 คือ นักกีฬา

เมื่อวันเด็กปี 2558 สวนดุสิตโพลทำการสำรวจความคิดเห็นของเด็กไทยทั่วประเทศ จำนวน 1,275 คน พบว่าของขวัญหรือสิ่งที่เด็กๆ ร้อยละ 91.84 อยากขอจากนายกรัฐมนตรี คือการสนับสนุนเรื่องการเรียน กีฬา ทุนการศึกษา

เป็นเรื่องที่น่าดีใจที่เด็กไทยสนใจเป็นนักกีฬา และอยากให้ผู้ใหญ่ให้การสนับสนุน

เพราะกว่าที่จะฝึกซ้อม เก็บตัว จนมีฝีมือเก่งกล้าระดับนักกีฬาแถวหน้าของโลกได้นั้นมีค่าใช้จ่ายมหาศาล

ขอยกตัวอย่างค่าใช้จ่ายในการปลุกปั้นลูกน้อยให้เป็นยอดนักว่ายน้ำ เป็นกีฬาที่พ่อแม่คนไทยนิยมให้ลูกเรียน ซึ่งหากลูกมีแววว่ายน้ำเก่ง และพ่อ-แม่ต้องการส่งเสริมให้ลูกเป็นยอดนักว่ายน้ำระดับโอลิมปิกนั้น จะมีค่าใช้จ่ายมหาศาลขนาดไหน

โดยดูจากโจเซฟ สกูลลิ่ง (Joseph Schooling) ยอดนักว่ายน้ำหนุ่มจากสิงคโปร์ เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกเมื่อปี 2016 ในการแข่งขันว่ายน้ำโอลิมปิกท่าผีเสื้อ 100 เมตร ที่ริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล

โจเซฟ สกูลลิ่ง ซึ่งอายุ 21 ปีในตอนนั้น ได้สร้างความฮือฮาให้คนทั่วโลกหลังจากแตะขอบสระได้เป็นคนแรก ด้วยเวลาที่เป็นสถิติโลก 50.39 วินาที

เอาชนะยอดนักว่ายน้ำเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 23 เหรียญ ไมเคิล เฟลป์ส (Michael Phelps)

ถือเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่

และเป็นเหรียญทองว่ายน้ำโอลิมปิกเหรียญแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศสิงคโปร์

ความสำเร็จของโจเซฟในครั้งนั้นทำให้พ่อแม่ชาวสิงคโปร์หลายคนภาคภูมิใจและอยากสนับสนุนให้ลูกๆ เป็นนักว่ายน้ำ

มาดูกันว่า เงินที่พ่อแม่ลงทุนไป เทียบกับเงินที่ได้กลับมาเมื่อลูกประสบความสำเร็จ คุ้มค่ามากน้อยเพียงใด

ตอนอายุ 14 ปี โจเซฟเข้าเรียนในระดับชั้นมัธยมที่ Bolles School (โบลส์ สคูล) โรงเรียนกินนอนชื่อดังที่แจ๊กสันวิลล์ รัฐฟลอริดา ค่าเทอมประมาณปีละ 1,580,000 บาท เขาใช้เวลาเรียนหนังสือและเข้าโปรแกรมฝึกว่ายน้ำที่ขึ้นชื่อเป็นเวลา 5 ปี รวมแล้วก็ประมาณ 7,900,000 บาท

พอถึงระดับมหาวิทยาลัย โจเซฟได้เป็นนักศึกษาทุนความสามารถด้านกีฬาของมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน (University of Texas at Austin) ซึ่งไม่ได้มีการเปิดเผยมูลค่าทุนที่เขาได้รับในแต่ละปี

แต่ในกรณีที่ไม่ได้เป็นนักเรียนทุน เขาจะต้องจ่ายค่าเทอมเองปีละ 1,560,000 บาท ใช้เวลาเรียนชั้นปริญญาตรี ฝึกซ้อม และแข่งขันว่ายน้ำให้ทีม Texas Longhorns เป็นเวลา 4 ปี ค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมด 6,240,000 บาท

นอกเหนือจากค่าเทอมทั้งระดับชั้นมัธยมและมหาวิทยาลัย โจเซฟ สกูลลิ่ง ยังมีค่าใช้จ่ายสำหรับการลงแข่งขันว่ายน้ำรายการต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา ครั้งละประมาณ 161,700 บาท ซึ่งนักว่ายน้ำทุกคนต้องเข้าร่วมอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง

ถ้าคำนวณตลอดระยะเวลาที่โจเซฟฝึกซ้อมและแข่งขันว่ายน้ำในสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 9 ปี เฉพาะค่าใช้จ่ายส่วนนี้รวมกันอยู่ที่ประมาณ 5,820,000 บาท

เมื่อนำรายจ่ายทั้ง 3 ส่วนมารวมกัน เป็นเงินทั้งสิ้น 831,041 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 19,960,000 บาท

แต่ประมาณการว่าที่ผ่านมาครอบครัวสกูลลิ่งลงทุนค่าใช้จ่ายทั้งค่าเดินทาง ค่าอาหาร และค่าอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งแยกต่างหากจากค่าเล่าเรียนไปแล้ว 824,496.64 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 19,795,000 บาท

รวมๆ แล้วครอบครัวสกูลลิ่งลงทุนกับการเป็นนักว่ายน้ำโอลิมปิกของโจเซฟไปทั้งสิ้น 39,755,000 บาท

ในส่วนของรายได้จากการแข่งขันต่างๆ เราทราบว่าโจเซฟได้รับเงินรางวัลอัดฉีดจากเหรียญทองโอลิมปิกเป็นเงิน 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (24,000,000 บาท) ได้ 35,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (840,000 บาท) จาก 4 เหรียญทองในซีเกมส์ 2015 และได้เงินอัดฉีด 20,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (480,000 บาท) จากเหรียญเงินในการแข่งขันกีฬาเครือจักรภพอังกฤษปี 2014

ในเอเชี่ยนเกมส์ 2014 ที่อินชอน โจเซฟได้เหรียญทองผีเสื้อ 100 เมตร, เหรียญเงินผีเสื้อ 50 เมตร และเหรียญทองแดงผีเสื้อ 200 เมตร ทำให้เขาได้เงินอัดฉีด 350,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (8,400,000 บาท)

รวมเงินอัดฉีดทั้งสิ้น 1,405,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 33,720,000 บาท

คณะกรรมการโอลิมปิกของประเทศสิงคโปร์บอกว่าเงินรางวัลทุกอย่างที่นักกีฬาได้รับก็ถือว่าเป็นของนักกีฬา แต่ก็มีข้อบังคับอยู่ว่านักกีฬาต้องแบ่งเปอร์เซ็นต์ของเงินรางวัลส่วนหนึ่งให้ทางสมาคมกีฬาภายในประเทศเพื่อใช้เป็นทุนฝึกฝนและพัฒนานักกีฬาในอนาคต และนอกจากนี้เงินรางวัลทุกอย่างก็ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย

เท่ากับว่าเงินที่สกูลลิ่งได้รับจริงๆ จากการแข่งขันทุกอย่างคือ 1,054,850 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 25 ล้านบาท หรือแค่เกือบ 64% ของจำนวนเงินที่พ่อและแม่ลงทุนไปทั้งหมด

ซึ่งครอบครัวสกูลลิ่งก็ยอมรับว่าการหาเงินมาสนับสนุนลูกชายเป็นประสบการณ์ที่เหนื่อยสุดๆ ของคนเป็นพ่อ-แม่ เหมือนกับที่ครอบครัวนักกีฬาทีมสหรัฐอเมริกาหลายคนทุ่มเงินกันสุดชีวิตจนแทบหมดเนื้อหมดตัว

โจเซฟ สกูลลิ่ง ปัจจุบันอายุเพียงแค่ 23 ปี เขายังมีเวลาอีกหลายปีที่จะเข้าร่วมการแข่งขันรายการใหญ่ๆ และคว้าเหรียญรางวัลกลับมาให้สิงคโปร์ นั่นหมายถึงเงินรางวัลที่จะได้เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ยังไม่นับรวมรายได้จากสปอนเซอร์ต่างๆ และการเป็นนายแบบโฆษณาสินค้าหากเขาสามารถรักษาผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่อง

การที่เด็กคนหนึ่งจะก้าวขึ้นเป็นนักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิกได้นั้น นอกจากต้องอาศัยเงินมหาศาลแล้ว ความรัก ความทุ่มเท กำลังใจที่พ่อ-แม่มอบให้ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ขาดไม่ได้เลย