บทเรียนจากปฏิวัติอุตสาหกรรม/นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

บทเรียนจากปฏิวัติอุตสาหกรรม

 

ผมเรียนเรื่องปฏิวัติอุตสาหกรรมว่าเริ่มจากเครื่องจักรไอน้ำของเจมส์ วัตต์ (ซึ่งต่อมาได้รับการพัฒนาให้มีความดันสูงขึ้น และวิ่งได้เร็วและราบเรียบขึ้น) เข้าใจว่าเด็กไทยคนอื่นก็คงเรียนอย่างเดียวกัน จนทำให้เกิดข้อสรุปในบรรดานักปกครองไทย, นักบริหารวิชาการไทย และคนทั่วไปว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ผมออกจะสงสัยว่าประวัติศาสตร์ปฏิวัติอุตสาหกรรมที่สอนกันในหลักสูตรการศึกษาไทยนี่แหละ คือที่มาของอคติประจำชาติ เรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับการพัฒนา

การปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นความเปลี่ยนแปลงระดับโลก ใหญ่และไพศาลเท่าๆ กับการเปลี่ยนมาสู่การเพาะปลูกอาหารของมนุษย์สมัยหิน เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอจะอธิบายความเปลี่ยนแปลงระดับนี้ได้ ถ้าพูดให้ถึงที่สุด เทคโนโลยีเองเสียอีกที่ต้องเปลี่ยน เพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ปฏิวัติอุตสาหกรรมเริ่มขึ้นเมื่อครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18 ในอังกฤษได้ ก็เพราะมีความเปลี่ยนแปลงทางสังคม-เศรษฐกิจนำมาก่อน และผลักดันให้การปฏิวัติอุตสาหกรรมกลายเป็นจุดกำเนิดของทุนนิยม (อย่างแทบจะเลี่ยงไม่ได้)

แต่ปฏิวัติอุตสาหกรรมไม่ใช่เทคโนโลยี เช่นเดียวกับทุนนิยมก็ไม่ใช่เทคโนโลยี

 

ผมขออาศัย Eric Hobsbawm ใน The Age of Revolution เพื่ออธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมดังกล่าว (หนังสือประวัติศาสตร์ที่ดีเลิศเล่มนี้ คุณภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลฝีมือดีกำลังแปลอยู่ คงจะพิมพ์ออกเป็นเล่มอีกไม่นานโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน)

ในศตวรรษที่ 18 อังกฤษไม่ใช่ผู้นำทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลก แม้เมื่อเกิดปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้วก็ยังไม่ใช่ ฝรั่งเศสเจริญก้าวหน้าทั้งด้านวิทยาศาสตร์และด้านเทคโนโลยีกว่าอังกฤษ โดยเฉพาะด้านฟิสิกส์และคำนวณ แม้แต่ทฤษฎีที่ถูกต้องของการออกแบบเครื่องจักรไอน้ำ ก็เป็นสิ่งที่ฝรั่งเศสคิดขึ้นหลังจากวัตต์ได้ประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำของตนไปกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว และทำให้เครื่องจักรไอน้ำมีความปลอดภัย เพราะไม่เกิดระเบิดขึ้นบ่อยๆ ในการใช้งาน

เหตุที่อังกฤษล้าหลังในสองด้านนี้ ก็เพราะระบบการศึกษาของอังกฤษล้าหลังมาก เมื่อเทียบกับฝรั่งเศสหรือรัฐเยอรมนี มหาวิทยาลัยสองแห่งของอังกฤษคือออกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์เฉื่อยชาทางปัญญา เพราะเป็นเพียงสถานที่ “ชุบตัว” ของลูกผู้ดีเท่านั้น มหาวิทยาลัยที่ดีกลับไปอยู่ในสกอตแลนด์ ส่วนใหญ่ของนักประดิษฐ์ลือชื่อของการปฏิวัติอุตสาหกรรมล้วนเป็นผลผลิตของมหาวิทยาลัยสก๊อต “ผู้ดี” อังกฤษที่ต้องการให้ลูกได้รับการศึกษา “จริงๆ” มักจ้างครูพิเศษชาวสก๊อตมาสอนที่บ้านเรือนของตน

ฮอบสบอมบรรยายสรุปว่า “การศึกษาของอังกฤษ คือตลกไร้รสนิยม”

เทคโนโลยีที่ใช้ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคเริ่มแรก เป็นเทคโนโลยีง่ายๆ ที่ประดิษฐ์ขึ้นตามความจำเป็นเท่านั้น หาใช่เทคโนโลยีที่มีฐานอยู่บนความรู้ทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชั้นสูงแต่อย่างไร ความรู้ชั้นสูงอย่างเดียวที่จำเป็นคือความรู้ด้านเคมี แต่ในระยะเริ่มแรกของปฏิวัติอุตสาหกรรม ยังไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีที่มาจากความรู้เคมีชั้นสูงแต่อย่างไร

ความ “พร้อม” ของอังกฤษมาจากเงื่อนไขทางสังคม, เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม (โดยเฉพาะทางการค้า) ต่างหาก

 

เศรษฐกิจของอังกฤษได้ก้าวหน้าไปไกลกว่ายุโรปภาคพื้นทวีป เกษตรกรรมของอังกฤษในศตวรรษที่ 18 กลายเป็นการผลิตเพื่อตลาดไปแล้ว เจ้าที่ดินใช้แรงงานไพร่ติดที่ดินของตน (serfs) ในการผลิต “สินค้า” ป้อนตลาด (พืชผลหรือขนแกะ เป็นต้น) ทั้งในและต่างประเทศ บางคนอาจเบียดขับไพร่ติดที่ดินของตนออกไปจากไร่นา เพื่อเข้าไปจัดการผลิตสินค้าด้วยตนเอง เพราะให้ผลกำไรมากกว่า รัฐก็ออกกฎหมายที่เอื้อต่อความเปลี่ยนแปลงทางเกษตรกรรมเช่นนี้ด้วย

เราอาจเรียกผู้ทำเกษตรกรรมของยุโรปภาคพื้นทวีปว่า “ชาวนา” เลี้ยงตนเอง (peasant) แต่ในอังกฤษไม่มี “ชาวนา” อย่างนั้นเสียแล้ว

กล่าวโดยสรุป เกษตรกรรมอังกฤษมีความพร้อมเพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมอยู่สามด้าน ซึ่งไม่มีในยุโรปภาคพื้นทวีป หนึ่งมีผลิตภาพสูงพอจะสนองตอบต่อประชากรนอกภาคเกษตรซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็วได้ สอง ด้วยเหตุดังนั้นจึงมีแรงงานเหลือพอจะถูกดึงมาใช้ในเมืองและการผลิตด้านอุตสาหกรรม และสามภาคเกษตรกรรมสะสมทุนได้มากพอจะนำมาใช้ในภาคเศรษฐกิจทันสมัย

 

เพราะได้ก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจตลาดไปไกลกว่าคนอื่น ทำให้อังกฤษก้าวหน้าไปก่อนในอีกสองด้าน ซึ่งมีความสำคัญต่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างยิ่ง

ด้านแรกคือ การธนาคาร นอกจากเกิดธนาคารกลางเพื่อสร้างเสถียรภาพด้านการเงินขึ้นแล้ว แหล่งเงินกู้ก็ก้าวหน้าตามการสะสมทุนของเจ้าที่ดินในภาคเกษตรกรรมด้วย นอกจากอุปกรณ์หรือเครื่องมือทางการเงินต่างๆ (เช่นเชค) จะถูกพัฒนาขึ้นเพื่อความสะดวกในด้านการเงิน ธนาคารอังกฤษก็เลิกเป็น “แขกเงินกู้” หรือ “ยิว” (ขอประทานโทษ ไม่ต้องการดูหมิ่นเชิงชาติพันธุ์ แต่เข้าใจได้ง่ายดีในหมู่แม่ค้าไทย) คือปล่อยกู้ระยะสั้น และเรียกดอกแพงลิ่วเพื่อคุ้มความเสี่ยง ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในอังกฤษจึงถูกลง วิสาหกิจต่างๆ ของนายทุนเจ้าของอุตสาหกรรมในระยะเริ่มแรกปฏิวัติอุตสาหกรรม ล้วนมาจากเงินกู้ทั้งสิ้น ธนาคารหันมาดูโครงการกู้ แทนที่จะดูหน้าของผู้กู้และเส้นสาย ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นล้วนเป็นคนแปลกหน้าที่ไม่มีเส้นสายใดๆ ทั้งสิ้น

อีกด้านหนึ่งคือการคมนาคม อังกฤษในศตวรรษที่ 18 มีถนนซึ่งรถม้าวิ่งได้สบายบ้าง ลำบากนิดหน่อยบ้าง เชื่อมโยงไปทุกชุมชนแล้ว ดังนั้น การไปรษณีย์จึงครอบคลุมได้กว้างขวาง เท่าๆ กับตลาดที่รับซื้อสินค้าจำเป็น นอกจากถนนแล้ว อังกฤษยังมีคลองเชื่อมต่อไปยังเมืองใหญ่ๆ เพราะการขนส่งสินค้าที่กินระวางและน้ำหนักด้วยราคาถูกที่สุดคือเรือ คลองเหล่านี้ใช้ส่งสินค้าดังกล่าวด้วยพลังสัตว์ลากจูงสองฝั่งคลอง

แม้ไม่มีประสิทธิภาพเท่ารถไฟซึ่งเข้ามาแทนที่ในภายหลัง แต่ก็มีประสิทธิภาพสูงพอจะทำให้ตลาดของสินค้ากินระวางขยายไปได้กว้างไกลกว่าในประเทศยุโรปอื่นๆ หนึ่งในสินค้าดังกล่าวคือถ่านหินซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทำความอบอุ่นในบ้านเรือน เพราะฟืนหมดป่าไปนานแล้ว

 

ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือความเปลี่ยนแปลงทางความคิดที่มีต่อการค้า นับตั้งแต่ดึกดำบรรพ์เมื่อเราเริ่มแลกเปลี่ยนกันเพื่อผลกำไร หลักการสำคัญของการทำกำไรคือ “ซื้อถูกขายแพง” ดังนั้น เงื่อนไขสำคัญของการค้าคือผูกขาด จะโดยกีดกันไม่ให้คนอื่นเข้าถึงสินค้าดังกล่าว หรือกีดกันมิให้คนอื่นเข้าสู่ตลาด จะทำได้ก็โดยอาศัยอำนาจ จะเป็นอำนาจรัฐ, อำนาจภูมิศาสตร์ (เช่น สินค้าอยู่ไกล ขนลำบาก) หรืออำนาจเหนือปัจจัยการผลิตก็ตามที

แต่เศรษฐกิจตลาดที่ขยายตัวขึ้นในศตวรรษที่ 18 ของอังกฤษ ทำให้พ่อค้าเริ่มคิดถึงการหากำไรด้วยการลดต้นทุนการผลิต ในขณะเดียวกัน ก็เพิ่มกำลังการผลิตเพื่อให้ได้สินค้ามากๆ ขายได้ถูกๆ จับตลาดได้กว้างขวางขึ้น สินค้าที่เป็นตัวนำในปฏิวัติอุตสาหกรรมจึงเป็นสินค้าที่ผู้คนต้องใช้กันทั่วไป เช่นเสื้อผ้าที่ทำจากฝ้าย หรือถ่านหินซึ่งราคาลดต่ำลงอย่างรวดเร็วเพราะกำลังการผลิตที่ขยายขึ้นอย่างฉับพลันจากเทคโนโลยีเครื่องจักรไอน้ำ

เทคโนโลยีไม่ได้ลอยมาเองจากความรู้ แต่เทคโนโลยีถูกกำหนดจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคม ถูกกำหนดทั้งประเภทของเทคโนโลยี และลักษณะเฉพาะของเครื่องจักรที่เทคโนโลยีผลิตขึ้น (เช่น เครื่องจักรไอน้ำที่เล็กลงและขนย้ายง่าย ยิ่งเพิ่มความต้องการของตลาด เพราะนำไปใช้ประโยชน์ได้เพิ่มขึ้นในหลายสถานการณ์)

 

ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศตนเอง จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยตัวของมันเอง ไม่ได้ทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยอัตโนมัติ เพราะตราบเท่าที่เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไม่เอื้อ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เพิ่มพูนขึ้นก็ไม่ถูกนำไปใช้ ในขณะที่ตลาดต่างประเทศที่พร้อม ย่อมรับซื้อทั้งงานและคนเก่งไปใช้ในทันที ด้วยราคาสูงด้วย (ดูคนเก่งของอินเดียในสหรัฐ, ยุโรป และแคนาดาเถิดครับ)

ผมขอชี้ให้เห็นว่า แม้แต่เงื่อนไขทางสังคมที่ทำให้สังคมอังกฤษพร้อมจะเริ่มปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็ยังไม่เกิดในประเทศไทย ถึงที่เกิดแล้วก็มีลักษณะบิดเบี้ยวจนไม่เป็นพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ได้

แม้ว่าการผลิตด้านเกษตรกรรมของไทยขยายตัวขึ้นอย่างมากภายใต้นโยบายพัฒนา นับตั้งแต่สมัยสฤษดิ์เป็นต้นมา แต่การขยายตัวนั้นไม่ได้เน้นที่การเพิ่มผลิตภาพ เพียงแต่เพิ่มปริมาณของสินค้าการเกษตรด้วยการขยายพื้นที่เพาะปลูกเท่านั้น การสะสมทุนเกิดขึ้นจริง แต่ไม่ได้เกิดในภาคเกษตร ทุนนั้นจึงไม่วนกลับไปสู่การพัฒนาด้านเกษตรกรรม คนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งเป็นเกษตรกรจึงมีฐานะยากจน ไม่เกิดตลาดภายในขนาดใหญ่เพื่อรองรับการผลิตด้านอุตสาหกรรมที่ขยายตัวขึ้นได้

แม้แต่ทุนซึ่งลงไปเก็บเกี่ยวกำไรในภาคเกษตร ก็ไม่ลงทุนในภาคเกษตรโดยตรง แต่ใช้เกษตรกรรายย่อยเป็นผู้ผลิตเพื่อผลักภาระความเสี่ยงไปให้คนเล็กๆ เหล่านี้แทน (เช่น ไข่ไก่, เนื้อไก่, ข้าวอินทรีย์, ข้าวโพด, อ้อย ฯลฯ)

ภาคเกษตรกรรมไทยมีแรงงานล้นเกินอยู่แล้ว สะดวกแก่ภาคเมืองและอุตสาหกรรมจะดึงมาใช้เป็นแรงงานไร้ฝีมือของตน แต่เมื่อแรงงานขาดในภายหลัง รัฐก็เปิดให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาจำนวนมาก เพื่อดึงราคาแรงงานให้ต่ำไว้ รัฐเองก็มีส่วนช่วยให้ราคาแรงงานต้องต่ำ เช่น ในระยะแรกใช้อำนาจเผด็จการของรัฐบาลทหารกดขี่มิให้แรงงานเคลื่อนไหว ในระยะหลังสร้างเงื่อนไขทางกฎหมายให้ขบวนการแรงงานขาดอำนาจต่อรองที่เข้มแข็ง

ค่าแรงที่ต่ำเช่นนี้ ทำให้ทุนในประเทศไทยไม่คิดจะยกระดับการผลิตของตนไปสู่ฐานความรู้มากขึ้น เพราะยังสามารถหากำไรจากแรงงานไร้ฝีมือราคาถูกได้ไม่ยาก ถึงจะมีนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งระดับโลก ทุนไทยก็ยังทำกำไรกับการผลิตแบบรับจ้างทำของมากกว่าเสี่ยงกับการประดิษฐ์คิดค้น

 

ตรงกันข้ามกับนายทุนนักอุตสาหกรรมในยุโรปและสหรัฐ เสรีภาพในการเคลื่อนไหวของฝ่ายแรงงานทำให้ค่าแรงสูงขึ้น จนจำเป็นต้องขยับการผลิตของตนไปสู่การผลิตที่ต้องอาศัยฐานความรู้มากขึ้นในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 เพื่อรักษาต้นทุนการผลิตให้ต่ำเอาไว้ ยิ่งทำให้เศรษฐกิจของโลกตะวันตกขยายตัวขึ้นอย่างมาก (ที่เรียกกันว่าปฏิวัติอุตสาหกรรมระดับสูง)

แหล่งเงินกู้หรือระบบธนาคารของไทยยังทำงานไม่ต่างจาก “แขกเงินกู้” มากนัก นอกจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากแล้ว (เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก) ยังอาศัย “เส้นสาย” เป็นหลักประกันเงินกู้มากกว่าคุณภาพของโครงการ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเหตุให้เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง อันทำให้ผู้คนหมดตัวจำนวนมาก แต่ไม่รวมถึงบริษัทบริวารของนายธนาคารที่กู้เงินไปเจ๊งหลายโครงการ)

เงื่อนไขการทำกำไรดังกล่าว ทำให้พ่อค้าใหญ่ไทยไม่เปลี่ยนหลักการทางการค้าของตน คือ “ซื้อถูกขายแพง” ไปมากนัก ทำให้จำเป็นต้องการอำนาจรัฐเพื่อการผูกขาดสูงมาก พร้อมจะลงทุนทางการเมืองด้วยเงินก้อนใหญ่ เพราะอำนาจรัฐให้ผลตอบแทนสูงกว่าและแน่นอนกว่าการพัฒนาผลิตภาพ

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึง เงื่อนไขอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่นการคมนาคมจะดีกว่านี้ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะถึงอย่างไรตลาดภายในของไทยก็ยังคงไม่มีกำลังซื้อมากนักอยู่นั่นเอง รถไฟความเร็วสูงจึงต้องรอให้ถนนลูกรังหมดไปเสียก่อน

 

การส่งเสริมความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แพร่หลายในสังคม ย่อมมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสังคมที่การผลิตได้ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมแล้วเช่นไทยในปัจจุบัน ประชาชนควรเป็นผู้บริโภคที่รู้ว่าเวทมนตร์คาถาไม่อาจแก้ปัญหาให้ชีวิตของตนได้ จึงเป็น “สินค้า” ที่ไม่มีราคา ส่วนใหญ่ของอาหารเสริมความงาม, ยาลดความอ้วน, ยาวิเศษทั้งหลาย, รักพ่อป้องกันโควิด ฯลฯ ซึ่งโฆษณาขายกันผ่านสื่อต่างๆ นั้น มักไม่ได้ผ่านการวิจัยทั้งด้านเภสัชศาสตร์ และการทดลองใช้กับคนจำนวนมาก จึงไม่มีราคาเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงทัศนคติที่เป็นเหตุเป็นผลต่อชีวิต, สังคม และการเมือง มีความจำเป็นในสังคมสมัยใหม่

แต่นักปกครองและนักบริหารวิชาการไทยกลับไม่สนใจความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในหมู่ประชาชนทั่วไป คิดกันแต่ว่า หากเรามีนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก เศรษฐกิจไทยก็จะดีเอง หรือประเทศไทยจะกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโดยพลัน

และโดยไม่ต้องมีเงื่อนไขปัจจัยอะไรอื่นอีกเลย…ไม่คิดว่านี่เป็นวิธีคิดแบบไสยศาสตร์ไปหน่อยหรือ