นิธิ เอียวศรีวงศ์ | Human ร้าย, Human Wrong

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิทรรศการศิลปะ “Human ร้าย, Human Wrong” ครั้งที่สาม กำลังจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม (บนเส้นทางสายเก่าสู่สันกำแพง) และจะจัดแสดงไปจนถึงหลังสงกรานต์ของปีนี้

ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นศิลปะจัดวางและศิลปะแสดง (installation arts & performing arts) ศิลปินคือคนหนุ่มสาวซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา และส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดไม่ได้เป็นนักศึกษาสายวิจิตรศิลป์ คนเหล่านี้ได้รับการคัดเลือกจากกรรมการของโครงการ ไม่ใช่เพราะ “ฝีมือ” ในการทำงานศิลปะ แต่เพราะความคิด ดังนั้น ส่วนใหญ่ของผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการสร้างงานศิลปะ จึงเป็นคนที่มีปูมหลังทางการศึกษาที่หลากหลายกว่านักเรียนศิลปะ

ก่อนลงมือทำงาน โครงการนำเอานักเขียน, นักวิชาการ และศิลปินมาพูดคุยกับผู้ที่ได้รับคัดเลือก จุดมุ่งหมายไม่ใช่เพื่อยัดเยียดความคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เพื่อเปิดมิติอื่นๆ ของประเด็นเรื่องที่จะทำงานศิลปะ อันอาจเป็นประเด็นที่นักศึกษาไม่เคยคิดมาก่อน เช่น ปีนี้ประเด็นเรื่องคือ “มนุษย์” ดังนั้น ผู้ที่โครงการเชิญมาพูดคุยจึงค่อนข้างหนักไปทางนักมานุษยวิทยา ซึ่งมักเห็นคนภายใต้วัฒนธรรมหนึ่งๆ มากกว่าเห็นคนลอยอยู่โดดๆ ทำให้มนุษย์หรือคนมีความหลากหลายมาก

สิ่งที่นักมานุษยวิทยาช่วยได้มากคือการนำผู้สมัครทำงานศิลปะ “ออกฟิลด์” คือออกไปพบปะเก็บข้อมูลกับชุมชนจริงในพื้นที่ แต่ไม่ได้มุ่งหมายให้นำเอาคนในพื้นที่ซึ่ง “ออกฟิลด์” มาเป็นเนื้อหาในงานศิลปะ เพียงแต่ทำความคุ้นเคยในการออกไปสัมผัสผู้คนที่มีเลือดเนื้อจริงนอกหนังสือตำรา

และผมคิดว่าส่วนนี้เป็นความสำเร็จอย่างมากของโครงการ เพราะส่วนใหญ่ของผลงานที่ออกมา วางอยู่บนฐานของการได้สัมผัสมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อจริง ในฐานะปัจเจกหรือในฐานะสมาชิกของชุมชน

เพื่อนคนหนึ่งที่ได้เข้าร่วมชมงานในวันนั้น ตั้งข้อสังเกตว่างานศิลปะที่แสดงในปีนี้ดูจะมีพลังมากกว่างานในปีก่อนๆ ผมก็เห็นด้วยแต่ก็ยังคิดหาเหตุผลไม่ได้ จนกลับบ้านแล้วจึงนึกออกว่า ทั้งนี้ก็เพราะงานในปีนี้วางอยู่บนชีวิตจริงของมนุษย์ ซึ่งศิลปินได้นั่งลงพูดคุยและคงสามารถฟันฝ่าม่านกำบังซึ่งมนุษย์สร้างขึ้นปิดล้อมตัวตนจริงของตนไว้ จนได้พบหรืออย่างน้อยได้เข้าไปใกล้ตัวตนจริงๆ ของเขามากขึ้น อารมณ์ความรู้สึกที่สื่อออกมาจึงตอบรับกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชมได้มาก

ภายใต้อำนาจเผด็จการของ คสช. เราพูดหรือเขียนอะไรที่มีความสำคัญในที่สาธารณะไม่ได้หลายเรื่อง แต่เพราะเรื่องเหล่านั้นสำคัญ จึงจำเป็นต้องสื่อสารระหว่างกันในสังคม งานศิลปะเป็นใบอนุญาตที่เปิดโอกาสให้พูดถึงสิ่งเหล่านั้นได้ ซ้ำพูดด้วยอารมณ์ความรู้สึก จึงให้ความหมายที่สะเทือนใจยิ่งกว่าภาษาคำพูด

ในอีกด้านหนึ่ง งานศิลปะเหล่านี้ยังนำความสดชื่นสู่วงการศิลปะร่วมสมัยของไทย ซึ่งแม้ในยามวิกฤตของบ้านเมืองแค่ไหน ก็ไม่เคยไปพ้นจากวัดและวังสักที

แต่จะพูดหรือบอกเล่าความคิดที่ตนตกผลึกมาอย่างไร จึงจะสะเทือนอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชมได้อย่างงดงาม แต่ละคนต้องเลือก “สื่อ” ของตนเอง และสร้างมันขึ้นมาเอง ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่ตนจัดหามาได้

น่าสนใจที่มนุษย์ซึ่งศิลปินเลือกจะหยิบมาพูดถึง คือคนที่ไม่ค่อยมีใครมองเห็นอย่างเต็มคน และแน่นอนย่อมไม่มีปากมีเสียงพอจะทำให้ใครสังเกตเห็นหรือรับรู้ความคิดความรู้สึกของเขาด้วย แน่นอนว่าส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้คือคนด้อยโอกาส ซึ่งมีอยู่ในทุกสังคม แต่อีกส่วนที่เรามักนึกไปไม่ถึงคือตัวเราเอง แม้ไม่จัดอยู่ในกลุ่มคนด้อยโอกาส แต่ก็ถูกปิดกั้นไม่ต่างจากกัน เพราะมีเรื่องบางเรื่อง และอารมณ์ความรู้สึกบางอย่าง ที่สังคมไทยห้าม โดยทางกฎหมายบ้าง โดยวัฒนธรรมบ้าง แสดงออกแก่คนอื่นอยู่ตลอดมา

งานศิลปะ 13 ชิ้น สื่อสารความด้อยโอกาสไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งในสองอย่างนี้

ผมขอพูดถึงงานสองสามชิ้นที่ประทับใจผมเป็นพิเศษ เพื่อเป็นตัวอย่างความสำเร็จของนิทรรศการศิลปะ Human ร้าย, Human Wrong ในปีนี้

คุณธนบดี กางบุญเรือง นักเรียนวิทยาศาสตร์ ตั้งคำถามอย่างน่าตระหนกแก่วิทยาศาสตร์ หลังจากที่มันให้อำนาจมนุษย์ในการจัดการกับธรรมชาติให้เป็นไปตามใจของตนแล้ว วิทยาศาสตร์ในปัจจุบันกำลังให้อำนาจแก่มนุษย์ในการจัดการกับความเป็นมนุษย์ของตัวเอง แต่จะจัดการไปตามใจของใครก็ไม่ทราบ ภาพของดีเอ็นเอหลากสีซึ่งถูกจัดเรียงกันเป็นแถวอย่างไร้ความหมาย อาจถูกแปลงให้กลายเป็นคอร์ดเปียโน (ซึ่งผู้ชมอาจฟังได้จากหูฟังที่ห้อยอยู่ข้างภาพ) นี่ก็เป็นการจัดการกับมนุษยภาพอย่างหนึ่ง ซึ่งคงไม่กระทบใคร แต่การจัดการอย่างอื่นตามสมรรถภาพของวิทยาศาสตร์ปัจจุบันเล่า?

ภาพชื่อ 180 ของคุณฐิตาพร คล้อยตามวงศ์ คือเศษวัสดุที่เก็บจากไซต์งานก่อสร้าง 180 ชิ้น นำมาจัดเรียงเป็นภาพขนาดใหญ่ อิฐบางก้อนอาจมีภาพของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งกำลังทำงานนานาชนิด ทั้งในไซต์งานและที่บ้าน แต่ชื่อภาพว่า 180 ไม่ได้มาจากจำนวนของวัสดุก่อสร้างในภาพ หากเป็นค่าจ้างที่แรงงานหญิงข้ามชาติคนหนึ่งได้รับต่อวันเพื่อแลกกับงานหนักในไซต์ก่อสร้าง เมื่อได้มีโอกาสนั่งลงคุยกับเธอ คุณฐิตาพรพบว่า งานที่หญิงผู้นี้ต้องทำในแต่ละวัน นอกจากงานหนักในสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ในไซต์ก่อสร้างแล้ว งานในฐานะแม่บ้านของครอบครัวก็ยังหนักหนาสาหัสไม่น้อยไปกว่ากัน

ใครๆ ก็รู้ได้ว่า 180 บาทต่อวันคือการกดขี่แรงงานที่โหดร้าย แต่ความโหดร้ายนั้นหมายถึงอะไรในชีวิตจริงของผู้คน หากมีเพียง “ข้อมูล” ก็ยากจะมีอารมณ์ความรู้สึกร่วมได้ ยิ่งกว่านี้การได้พูดคุยกับแรงงานหญิงข้ามชาติในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ยังทำให้รู้สึกได้ถึงน้ำหนักที่กดขี่ผู้หญิงว่า อาจไม่ได้มาจากทุนนิยมและรัฐที่ไร้ความเป็นธรรมเพียงอย่างเดียว วัฒนธรรมความสัมพันธ์ระหว่างเพศก็มีส่วนอยู่ไม่น้อยเลย

ภาพที่มีชื่อเป็นตัวเลขเหมือนกันคือ 1,760,000 เป็นลายไทยบรรเจิดและอลังการ บนผ้าสีแดงที่ประดับ “ดอก” ประจำยามทั่วผืน แต่ลายไทยบรรเจิด ซึ่งล้อมกรอบและนำสายตาไปสู่วงกลมเล็กๆ ตรงกลาง ดึงให้ผู้ชมเข้าไปส่องดูภาพในวงกลมนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นภาพงานฉลองอันหนึ่งเท่านั้น ลวดลายของลายไทยมหึมาที่ล้อมกรอบวงกลมนั้น ไม่ได้เกิดจากฝีแปรง แต่เป็นการตัดกระดาษปกนิตยสารมาต่อกันเป็นลวดลายหลากสี ฉะนั้น ในลายจึงมีภาพอยู่ด้วยซึ่งสะท้อนชีวิตจริงของผู้คนหลากหลายที่เข้ามาร่วมกันสร้างลวดลายล้อมวงกลมเล็กตรงกลาง

ศิลปินคือคุณจิตติมา หลักบุญ ชี้ให้ดู “ดอก” ประจำยามซึ่งกระจายอยู่ทั่วผืนผ้าว่า คือดอกไม้ที่นำมาจากลายประจำยาม ดังนั้น จึงเป็นดอกไม้ที่ไม่มีอยู่จริงในโลก…เท่านั้นเอง จบ ในขณะที่ผู้ชมยืนตะลึงอยู่นาน

ผมควรเตือนไว้ด้วยว่า สารที่ผม “อ่าน” ได้กับสารที่ศิลปินตั้งใจสื่อผ่านงานศิลปะของตนนั้นอาจไม่ตรงกัน เพราะไม่มีใคร “อ่าน” อะไรในโลกนี้โดยไม่มีตัวเขาอยู่ในนั้นได้ และนี่คืออำนาจของศิลปะ ที่ทำให้เราค้นพบคนอื่นและตัวเราเองไปพร้อมกัน

เรื่องนี้นำเรามาสู่ประเด็นปัญหาอันหนึ่งคือ ศิลปินพึงสื่อสารงานของเขาผ่านภาษาคำพูดหรือไม่

นักวิจารณ์ศิลปะผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งของไทยเคยกล่าวว่า จะเป็นศิลปินดังในเมืองไทยต้องพูดเก่งด้วย เท่าที่สังเกตดู ก็มีความจริงอยู่มากทีเดียว

แต่ข้อสังเกตนี้มีความหมายว่าอย่างไรกันแน่ผมไม่ค่อยทราบชัดนัก หากหมายความว่างานศิลปะของศิลปินไทยเป็นสินค้าที่ต้องการโฆษณามากอยู่ นั่นก็อาจจะจริงในศิลปินบางคน และผมออกจะสงสัยว่าแม้ศิลปินในประเทศอื่นก็คงมีนักโฆษณาในร่างของศิลปินปนเปอยู่ด้วยทั้งนั้น แต่ถ้าหากหมายถึงว่าศิลปินไทยไม่สามารถสื่อสารที่ตนต้องการผ่านงานศิลปะได้ หากไม่มีภาษาคำพูดช่วยส่งผ่าน ข้อนี้คงมีปัญหาที่ต้องจำแนกให้ดี

ศิลปะประเพณีที่เห็นได้ตามฝาผนังโบสถ์วิหารอาจสื่อความหมายได้ แม้ศิลปินผู้สร้างตายไปแล้ว แต่ทั้งนี้ก็เพราะสารของศิลปะประเพณีมีความหมายได้เพราะเนื้อหาของมันเป็นไปตามประเพณีที่รู้กันอยู่แล้ว ใครเห็นภาพมหาชาติบนฝาผนัง ก็รู้ว่าศิลปินต้องการสื่ออะไร รับความหมายได้ลงไปจนถึงรายละเอียดของภาพด้วยซ้ำ จะว่าไม่ต้องใช้ภาษาที่ไม่เป็นคำเลยก็ไม่ได้ เพราะที่จริงนิทานของมหาชาติถูกเล่า-อ่านกันมาอย่างแพร่หลาย ซ้ำยังมีเทศน์ทุกปีอีกด้วย ศิลปะตามประเพณีซึ่งดูเหมือนไม่ส่งเสียงอะไรนั้น ที่จริงแล้วอาศัยภาษาที่เป็นคำพูดหนาเป็นปึกๆ เพื่อบอกสารของตนจนดังลั่นทั้งนั้น

ศิลปะสมัยใหม่ที่อ้างความเป็นปัจเจกอย่างสุดโต่งของศิลปินต่างหาก ที่จำเป็นต้องใช้ภาษาคำพูดมาช่วยสื่อความ เพราะไม่บอกอะไรเลยก็ยากที่คนอื่นจะรับรู้สารที่ส่งออกมาได้ ในโลกตะวันตก แม้ศิลปินไม่พูดอะไรเลย แต่มีนักวิจารณ์จำนวนมากสื่อความหมายนานาชนิด (ซึ่งจะตรงกับสารของศิลปินหรือไม่ก็ไม่ทราบ) ออกมาประกอบงานศิลปะนั้น ซ้ำบทวิจารณ์นั้นก็ถูกเผยแพร่ให้เป็นที่รู้ทั่วกันในหมู่คนที่สนใจด้วย

ในเมืองไทย ผมยังนึกถึงนิตยสารหรือวารสารที่มุ่งวิจารณ์งานศิลปะไม่ออกเลยสักฉบับ ถึงอาจมีใครเคยทำวารสารประเภทนั้นวางตลาด ก็คงเจ๊งในเวลาอันรวดเร็วไปแล้ว ดังนั้น จะให้ศิลปินไทยไว้ผมยาวตีหน้าซึมอยู่ข้างภาพโดยไม่พูดอะไรสักคำได้อย่างไร (และที่จริงผมยาวและการแต่งกายเซอร์ๆ นั้นก็เป็นสารที่ต้องการสื่อไปพร้อมกันด้วย)

เราทุกคนต่างมีชีวิตอยู่ในวงล้อมของระบบสัญญะนานาชนิด แต่ระบบสัญญะที่ใหญ่สุดและซึมเข้าไปในสำนึกของเราได้ลึกสุดคือภาษาที่ใช้คำ ผมออกจะสงสัยว่า แม้แต่สารที่สื่อผ่านอะไรที่ไม่ใช่ภาษาที่ใช้คำเลย เช่น ภาพเขียน, ดนตรี, สถาปัตยกรรม ฯลฯ ก็ยังผลิตคำขึ้นในใจเราโดยไม่รู้ตัว เช่น เพลงบางเพลงฟังแล้วอาจเกิดคำว่า “เหงาว่ะ” ขึ้นในใจเรา คำ “เหงาว่ะ” ไม่ได้เป็นแค่คำบรรยายอารมณ์ความรู้สึกในช่วงขณะหนึ่ง แต่มันเป็นหลักให้เราเกาะเกี่ยวอารมณ์ไปสู่ท่วงทำนองและการประกอบเสียงในท่อนอื่นของเพลงด้วย

อารมณ์ความรู้สึก จึงอาจไม่ต่างจากความคิด คือตั้งอยู่บนฐานของภาษาที่ใช้คำ ส่วนสี, แสง, เสียง, มวลรูป, เงา, จังหวะ ฯลฯ ก็ส่งสารได้แน่ แต่เท่านี้ไม่พอที่จะทำให้เกิดความสะเทือนอารมณ์อย่างลึกซึ้ง จนกว่าภาษาที่ใช้คำจะกระพือมันให้สั่นสะเทือนในใจเรา

ด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงอยากแนะนำว่า ใครก็ตามที่จะไปชมนิทรรศการศิลปะครั้งนี้ ควรให้เวลาแก่ตนเองอย่างพอเพียง เพราะแต่ละงานศิลปะที่จัดแสดง อาจไม่มีศิลปินยืนคอยตอบคำถามแก่ผู้ชมเหมือนเมื่อวันเปิดงาน ค่อยๆ อ่านและทำความเข้าใจข้อความสั้นๆ ในสูจิบัตร แล้วเพ่งพินิจงานศิลปะทั้งในภาพกว้างเพื่อเห็นองค์ประกอบและในรายละเอียด ปล่อยใจและสมองของตนให้ล่องลอยไปตาม “เนื้อหา” ของงาน ซึ่งได้บอกไว้แล้วในสูจิบัตร ท่านอาจได้เห็นและรู้สึกอะไรอีกมาก ทั้งที่ศิลปินตั้งใจและไม่ตั้งใจจะสื่อ