“จากชาวนาสู่ผู้ประกอบการ” อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ทลาย “มายาคติชนบท” แบบดั้งเดิม

AFP PHOTO / MUHAMMAD SABRI

โดย เชตวัน เตือประโคน

 

มายาคติเกี่ยวกับคนชนบท ซึ่งเรามักได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆ นั่นคือ “โง่ จน เจ็บ”

และเมื่อเข้าสู่เรื่องการเมือง เกี่ยวกับการเลือกตั้งตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตย ก็จะมีอีกชุดหนึ่งอย่าง “รับเงิน ขายเสียง โดนหลอก”

เป็นภาพของคนชนบทที่คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะชนชั้นกลางในเมืองมอง

เช่นเดียวกับคำว่า “พื้นที่ชนบท” ได้ยินเมื่อไหร่เหมือนจะนึกเห็นภาพทุ่งนา ป่าเขาลำเนาไพร ผู้คนใช้ชีวิตอยู่ในภาคการเกษตรแบบดั้งเดิม เช้าไปทำนา เย็นกลับมาบ้านอยู่กันพร้อมหน้าครอบครัว เป็นต้น

ทั้งที่ความจริง “ชนบท” เปลี่ยนไปมากแล้ว

อาชีพเกษตรแบบดั้งเดิมที่หลายคนคิด หรือเคยเห็นจากละครหลังข่าวที่เล่าเรื่องราวของบ้านทุ่งนั้น ในวันนี้หาเป็นเช่นนั้นไม่

การทำไร่ ทำนา อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพียงงานอดิเรก ปัจจุบัน ผู้คนในชนบทได้กลายมาเป็นผู้ประกอบการ รู้จักจัดสรรผลประโยชน์ตัวเอง ผ่านการรวมกลุ่ม การเสนอนโยบาย และการเลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่

ลืมภาพชนบทแบบเก่าๆ ไปให้หมด

ลองมาทำความรู้จักชาวไร่ชาวนาแบบใหม่ในผลงานวิจัยของ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และคณะ ในหนังสือซึ่งมีชื่อเล่มว่า “ลืมตาอ้าปาก จากชาวนาสู่ผู้ประกอบการ”

ผลงานเล่มใหม่จากสำนักพิมพ์มติชน

ออกไปดู “ชนบท” ที่เป็นจริง
เพื่อการพัฒนาถูกทิศทาง

“ลืมตาอ้าปาก จากชาวนา สู่ผู้ประกอบ” เป็นบทสรุปจากโครงการวิจัยเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง “ชนบท” ในสังคมไทย : ประชาธิปไตยบนความเคลื่อนไหว (Changes in Thai Rural Society : Democracy on the move)”

ได้รับทุนสนับสนุนการทำวิจัยจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว.

การศึกษาเรื่องนี้มาจากความวิตกกังวล ต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตลอดระยะเวลากว่าทศวรรษที่ดำรงอยู่

คณะผู้วิจัยเห็นตรงกันว่า ต้นตอหรือปมปัญหานั้น อยู่ลึกลงไปกว่าปรากฏการณ์ที่เห็นและอธิบายกันโดยทั่วไป

ไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเฉพาะ “ชนบท”

“และความไม่เข้าใจนี้เกี่ยวโยงอย่างลึกซึ้งกับชุดความคิดที่สร้างความหมาย “ความเป็นชนบท” และถูกฝัง (embedded) ไว้ในระบบอารมณ์ความรู้สึกของสังคมไทยอย่างตราตรึง จนทำให้เกิดความไม่รู้ หรือรู้ไม่เท่าทันความเปลี่ยนแปลงในชนบท”

อรรถจักร์จึงชักชวนเพื่อนนักวิชาการร่วมกันศึกษาพื้นที่ชนบท 6 จังหวัดในภูมิภาคทั่วประเทศ ให้ครอบคลุมหรือเป็นตัวแทนความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดในพื้นที่นั้นๆ

“ความพยายามของพวกเราในฐานะนักวิชาการ ก็เพียงต้องการให้คนในสังคมมองเห็น “ความจริง” อีกมิติหนึ่ง อันอาจจะทำให้เกิดการยับยั้งชั่งใจ ไม่เชื่ออะไรอย่างไม่ลืมหูลืมตา และก็หวังใจว่า จะส่งผลให้เกิดการทบทวนการตัดสินใจเรื่องต่างๆ เสียใหม่”

หรืออาจเรียกให้เท่ๆ ว่า เป็นกระบวนการ “คืนการตัดสินใจ” ให้สังคม ซึ่งต้องทำใน 2 ด้าน

หนึ่ง กระตุกเตือนผู้คนให้ทบทวนความเชื่อที่มีต่อความรู้

อีกหนึ่ง เสนอให้มีการพิจารณาภาพความเข้าใจชุดนั้นใหม่

จึงไม่น่าแปลกใจที่ “คำนำ” ซึ่งอรรถจักร์เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ จะมีชื่อเท่ๆ ว่า “หากจะคิดฝันถึงวันพรุ่งนี้”

เพราะหากไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงชนบทในวันนี้ ก็คงจะฝันถึงวันพรุ่งนี้ที่ไม่ขัดแย้งได้ยากเต็มที

นั่นเป็นเพราะ…

“การที่สังคมขาดความเข้าใจเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในชนบท และขาดความเข้าในศักยภาพทางการเมืองของคนชนบท ทำให้นโยบายและโครงการต่างๆ เกี่ยวกับชนบททั้งในระดับชาติและท้องถิ่นส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นการช่วยเหลือจากบนลงล่าง แทนที่จะยอมให้ชนบทได้ส่วนแบ่งอำนาจ

“เพื่อให้คนชนบทมีโอกาสและมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร”

AFP PHOTO/Christophe ARCHAMBAULT

สร้างชนบทที่เข้มแข็ง
สร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง

หนังสือเล่มนี้นำเสนอ ลักษณะโครงสร้าง ความเปลี่ยนแปลง เครือข่าย ความสัมพันธ์ อารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนข้อค้นพบเกี่ยวกับชนบทปัจจุบันไว้ใน 4 บทที่ฉายให้เห็นภาพชนบทปัจจุบัน และอีกหนึ่งบทสรุป ที่เป็น “ข้อค้นพบ” และสิ่งที่อยาก “นำเสนอ”

นั่นก็เพื่อจะ “คิดฝันถึงวันพรุ่งนี้” ได้ชัดขึ้น จับมือกันเดินไปอย่างถูกทิศทาง

โดยก่อนอื่น ชวนทำความเข้าใจว่า อดีตอันงดงามอย่าง “ความเป็นไทยความเป็นชนบท” นั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว

สารคดีเกี่ยวกับชนบทที่ถูกผลิตซ้ำถึง “จินตนาการที่แสนงดงาม” ซึ่งคนชนชั้นกลางในเมืองได้ดูอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ที่ต่อเนื่องมากว่า 2 ทศวรรษ ทำให้คนชนบทไม่ใช่เพียงชาวไร่ชาวนา

แต่พวกเขาได้กลายมาเป็น “ผู้ประกอบการ” ในหลายระดับ ทั้งผู้ผลิต แรงงาน เจ้าของโรงงาน พ่อค้าคนกลาง หาบเร่แผงลอย ฯลฯ

ลองไปดูภูมิภาคไหนก็ได้ การทำนาทำไร่ไม่ใช่เป็นการ “ลงแขก” หรือ “ขอแรง” อย่างที่รับรู้ แต่มีเครื่องจักร มีแรงงาน มีการซื้อขายแลกเปลี่ยน มีการผนึกรวมเป็นกลุ่มเป็นก้อน มีการต่อรองผลประโยชน์ในทางธุรกิจอย่างชัดเจน

พวกเขากลายเป็นผู้ที่ต้อง “แบกรับความเสี่ยง” และคิดถึงเรื่อง “กำไร/ขาดทุน”

ไม่ได้ “พออยู่พอกิน” ดังเก่าก่อน

เกิดการสร้างเครือข่ายแบบใหม่ ที่ไม่ใช่ระบบผู้อุปถัมภ์กับผู้ใต้อุปถัมภ์

เครือข่ายแบบใหม่ที่ใช้ “ประกันความเสี่ยงของตัวเอง” ซึ่งในงานวิจัยชุดนี้พบว่าอย่างน้อยมีอยู่ 3 มิติ

1. ระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน คือ คนในชุมชนที่มีส่วนร่วมในกระบวนการผลิต

2. กับกลไกอำนาจรัฐทั้งในระดับท้องถิ่น/ท้องที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

3. ในระดับสังคมที่สัมพันธ์กันผ่านเครื่องมือสื่อสาร

คณะวิจัยได้ค้นพบว่า ด้วยเครือข่ายแบบใหม่นี้เองที่นำไปสู่การตัดสินใจทางการเมืองเอง “อย่างมีเหตุผล” บนพื้นฐานความรู้สึกนึกคิดใหม่ที่เน้นผลประโยชน์ที่ตนจะได้รับ

เพราะฉะนั้น วาทกรรม “ชาวบ้านโง่” หรือ “รับเงิน ขายเสียง โดนหลอก” จึงเป็นเพียง “เครื่องมือ” ที่ใช้ทำลายความชอบธรรมทางการเมืองของอีกฝ่ายการเมืองเท่านั้น

ทั้งที่โดยข้อค้นพบแล้ว นี่คือ “ประชาธิปไตยจากข้างล่าง”

ซึ่งถ้าหากเข้าใจ สนับสนุน ส่งเสริม ก็จะเป็นดังบทสรุปว่า…

“สังคมผู้ประกอบการในชนบท จะส่งผลต่อความเจริญทางเศรษฐกิจของชุมชนโดยรวม ดังนั้น หากสร้าง “ประชาธิปไตยพื้นฐาน” ให้เข้มแข็งเพื่อหวังผลต่อเศรษฐกิจก็จำเป็นต้องคิดถึงกระบวนการผ่องถ่ายทรัพยากรส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการด้วย”

เข้าใจและทำดังนี้ได้ เราอาจจะไม่ถอยหลังลงคลอง

ล้มกระบวนการประชาธิปไตยอยู่ร่ำไป